ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ปภ.เผยสระแก้ว-ปราจีนบุรี-ฉะเชิงเทรา น้ำยังท่วมรุนแรง นิคมอมตะยันปิดแค่ 2 โรง เหตุคนงานเข้ามาทำงานไม่ได้ ฟุ้งนักลงทุนมั่นใจ คาดอีก 5 วันน้ำลดหากฝนไม่ตก “ราชสาส์น-บางคล้า” ฉะเชิงเทรา น้ำท่วมเต็มทุ่ง หลายหมู่บ้านถูกตัดขาด หอการค้าศรีสะเกษ ระบุภาคเกษตรเสียหายแล้ว 800 ล้าน
วันนี้ (9 ต.ค.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานว่า ยังมีน้ำท่วมใน 27 จังหวัด 161 อำเภอ 1,012 ตำบล 7,775 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 486,122 ครัวเรือน 1,606,987 คน อพยพ 3,686 ครัวเรือน 10,868 คน จังหวัดที่น้ำท่วมระดับรุนแรง 3 จังหวัด ได้แก่ จ.สระแก้ว 9 อำเภอ 56 ตำบล 556 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 14,870 ครัวเรือน 37,175 คน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 1,500 ไร่ จ.ปราจีนบุรี 7 อำเภอ 64 ตำบล 593 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 47,682 ครัวเรือน 119,205 คน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 94,601 ไร่ และ จ.ฉะเชิงเทรา 6 อำเภอ 23 ตำบล 177 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 9,874 ครัวเรือน 29,622 คน พื้นที่การเกษตร 5,744 ไร่
ชลบุรีอ่วม 5 อำเภอ 8 พันครัวเดือดร้อน
จ.ชลบุรี น้ำยังท่วม 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมือง อ.พานทอง อ.พนัสนิคม อ.เกาะจันทร์ และ อ.บ่อทอง โดย อ.เมือง น้ำเอ่อท่วมถนน และบ้านเรือน ต.เสม็ด ต.ดอนหัวฬ่อ ต.หนองไม้แดง ต.คลองตำหรุ ต.อ่างศิลา ต.ห้วยกะปิ ต.เหมือง ส่วนอ.พานทอง น้ำท่วมถนน และบ้านเรือนในเขตเทศบาลตำบลพานทอง ต.หนองตำลึง ต.หนองกะขะ ต.พานทอง ต.หน้าประดู่ ต.มาบโป่ง ต.หนองหงษ์ ต.โคกขี้หนอน ต.เกาะลอย ต.บางนาง ราษฎรได้รับความเสียหาย 2,500 ครัวเรือน
อ.พนัสนิคม น้ำท่วมพื้นที่การเกษตร และบ้านเรือนในต.พนัสนิคม ต.หน้าพระธาตุ ต.วัดหลวง ต.บ้านเซิด ต.นาเริก ต.หมอนนาง ต.สระสี่เหลี่ยม ต.วัดโบสถ์ ต.กุฎโง้ง ต.หัวถนน ต.ท่าข้าม ต.หนองขยาด ต.ทุ่งขวาง ต.หนองเหียง ต.นาวังหิน ต.บ้านช้าง ต.โคกเพลาะ ต.ไร่หลักทอง ต.นามะตูม และท่วมผิวการจราจรถนนบ้านกลาง ต.หน้าพระธาตุ ถนนพนัส-หัวถนน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 5,413 ครัวเรือน
อ.บ่อทอง น้ำเอ่อท่วมถนน และบ้านเรือน ต.วัดสุวรรณ ต.พลวงทอง ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 120 ครัวเรือน อ.เกาะจันทร์ น้ำท่วมพื้นที่เกษตร และบ้านเรือน ต.ท่าบุญมี ต.เกาะจันทร์ ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 450 ครัวเรือน
