xs
xsm
sm
md
lg

อพท.เสวนา LOW CARBON แล้วเกาะหมากได้อะไร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตราด-อพท.จัดนิทรรศการเปิดโลกพลังงานทางเลือกบนเกาะหมาก พร้อมเสวนาทำ LOW CARBON แล้วได้อะไร

น.ส.เบญจวรรณ อ่านเปรื่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ได้เดินทางไปยังพื้นที่ ต.เกาะหมาก เพื่อเป็นประธานในพิธีเปิดการจัดนิทรรศการเปิดโลกพลังงานทางเลือก บนเกาะหมาก พร้อมจัดเวทีเสวนา ทำ LOW CARBON แล้วได้อะไร โดยมี พลตรีหญิงจรัสพิมพ์ ธีรลักษณ์ ผู้จัดการพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง (สพพ.1) เข้าร่วม

โครงการดังกล่าวนี้ทาง อพท.ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้ร่วมมือกันจัดขึ้นที่บริเวณสนามด้านหน้า ศูนย์เอื้ออาทรผู้สูงอายุ ของ อบต.เกาะหมาก อ.เกาะกูด จ.ตราด โดยมีนายสิทธิศักดิ์ วงษ์ศิริ นายก อบต.เกาะหมาก นายสุทธิวงศ์ จันทสูตร กำนัน ต.เกาะหมาก นายจักรพรรดิ์ ตะเวทีกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.ตราด ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ประชาชนชาวเกาะหมาก จำนวนมากคอยให้การต้อนรับ

นายสิทธิศักดิ์ กล่าวว่า ตามที่ทาง อพท.ได้มีการลงพื้นที่ พร้อมกับได้จัดพิธีลงนาม “ปฏิญญาเกาะหมาก” ระหว่าง อพท. กับตัวแทนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนของเกาะหมาก จำนวนกว่า 40 ราย โดยมีข้อตกลงร่วมกันเพื่อร่วมกันรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยคาร์บอนอันเกิดจากการท่องเที่ยว ในการเสวนา เรื่อง “ทำไมต้องโลว์คาร์บอน” เพราะเห็นว่าเป็นเกาะขนาดไม่ใหญ่มีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ มีประวัติศาสตร์ เป็นมรดกสืบทอดมาครั้งรัชกาลที่ 5 ที่สำคัญมีชุมชนเข้มแข็ง และภาคีเครือข่ายพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ และชาวบ้านยังมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมอยู่มาก

อพท. ได้เข้ามาสนับสนุนด้วยการสร้างความเข้าใจ และมีกิจกรรมการสร้างองค์ความรู้ และการนำไปใช้ประโยชน์ให้ชุมชนมีส่วนร่วม และเห็นคุณค่า เช่น การคัดแยกขยะ การใช้โซลาร์เซลล์เป็นพลังงานทดแทน การทำเมนูอาหารพื้นบ้าน ที่นำการใช้แผงโซลาร์เซลล์มาสอนให้ชาวบ้าน และสถานประกอบการ รู้จัก และนำไปใช้ซึ่งมีการติดตั้งใช้ได้แล้วที่วัดเกาะหมาก นำร่องที่บ้านของ รองนายก อบต. เกาะหมาก ทำให้ประหยัดไฟฟ้าได้ถึงเดือนละกว่า 1,000 บาท

นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่เกาะหมากรีสอร์ต ร้านอาหารเกาะหมากซีฟูด ส่วนชาวบ้านช่วยลดโลกร้อนโดยการนำแบตเตอรี่เก่ามาผลิตไฟฉายแทนการทิ้งเป็นขยะ ซึ่งหากพร้อมใจกันทำ ในอนาคตจะลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าบนเกาะหมากได้มาก ปัจจุบันที่ได้เริ่มเห็นความร่วมมือเป็นรูปธรรมก็คือ มีสถานประกอบการ และชาวบ้านได้ติดตั้งใช้แผงโซลาร์เซลล์กันมากขึ้น และมีการใช้จักรยานเพิ่มมากขึ้นจากปีก่อนที่เคยมีจักรยานประมาณ 40 คัน ตอนนี้มีกว่า 200 คันแล้ว

น.ส.เบญจวรรณ ได้กล่าวถึงเหตุผลความจำเป็นที่หลายฝ่ายทั้งภาครัฐ และเอกชนบนเกาะหมาก ต้องหันมาร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมาย เป็นต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวโลว์คาร์บอน เพราะเกาะหมากเป็นอีกเกาะหนึ่งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีความสำคัญกับ จ.ตราด เพราะมีความสมบูรณ์ของธรรมชาติ ตามวิสัยทัศน์ของจังหวัด “ตราดเมืองน่าอยู่ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทรัพยากรธรรมชาติยั่งยืน สินค้าเกษตรคุณภาพ ท่องเที่ยวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับนานาชาติ” และกำหนดนโยบายพัฒนา จ.ตราด เป็น “GREEN CITY”

เส้นทางสู่โลว์คาร์บอน จะต้องสร้างความประทับใจให้เกิดขึ้นด้วย ไม่ใช่เฉพาะตัวเกาะหมาก สอดคล้องกับความเป็นโลว์คาร์บอนเดสติเนชัน หวังว่า เกาะหมาก จะเป็นต้นแบบของโลว์คาร์บอน และขยายผลไปชุมชนอื่นๆ อีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น