ศรีสะเกษ - ชาวบ้านภูมิซรอลเหยื่อจรวด BM 21 เขมรถล่มไฟไหม้บ้านวอดทั้งหลังผวาสงครามไทย-เขมร กรณีศาลโลกตัดสินคดีปราสาทพระวิหาร 11 พ.ย.นี้ ขณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไทยคงใช้พารามอเตอร์บินสำรวจความเคลื่อนไหวตามแนวชายแดนไทย-เขมร ด้านเขาพระวิหาร
วันนี้ (24 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านภูมิซรอล ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เขาพระวิหาร ชายแดนไทย-กัมพูชา ชาวบ้านภูมิซรอลต่างพากันประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัวตามปกติ แต่ต่างมีความกังวลกรณีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลกจะพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารในวันที่ 11 พ.ย.นี้ ขณะที่ทหารไทยส่วนหนึ่งได้พากันมาหาซื้ออาหารเพื่อนำเอาไปเป็นเสบียงในช่วงปฏิบัติหน้าที่รอบบริเวณเขาพระวิหาร
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้ใช้พารามอเตอร์บินสำรวจดูสถานการณ์ความเคลื่อนไหวและป้องกันเหตุร้ายเหตุผิดปกติตามบริเวณหมู่บ้านตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย
นางสัมฤทธิ์ แก้วสง่า อายุ 46 ปี อยู่บ้านเลขที่ 288 ม.13 บ้านภูมิซรอล ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งบ้านเรือนถูกจรวดบีเอ็ม 21 ของทหารฝ่ายกัมพูชายิงถล่มทำให้ไฟไหม้บ้านเสียหายทั้งหลังระหว่างปะทะกับทหารไทยอย่างรุนแรงเมื่อช่วงต้นปี 2554 ผ่านมา กล่าวว่า กรณีที่ศาลโลกจะพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารในวันที่ 11 พ.ย.นี้นั้น ตนมีความหวาดกลัวว่าจะเกิดสงครามขึ้นมาอีกที่บริเวณเขาพระวิหารและตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา เนื่องจากบ้านเรือนของตนและญาติพี่น้องที่ถูกทหารกัมพูชายิงจรวดถล่มและไฟไหม้เมื่อปี 2554 ยังเป็นภาพติดตาอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ เพราะบ้านเรือนและทรัพย์สินที่หามาตลอดชีวิตต้องถูกไฟไหม้ไปจนหมดสิ้นทำให้ต้องอยู่ในสภาพสิ้นเนื้อประดาตัว แต่โชคดีที่ทางราชการ นำโดย นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามาช่วยเหลือสร้างบ้านหลังใหม่ทดแทนให้
นางสัมฤทธิ์กล่าวต่อว่า สงครามคราวนั้นบ้านเรือนของตนและชาวบ้านคนอื่นๆ ถูกจรวดของทหารกัมพูชายิงตกใส่และเกิดไฟไหม้เสียหายจำนวนทั้งสิ้น 7 หลัง ทำให้ครอบครัวของตนบ้านแตกสาแหรกขาด ลูกสาวที่กำลังเรียนระดับมหาวิทยาลัยต้องหยุดเรียนเพราะไม่มีเงินส่งเสียให้ลูกเรียนหนังสือ ฉะนั้นจึงอยากให้การพิพากษาของศาลโลกออกมาในลักษณะที่ไม่ให้ทั้ง 2 ฝ่าย คือทั้งไทย และกัมพูชาเสียประโยชน์ เพื่อที่ประชาชนชาวไทยและชาวกัมพูชาจะได้ทำมาหากินกันตามปกติเช่นเดิม และเกิดสันติสุขตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ประชาชนทั้ง 2 ฝ่ายจะได้ไม่ต้องหวาดผวาภัยสงครามที่บริเวณเขาพระวิหารกันอีกต่อไป