ด้านชาวบ้าน อ.พานทอง กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมปีนี้รุนแรงกว่าปี 2554 และปี 2517 ซึ่งถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี เนื่องจาก อ.พานทอง เป็นพื้นที่ต่ำ รองรับน้ำทุกพื้นที่ไว้หมด ระบายลงคลองไม่ทันเพราะน้ำทะเลหนุน ประชาชนกว่า 2,500 ครัวเรือน กว่า 4,000 คน ยังต้องทนทุกข์เพราะน้ำท่วมขังสูง 50-120 เซนติเมตร และไม่มีท่าทีจะลดลง ถูกตัดขาดจากภายนอก ขาดน้ำ อาหาร ยารักษาโรค
ล่าสุด ชมรมออฟโรด ชลบุรี กว่า 20 คัน นำโดยนายอุกฤษณ์ ตั๊นสวัสดิ์ อดีต ส.ส.ชลบุรี นำถุงยังชีพ เครื่องดื่มชูกำลัง และน้ำดื่มกว่า 500 ชุด แยกย้ายกันไปแจกจ่ายให้ชาวบ้านถึงประตูบ้าน ท่ามกลางความดีใจของทุกฝ่าย
บิ๊กนิคมอมตะนครลั่นไม่มีผลกระทบ
ที่เฟส 7-9 นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ต.บ้านเก่า อ.พานทอง นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานฝ่ายการตลาด ของบริษัท อมตะคอร์ปเปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้เปิดทางกั้นน้ำเพื่อช่วยระบายน้ำท่วมขังใน อ.พานทอง และอ.พนัสนิคม ผ่านนิคมลงสู่คลองพานทอง ออกสู่อ่าวไทยด้านทะเลชลบุรี และแม่น้ำบางปะกง แต่ปริมาณน้ำมากเกินกว่าที่จะลงคลองพานทอง ทำให้เอ่อล้นมาในนิคมอุตสาหกรรมอมตะสูง 50-70 เซนติเมตร การจราจรติดขัดอย่างหนัก และกว่า 200 โรงได้รับผลกระทบ ขณะที่ นายวิบูลย์ ได้ให้เจ้าหน้าที่เร่งสูบน้ำตลอด 24 ชั่วโมง และนำทรายไปกองไว้ที่เฟส 8 เพื่อให้โรงงานกรอกใส่ถุงไปกั้นน้ำหน้าโรงงานตัวเอง
นายวิบูลย์ กล่าวว่า เฟส 7-9 มีน้ำท่วมสูง 10 เซนติเมตร ไม่มีผลกระทบต่อโรงงาน และน้ำเริ่มลดลง ทั้งนี้ โรงงานในเฟสดังกล่าว 200 แห่ง มีเพียง 2 โรงที่หยุดทำงานวันที่ 9-10 ตุลาคม เนื่องพนักงานไม่สะดวกที่จะมาทำงาน ส่วนมาตรการป้องกันน้ำท่วม ทางนิคมเตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว เช่น การจัดเตรียมคันกั้นน้ำชนิดติดตั้งเร็ว มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบตลอด 24 ชั่วโมง หากฝนไม่ตกลงมาอีกจะกลับสู่สภาพปกติ
สำหรับนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร มีพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 2.2 เมตร เนื้อที่ 20,000 ไร่ ผู้ประกอบการ 600 ราย มูลค่าการลงทุนประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท จ้างแรงงานประมาณ 400,000 คน
เผยนักลงทุนต่างชาติมั่นใจลงทุนต่อ
ต่อมา นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่ากากรระทรวงอุตสาหกรรม นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มาตรวจสถานการณ์น้ำท่วมที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร โดยมีนายวิบูลย์ ให้การต้อนรับ พร้อมชี้แจงสาเหตุของน้ำท่วมขัง โดยล่าสุด น้ำลดลง 10 เซนติเมตร จากเดิมที่ระดับ 30-50 เซนติเมตร ซึ่งทางนิคมได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำกว่า 100 ตัว ล่าสุด ทางชลประทานส่งเครื่องผลักดันน้ำมาช่วยอีก 4 ตัว คาดว่าน้ำจะลดลงได้อีก หากฝนไม่ตกหนักติดต่อกันภายใน 5 วันนี้
