xs
xsm
sm
md
lg

น้ำอ่างทองลด แต่ ปชช.ยังเดือดร้อนหนัก ชาวกรุงเก่าครวญน้ำเน่าเหม็น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อ่างทอง/พระนครศรีอยุธยา - ระดับน้ำอ่างทองลดลงต่อเนื่อง หลังเขื่อนเจ้าพระยาลดการระบาย แต่ยังคงมีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก ส่วนชาวบ้านในพระนครศรีอยุธยา โอดครวญน้ำท่วมเน่าเหม็นรุนแรง วอนหน่วยงานเกี่ยวข้องจัดหาลูกบอลจุลินทรีย์ปรับสภาพน้ำ ปภ.เผย 29 จังหวัดยังถูกน้ำท่วม เสียชีวิต 37 ราย สั่งช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างใกล้ชิด

วันนี้ (10 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการน้ำเจ้าพระยาในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง ว่า หลายพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมระดับน้ำได้ลดลงอย่างต่อเนื่องแล้ว หลังจากทางเขื่อนเจ้าพระยา ได้มีการลดการระบายน้ำลง แต่ยังคงมีประชาชนได้รับผลกระทบอีกจำนวนมากกว่า 1,400 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรพืชสวนไร่นากว่า 22,000 ไร่

ด้านสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่ม จ.พระนครศรีอยุธยา ยังคงทรงตัว แต่พบว่าชาวบ้านในหลายตำบลของ อ.พระนครศรีอยุธยา ได้แก่ ต.หันตรา ต.ไผ่ลิง ต.คลองคะเคียน ต.สวนพริก และ ต.ลุมพลี เดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากน้ำท่วมขังในระดับกว่า 1 เมตร เริ่มเน่าเหม็นส่งกลิ่นรุนแรง

ชาวบ้าน ต.หันตรา รายหนึ่งร้องเรียนว่า ได้รับผลกระทบจากน้ำจากแม่น้ำป่าสักไหลเข้าคลองหันตราท่วมสูง ประกอบกับประตูน้ำข้าวเม่าที่อยู่ติดกัน ได้สูบน้ำฝนจำนวนมากออกจากคลองข้าวเม่าด้านใน ซึ่งเป็นชุมชนเมืองรอบนิคมอุตสาหกรรม และทางน้ำไหลจากอำเภออุทัย ออกมาที่ปากคลองติดชุมชนตำบลหันตรา ทำให้น้ำเน่าเหม็นอย่างรุนแรง และมีสีดำ

เช่นเดียวกับชาวบ้าน ต.สวนพริก ติดแม่น้ำลพบุรี พบปัญหาน้ำท่วมมีกลิ่นเหม็นอย่างรุนแรง อีกทั้งยังพบปัญหาหนักอีกชุมชนเช่นกันคือ ชาวบ้านในชุมชน ต.คลองสระบัว ซึ่งได้รับผลกระทบจากกระแสน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา ไหลเข้าท่วมขังในพื้นที่สูง 1.20 เมตร มาเป็นสัปดาห์ที่ 2 แล้ว แต่ด้วยความเป็นชุนชนขนาดใหญ่ รวมถึงแออัดจึงทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเหม็น

นายบุญทัน ศรีรุ้ง ชาวบ้าน ต.สวนพริก อีกคนกล่าวว่า ระดับน้ำเริ่มทรงตัวแล้ว แต่น้ำท่วมขังมีกลิ่นเน่าเหม็น และเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค รวมถึงเพาะลูกน้ำยุงลายที่มาของโรคไข้เลือดออก โรคตาแดง โรคน้ำกัดเท้า จึงต้องการให้ทางอำเภอ รวมถึง อบต.คลองสระบัว จัดหาลูกบอลจุลินทรีย์ หรือน้ำหมักชีวภาพมาปรับสภาพน้ำท่วมขังให้ลดความเน่าเหม็นลงกว่านี้

ทางด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2556 จนถึงปัจจุบัน มีพื้นที่ประสบภัยรวมทั้งสิ้น 41 เพิ่ม 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี และสมุทรปราการ 302 อำเภอ 1,849 ตำบล 14,700 หมู่บ้าน 1,027,348 ครัวเรือน 3,496,630 คน มีผู้เสียชีวิตรวม 37 ราย คลี่คลายแล้ว 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำปาง กำแพงเพชร อุทัยธานี นครราชสีมา กาฬสินธุ์ มุกดาหาร อำนาจเจริญ ชุมพร และประจวบคีรีขันธ์ ทั้งนี้ ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ 29 จังหวัด 166 อำเภอ 1,033 ตำบล 7,760 หมู่บ้าน 499,761 ครัวเรือน 1,792,519 คน อพยพ 3,686 ครัวเรือน 10,868 คน

ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทั้ง 18 ศูนย์เขต เตรียมพร้อมด้านเครื่องมือ เครื่องจักรกลกู้ภัย รถขุดไฮดรอลิก รถผลิตน้ำดื่ม เรือท้องแบน เครื่องสูบน้ำ ฯลฯ พร้อมเจ้าหน้าที่สนับสนุนพื้นที่ที่อาจมีสถานการณ์รุนแรง ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมสั่งการให้ผู้อำนวยการศูนย์ ปภ.เขต และ ปภ.จังหวัด รายงานสถานการณ์อุทกภัย การให้ความช่วยเหลือ และการประเมินสถานการณ์ทั้งภาพ และเสียงใน 3 ช่วงเวลา คือ 07.00 น. / 11.00 น. / 16.00 น. ทุกวันในห้วงที่มีสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ หากมีเหตุเร่งด่วนให้รายงานด้วยระบบโทรศัพท์ หรือระบบไลน์เพื่อรายงานต่อผู้บังคับบัญชาระดับสูง




กำลังโหลดความคิดเห็น