xs
xsm
sm
md
lg

พบคนเชียงรายครึ่งแสนไร้เอกสารสิทธิทำกินในป่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - พบคนเชียงรายทำกินในที่ป่าไร้เอกสารสิทธิกว่าครึ่งแสน เหตุป่าไม้ไร้งบสำรวจพิสูจน์สิทธิก่อนออก สทก.อืด

รายงานข่าวจากจังหวัดเชียงราย แจ้งว่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 (เชียงราย) ส่วนจัดการที่ดินป่าไม้ ได้จัดให้มีการลงทะเบียน และจดแจ้งที่ดินทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และวนอุทยานในป่าน้ำพุง ป่าสักลอ ป่าน้ำจุน ปาแม่ปลืม และป่าแม่ลอยไร่ ณ อาคารอเนกประสงค์ อ.ป่าแดด เมื่อวานนี้ (10 ต.ค.)

ซึ่งมีเกษตรกรจาก อ.เทิง อ.ขุนตาล อ.เชียงของ จ.เชียงราย และจาก อ.ภูซาง อ.เชียงคำ และ อ.จุน จ.พะเยา ประมาณ 500 คน นำโดยนายชัยธวัช สิทธิสม ประธานเครือข่ายเกษตรกร จ.เชียงราย-พะเยา นายเรืองเดช ประดิพัทสกุล รองประธานเครือข่ายฯ นำชาวบ้านไปลงทะเบียนขอรับพิจารณาออกเป็นเอกสารสิทธิที่ดินทำกิน หรือหนังสืออนุญาต หรือ สทก.

นายเจษฎา เงินทอง ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 (เชียงราย) ส่วนจัดการที่ดินป่าไม้ กล่าวว่า การให้ใบรับรอง สทก.ของกรมป่าไม้ ดำเนินการตามมติคระรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ส.ค.2522 โดยเริ่มมอบ สทก.ครั้งแรกเมื่อปี 2525 แต่กว่า 30 ปีมานี้ สามารถมอบใบรับรอง สทก.ให้แก่ราษฎรได้เพียง 4,289 ราย เนื้อที่ 29,800 ไร่เท่านั้น เพราะขาดแคลนงบประมาณในการออกสำรวจ

ซึ่งการขอหนังสือ สทก.มีอยู่ 4 ขั้นตอนได้แก่ การทำประชาพิจารณ์ตามความต้องการของชาวบ้าน การพิสูจน์สิทธิในที่ทำกิน การทำรังวัด และการออกหนังสือ สทก. ซึ่งที่ผ่านมา ความล่าช้าจะเกิดขึ้นในขั้นตอนที่ 2 คือ การพิสูจน์สิทธิในที่ดินทำกินที่ต้องใช้งบประมาณในการสำรวจและพิสูจน์สิทธิ

“แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้สิทธิ เพราะต้องเข้าตามหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาตให้มีสิทธิทำกิน เช่น พื้นที่ดังกล่าวจะต้องเป็นป่าสงวนแห่งชาติที่มีลักษณะเป็นป่าเสื่อมโทรมที่กรมป่าไม้ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาสำรวจพิสูจน์แล้ว เป็นพื้นที่ที่ได้ทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยอยู่แล้ว ไม่อยู่ในพื้นที่ป่าที่มีสภาพเป็นต้นน้ำลำธาร ภูเขาสูงชัน หรือมีสภาพที่ควรรักษาไว้ ไม่เป็นป่าชายเลน ไม่เป็นพื้นที่ป่าที่ในการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการป่าไม้ ไม่เป็นบริเวณที่มีทิวทัศน์สวยงามอันควรรักษาไว้ ไม่เป็นพื้นที่ซึ่งได้ทำการปลูกสร้างสวนป่า หรือได้รับอนุมัติโครงการสำหรับปลูกป่าระยะ 5 ปีไว้แล้ว”

ส่วนคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตมีสิทธิทำกิน ต้องเป็นบุคคลธรรมดา ไม่ใช่นิติบุคคล เป็นหัวหน้าครอบครัวที่บรรลุนิติภาวะแล้ว และเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในพื้นที่ที่ขอมีสิทธิทำกินอยู่แล้ว เป็นต้น

ด้านนายเรืองเดช กล่าวว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรในเชียงรายอยู่อาศัย และทำกินในที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ประมาณ 50,000 ราย เนื้อที่ 300,000 ไร่ แต่การที่จะไปของบประมาณจาก อปท.มาสนับสนุนเป็นค่าใช้จ่ายในการพิสูจน์สิทธิคงยาก เพราะหน่วยงานท้องถิ่นมีงบประมาณจำนวนจำกัด ดังนั้น เพื่อความรวดเร็วในการดำเนินการพิสูจน์สิทธิชาวบ้านจึงลงมติร่วมกันว่า จะรวบรวมเงิน และนำไปมอบให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่เพื่อของบประมาณ และให้กรมป่าไม้สามารถเข้าไปดำเนินการได้ต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น