“ได้พูดคุยกับนักลงทุนทั้งใน และต่างประเทศแล้ว ทุกคนเข้าใจว่าเป็นเหตุสุดวิสัย เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ยังให้ความเชื่อมั่นที่จะลงทุนในเครืออมตะนคร และนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ใน จ.ชลบุรี”
บางปะกงล้น-ทะเลหนุนท่วมเขตเทศบาล
จ.ฉะเชิงเทรา น้ำจากแม่น้ำบางปะกง เอ่อเข้าท่วมเขตเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา ระดับน้ำสูง 5-15 เซนติเมตร หลังจากน้ำทะเลหนุนสูง และแม่น้ำบางปะกง ต้องรองรับน้ำจาก จ.ปราจีนบุรี จ.สระแก้ว และจากกลุ่มน้ำภาคกลาง ผ่านทางระบบการระบายน้ำของกรมชลประทาน และยังต้องรองรับการระบายน้ำออกจากกรุงเทพมหานคร และสนามบินสุวรรณภูมิ ขณะที่ยังมีการระบายน้ำออกมาจากนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ผ่านทางคลองพานทอง ที่ ต.ท่าข้าม อ.บางปะกง
ล่าสุด มีพื้นที่ประสบภัยใน อ.พนมสารคาม บ้านโพธิ์ ราชสาส์น บางคล้า บางน้ำเปรี้ยว 14 ตําบล 105 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 5,197 ครัวเรือน 15,591 คน พื้นที่การเกษตร 5,744 ไร่ ระดับน้ำยังคงเพิ่มขึ้น ล่าสุด ใน อ.ราชสาส์น และ อ.บางคล้า น้ำเข้าท่วมเต็มทุ่ง หลายหมู่บ้านถูกตัดขาด ชาวบ้านต้องใช้เรือเดินทางนับชั่วโมง คาดว่าใช้เวลากว่า 1 เดือนในการระบายออก โดยจังหวัดเร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำวันละประมาณ 15 ล้าน ลบ.ม. เพื่อไม่ให้ระดับน้ำสูงไปกว่านี้ ขณะเดียวกัน มวลน้ำได้ไปถึง อ.แปลงยาว แล้วเช่นกัน
“กลยุทธ” ให้คิดบวกเด็กได้ลงเล่นน้ำ
นายกลยุทธ ฉายแสง นายกเทศมนตรีเมืองฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ไม่มีอะไรที่จะรุนแรงไปมากกว่านี้แล้ว เพราะเหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพราะน้ำทะเลหนุนสูง ประกอบกับมีการระบายน้ำผ่านแม่น้ำบางปะกง ปี 2554 ยังมีน้ำมามากกว่านี้ ก็ไม่ได้สร้างความเสียหายอะไรมากนัก ส่วนที่ยังกังวลอยู่บ้าง เพราะมีข่าวเรื่องน้ำที่กำลังท่วม จ.ปราจีนบุรี และ จ.สระแก้ว ซึ่งจะไหลลงมาทางนี้ แต่ก็ถือเป็นเรื่องปกติ ที่น้ำจะท่วมผิวการจราจรถือว่าชะล้างถนนไปในตัว หากคิดในทางบวกก็ถือว่ามีน้ำเอ่อล้นขึ้นมาให้เด็กๆ ลงเล่นกันอย่างสนุกสนาน
ทั้งนี้ อยากฝากไถึงยังประชาชนว่า ใครที่มีพื้นบ้านอยู่ในระดับต่ำก็ขอให้ยกพื้นบ้านให้สูงจากเดิมอย่างน้อย 10 เซนติเมตร เพื่อหนีน้ำหนุน และน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้ามาท่วมทุกปี
