xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ชัดชุมชนช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สสส.หนุนชุมชนจัดการตนเอง เผย 3 ปี ครอบคลุม 1,271 หมู่บ้าน 58 จังหวัดทั่วประเทศ เน้น 3 บันไดสู่ความสำเร็จ “ปรับวิธีคิด-เสริมกระบวนการทำงาน- สร้างโอกาสให้ชุมชน” ภาคใต้โดดเด่น สร้างนวัตกรรม เชื่อมโยงภาคี ไม่พึ่งงบภาครัฐ

วันนี้ (28 ก.ย.) ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา สถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดงานสร้างสุขภาคใต้ “ร่วมขับเคลื่อนชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่สู่วิถีการจัดการตนเอง” นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส. กล่าวว่า การสร้างชุมชนน่าอยู่ เป็นหลักคิดสำคัญของการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นให้เข้มแข็ง น่าอยู่ ปลอดภัย พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ทั้งด้านสังคม การศึกษา สุขภาพ วัฒนธรรม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนได้ สสส. ดำเนินโครงการร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบันมี 1,351 โครงการ ครอบคลุม 1,271 หมู่บ้าน ของ 58 จังหวัดทั่วประเทศ เน้นส่งเสริมการรวมกลุ่มของชุมชนด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างนวัตกรรมสอดคล้องวิถีชีวิต ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพและสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพคนในชุมชน เช่น ลดการบริโภคยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดปริมาณขยะในชุมชน ลดการใช้สารเคมี/ส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ ลดการใช้พลังงาน เป็นต้น

นพ.บัญชา พงษ์พานิช กรรมการบริหารแผนคณะ 6 สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันความเปลี่ยนแปลงทุกด้าน ทั้งสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และมิติที่เกี่ยวกับชีวิต จิตใจ ความรู้ ความเห็น ความคิดอ่านในการดำเนินการ พัฒนา บริหารจัดการต่างๆ ล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลต่อประชาชนทุกระดับ การจะทำให้ชุมชนอยู่อย่างมีความสุขในกระแสความเปลี่ยนแปลง มี 3 สิ่งสำคัญ คือ 1.การปรับวิธีคิด ว่าด้วยชีวิต ชุมชน ท้องถิ่น และความอยู่เย็นเป็นสุข ต้องเป็นความสุขที่เกิดแบบรวมหมู่ ของหมู่คณะ มิใช่ของใครของมัน 2.การเสริมกระบวนการทำงานแบบหมู่คณะ ของชุมชน ท้องถิ่น ให้มีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางและจริงจัง ไม่ใช่การรวมกลุ่มเพียงเฉพาะหน้า หรือแบ่งสรรจัดหาประโยชน์ และ 3.ภาครัฐจะต้องปรับบทบาท กระจายอำนาจให้เกิดการหนุน และเสริมสร้างศักยภาพ บทบาท สร้างโอกาสให้แก่ชุมชน

“ความโดดเด่นของชุมชนท้องถิ่นภาคใต้ มีจุดเด่น โดยเฉพาะความสามารถในการพึ่งตนเองทางงบประมาณได้ ความสามารถในการริเริ่มคิดค้นขับเคลื่อนนวัตกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงความเชื่อมโยงเป็นขบวนภาคีเครือข่าย ในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ซึ่งถือเป็นความท้าทายของชุมชนท้องถิ่นอื่นๆ ในการดำเนินงานและขับเคลื่อนเครือข่ายในแบบใหม่ที่ไม่ใช่การรวมศูนย์ในแนวตั้ง” นพ.บัญชา กล่าว

ด้าน นายถาวร คงศรี หัวหน้าโครงการสวนผักชุมชนคนหูยาน บ้านน่าอยู่ สู่สุขภาวะ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ต.นาท้วม คือ สร้างการมีส่วนร่วม และใช้กิจกรรมมาต่อยอดกระตุ้นให้เกิดการสร้างกิจกรรม ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ที่เปิดให้ชุมชนมีส่วนร่วมนั้น จะเป็นส่วนเชื่อมโยงคนในชุมชนแต่ละส่วนให้เกิดการทำงานร่วมกัน เช่น กิจกรรมจักรยานวันอาทิตย์ ที่ให้ครอบครัวได้ทำกิจกรรมร่วมกันและเชื่อมต่อไปยังส่วนอื่นๆของสังคม ด้วยการเยี่ยมบ้านผู้นำด้านต่างๆ หรือการสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการเก็บขยะ รีไซเคิล คัดแยกขยะ นอกจากได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ยังสร้างรายได้ให้คนในชุมชนด้วย อีกทั้งยังกระตุ้นความคิดให้คนในชุมชนริเริ่มสร้างกิจกรรมเองได้ ผลที่กลับมาคือ ทำให้ชุมชนมีความสุขเพิ่มขึ้น และเกิดเป็นสังคมที่น่าอยู่ตามมา


กำลังโหลดความคิดเห็น