“วังใหม่” เมืองจันท์ถูกน้ำท่วมรอบที่ 3
จ.จันทบุรี เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ต้นน้ำ อ.แก่งหางแมว ทำให้มวลน้ำไหลลงสู่ตอนล่างเข้าท่วมบ้านเรือน 8 หมู่บ้าน 370 ครัวเรือน ใน ต.วังใหม่ อ.นายายอาม สูง 70-100 เซนติเมตร ถนนเข้าหมู่บ้านไม่สามารถสัญจรได้ สวนมังคุด ทุเรียน เงาะ และนาข้าวกว่า 1,000 ไร่ถูกน้ำท่วม อบต.วังใหม่ และอาสากู้ภัยสมาคมสว่างกตัญญูธรรมสถาน จันทบุรี ต้องนำเรือท้องแบนลำเลียงน้ำดื่มเข้าไปแจกจ่ายให้ โดย ต.วังใหม่ ถูกน้ำท่วมเป็นรอบที่ 3 เนื่องจากเป็นพื้นที่แอ่งกระทะ จากนั้นมวลน้ำจาก อ.นายายอาม จะไหลลงสู่ อ.ท่าใหม่
ที่ประตูระบายน้ำวังโตนด ต.คลองขุด อ.ท่าใหม่ ชลประทานจังหวัด ได้เปิดประตูระบายน้ำทั้ง 5 บาน เร่งระบายน้ำลุ่มน้ำวังโตนดลงสู่ทะเล เพื่อป้องกันน้ำท่วมตอนล่างอ.ท่าใหม่ หลัง ต.วังใหม่ อ.นายายอาม ถูกน้ำท่วม แต่การระบายน้ำช่วงนี้ทำได้ยาก เนื่องจากน้ำทะเลหนุน แต่โชคดีที่ฝนหยุดตกแล้ว คาดว่าหากฝนไม่ตกลงมาอีก ต.วังใหม่ จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในเร็วๆ นี้
บ้านเรือนเมืองอรัญยังจมน้ำ 5 พันหลัง
จ.สระแก้ว ที่เทศบาลเมืองอรัญประเทศ น้ำจากคลองพรมโหด ล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือน สูง 0.50-3.50 เมตร ตลาดเทศบาลเมืองอรัญประเทศ มีบ้านเรือนถูกน้ำท่วมรวม 5,000 ครัวเรือน ถนนอรัญประเทศ-คลองหาด มีน้ำท่วมผิวการจราจร เช่นเดียวกับถนนทางหลวงชนบทหนองเอี่ยน-อรัญประเทศ อรัญประเทศ-คลองน้ำใส
ที่หอประชุมโรงเรียนวังน้ำเย็น อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว นายวินัย วิทยานุกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว นายธรรมศักดิ์ รัตนธัญญา นายอำเภอวังน้ำเย็น นำชุดธารน้ำใจสภากาชาดไทย ไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย 500 ชุด
นายวินัย กล่าวว่า มีประชาชนประสบอุทกภัยหลายพื้นที่ ราษฎรได้รับความเดือนร้อนจำนวนมาก ซึ่งวันนี้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานชุดธารน้ำใจ สภากาชาดไทย แก่ผู้ประสบอุทกภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น
นอภ.ด่านมะขามเตี้ยสั่งจับตาน้ำสวนผึ้ง
จ.กาญจนบุรี นายจำรัส กังน้อย นายอำเภอด่านมะขามเตี้ย กล่าวว่า ปริมาณน้ำในแม่น้ำลำภาชี ที่สถานีวัดระดับน้ำสะพานหินแด้น หมู่ 3 ต.หนองไผ่ อยู่ที่ 4.40 เมตร พื้นที่ทางการเกษตร หมู่ 1, 3, 4 และ 6 เสียหายรวม 1,370 ไร่ นาข้าว 5 ไร่ สวน 70 ไร่ ถนนเข้า-ออกหมู่บ้านเสียหาย 9 สาย การสัญจรลำบาก เนื่องจากป็นหลุมบ่อ และแม้ปริมาณน้ำจะลดลง แต่ได้ประสานเจ้าหน้าที่ประจำอ่างเก็บน้ำใน อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เพราะทราบว่ายังมีฝนตกหนัก น้ำล้นอ่างลงสู่แม่น้ำลำภาชีต่อเนื่อง
จ.ประจวบคีรีขันธ์ นาข้าวหมู่ 5 ต.ไร่เก่า อ.สามร้อยยอด กว่า 100 ไร่จมอยู่ใต้น้ำ บางแปลงที่ข้าวออกรอเก็บเกี่ยว ไม่สามารถเกี่ยวได้ เพราะไม่มีแดดไล่ความชื้น และรถเกี่ยวข้าวไม่รับเกี่ยวข้าวในนาที่ถูกน้ำท่วม
ชาวบึงนครหัวหิน 5 หมู่บ้านเซ็งติดเกาะ
น.ส.อุบล เผื่อโชติ ชาวนาหมู่ 5 ต.ไร่เก่า กล่าวว่า น้ำป่าหลากมาจากทิศตะวันตก ผ่านหมู่ 9 ก่อนเข้าท่วมหมู่ 3 ซึ่งตามถนนกลับเข้าสู่ภาวะปกติก็จริง แต่นาข้าวกว่า 100 ไร่ยังจมอยู่ใต้น้ำ ซึ่งหากจมน้ำนานหลายวัน เมล็ดข้าวจะกลายเป็นข้าวงอก ขายไม่ได้ และเหม็นจนกินไม่ได้ด้วย จะเกี่ยวขึ้นมาก็ไม่มีแดดให้ตาก จะเกิดเชื้อราเสียหายอีก บางแปลงที่เพิ่งปลูกได้ 7-10 วัน ต้องดำน้ำถอนกล้าขึ้นมา เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ ปลาและหอยเชอรีจะกินหมดจนไม่เหลืออะไร
นายไพฑรูย์ ใจหลัก กำนันตำบลบึงนคร อ.หัวหิน กล่าวว่า ชาวบ้านกว่า 800 ครัวเรือน 5 หมู่บ้าน สภาพเหมือนติดเกาะ ทั้งบ้านบึงนคร ท่าไม้รวก แพรกตระคร้อ แพรกตะลุ้ย บ้านเขาจ้าว ระดับน้ำยังสูง ทั้งรถเล็กรถใหญ่ผ่านเข้าออกไม่ได้ เนื่องจากน้ำป่าจากต.ห้วยสัตว์ใหญ่ ยังคงไหลลงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทั้งหมดจะไหลลงเขื่อนปราณบุรี หากอีก 2-3 วันฝนไม่ตก น้ำจะเริ่มลดลง ชาวบ้านจะเริ่มขนส่งพืชผลทางการเกษตรได้ตามปกติ
ผู้ว่าฯอ่างประกาศภัยพิบัติเพิ่ม64ตำบล
จ.อ่างทอง น้ำนังคงท่วมเป็นวงกว้าง ซึ่งนายสมาน ไผ่งาม อายุ 57 ปี อยู่บ้านเลขที่ 62 หมู่ 6 ต.โผงเผง อ.ป่าโมก ต้องนำไก่ชนตัวเก่งราคาหลายพันบาทขึ้นไปอยู่บนบ้านร่วมกับครอบครัว เพราะพื้นดินถูกน้ำท่วมหมด ซึ่งหากปล่อยไว้ริมถนนอาจถูกขโมยหรือสุนัขกัดกินเป็นอาหาร ซึ่งขณะนี้น้ำเริ่มลดลงแล้ว แต่น้ำก็เริ่มเน่าเสียเช่นกัน ยุงก็เริ่มออกอาละวาดแล้ว
ล่าสุด นายประวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ประกาศเขตภัยพิบัติเพิ่มอีก 64 ตำบล ประกอบด้วย อ.เมือง 13 ตำบล อ.วิเศษชัยชาญ 15 ตำบล อ.ไชโย 9 ตำบล อ.โพธิ์ทอง 15 ตำบล อ.แสวงหา 7 ตำบล และอ.สามโก้ 5 ตำบล
โวยระบบป้องกันน้ำท่วมใช้งานไม่ได้จริง
ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในจ.พระนครศรีอยุธยา ว่าเกษตรกรหลังหมู่บ้านทองธรณี หมู่ 5 ต.เกาะเรียน อ.พระนครศรีอยุธยา รวมถึงชุมชนหลังแนวกั้นน้ำท่วม ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมสูง โดยน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ไหลตามท่อลอดส่งน้ำเข้านา และลำรางระบายน้ำเลียบทางรถไฟ เข้ามาท่วมจนสร้างความเสียหายทั้งพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือน
นายปราโมทย์ แดงประเสริฐ อายุ 49 ปี อยู่บ้านเลขที่ 50/30 หมู่ 5 กล่าวว่า ทำเกษตรผสมผสาน ปลูกผัก ดอกดาวเรือง และเลี้ยงปลาหลากหลายชนิด บนเนื้อที่กว่า 12 ไร่ ถูกน้ำท่วมเสียหายทั้งหมด ซึ่งหลังปี 2554 มีการยกและปรับปรุงถนนบางปะอิน-อยุธยาสายเก่า ให้เป็นแนวกั้นน้ำ ตนก็เชื่อว่าน้ำจะไม่ท่วมแล้ว แต่ล่าสุด น้ำได้ไหลจากต.บ้านโพ อ.บางปะอิน มายังต.เกาะเรียน ถือว่าระบบป้องกันน้ำท่วมที่ภาครัฐทำไว้ใช้งานไม่ได้จริง
ชุมชนคลองสระบัวจมบาดาล2สัปดาห์
ที่ชุมชนคลองสระบัว อระนครศรีอยุธยา แม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นเข้าท่วมกว่า 2 สัปดาห์แล้ว แม้ระดับน้ำจะลดลงไป 5 เซนติเมตร แต่น้ำยังท่วมสูง 1.20 เมตร และน้ำเริ่มเน่าเสีย โดยที่บ้านของนายบุญทัน ศรีรุ้ง อายุ 44 ปี อยู่บ้านเลขที่ 16/2 หมู่ 2 ต.คลองสระบัว ซึ่งเป็นบ้านไม้ 2 ชั้นอยู่กลางชุมชนที่ถูกน้ำท่วม ปรากฏว่า นายบุญทันได้สร้างแนวป้องกันน้ำท่วม โดยใช้อิฐบล็อกก่อเป็นกำแพงสูง 1.50 เมตร ล้อมบ้าน 4 ด้านแล้วฉาบด้วยปูน ซึ่งมีน้ำซึมเข้ามาเล็กน้อย โดยนายบุญทัน ติดตั้งปั๊มสูบน้ำออก 4 ตัว
นายบุญทัน กล่าวว่า ถูกน้ำท่วมปี 2554 และไม่มีเงินซ่อมแซม จึงคิดว่าต่อไปจะต้องสู้กับน้ำท่วมให้ได้ ก็ทดลองทำ แต่หากระดับน้ำสูงกว่านี้เกิน 1.50 เมตร ก็คงยอมแพ้ แต่เชื่อว่าคงไม่ท่วมแล้ว
นายอุดมศักดิ์ ขาวหนูนา หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า แม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่อ.บางบาล คลองบางหลวง คลองโผงเผง คลองบางบาล ระดับน้ำลดลง 1-5 เซนติเมตร อ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำทรงตัว อ.บางปะอิน อ.บางไทร ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 10-20 เซนติเมตร แม่น้ำน้อย อ.ผักไห่ อ.เสนา อ.บางบาล อ.บางไทร ยังทรงตัว แม่น้ำลพบุรี อ.บ้านแพรก อ.มหาราช อ.บางปะหัน ออ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 10-20 เซนติเมตร แม่น้ำป่าสัก อ.ท่าเรือ อ.นครหลวง ระดับน้ำลดลง 10-20 เซนติเมตร อ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 1-5 เซนติเมตร
ศธ.เผยเปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย
ด้านนายศุภกร วงศ์ปราชญ์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กำลังเตรียมความพร้อมเปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ที่โรงเรียนวัดไผ่ล้อม อ.บางบาล ซึ่งนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะเดินทางมาเป็นประธานเปิดอย่างเป็นทางการวันที่ 10 ตุลาคมนี้ โดยศูนย์ดังกล่าวเปิดให้บริการ 20 วัน มีกิจกรรมทั้งการส่งเสริมการศึกษา โรงเลี้ยงอาหาร โดยเฉพาะกิจกรรมพิเศษรองรับช่วงปิดภาคเรียน ซึ่งจัดเป็นแคมป์เข้าค่ายแบบเช้ามาเย็นกลับ กลุ่มเป่าหมายเป็นนักเรียนในพื้นที่น้ำท่วม ให้ได้รับความรู้ พร้อมพัฒนาทักษะทุกด้าน และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
ขณะเดียวกันจะเป็นการส่งเสริมลูกเสืออาสาสมัครป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่ฝึกอบรมไว้ทุกโรงเรียนในทั่วประเทศ โดยเฉพาะจากกรุงเทพมหานคร ให้มีเวทีในการแสดงออก ร่วมกับนักเรียนในพื้นที่น้ำท่วม ถือเป็นกิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อน
พระราชทานถุงยังชีพช่วยชาวกรุงเก่า
ด้านนายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย ผู้แทนพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ องค์สภานายิกาสภากาชาดไทย ร่วมกับสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย และเหล่ากาชาดจังหวัด มอบชุดธารน้ำใจพร้อมน้ำดื่มตามโครงการน้ำทิพย์ปันน้ำใจให้กาชาด 1,350 ชุด ให้แก่ประชาชนที่โรงเรียนอิสลามศรีอยุธยา หมู่ 1 ต.คลองตะเคียน อ.พระนครศรีอยุธยา
ต่อมา รศ.ดร.นพ.พิชิต สุวรรณประกร รองประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ประกอบพิธีอัญเชิญถุงยังชีพพระราชทาน ไปมอบให้ผู้ประสบอุทกภัย ณ วัดโรงนา หมู่ 8 ต.น้ำเต้า อ.บางบาล 1,200 ชุด พร้อมเดินทางไปยังหมู่ 1 ต.ไทรน้อย ตรวจเยี่ยมการสร้างบ้านลอยน้ำ เพื่อนพึ่ง(ภาฯ)
อพยพด่วนหนีน้ำล้นเขื่อนลำนางรอง
จ.นครราชสีมา น้ำในลำเชิงไกร เอ่อท่วมบ้านเรือนที่บ้านลำเชิงไกร หมู่ 9 ต.ลำเชิงไกร อ.เมือง มากว่า 2 สัปดาห์ ประชาชนกว่า 200 ครัวเรือน รวมกว่า 800 คนถูกตัดขาดจากโลกภายนอก โรงเรียนบ้านลำเชิงไกร หยุดการเรียนการสอนมากว่า 2 สัปดาห์ ล่าสุดประชาชนเริ่มเป็นโรคน้ำกัดเท้าและโรคเครียด นาข้าวกว่า 3,000 ไร่ถูกน้ำท่วมขังเสียหายสิ้นเชิง
จ.บุรีรัมย์ อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนอ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ หน้าที่เทศบาลตำบลโนนดินแดง อบต.ส้มป่อย ทหารจากจังหวัดทหารบกบุรีรัมย์ และตำรวจตระเวนชายแดน ช่วยกันอพยพชาวบ้านบ้านส้มป่อย หมู่ 2 และบ้านโคกตะคร้อ หมู่ 7 ต.ส้มป่อย อ.โนนดินแดง 139 ครัวเรือน กว่า 270 คน ไปพักอยังศูนย์พักพิงชั่วคราว หอประชุมที่ว่าการอำเภอโนนดินแดง และศาลาวัดบ้านหนองกก หลังน้ำที่ล้นสปิลเวย์เขื่อนลำนางรอง อ.โนนดินแดง ทะลักเข้าท่วมบ้านเรือน ถนน ไร่นาล้อมรอบหมู่บ้านอย่างรวดเร็ว บางจุดสูงกว่า 1 เมตร และไหลเชี่ยวกราก จนไม่สามารถอาศัยอยู่ในบ้านได้
ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนลำนางรอง อ.โนนดินแดง พบว่าตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคมจนถึงขณะนี้ น้ำล้นสปิลเวย์เขื่อนแล้วกว่า 17 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ยังเหลือน้ำเกินระดับกักเก็บอีกกว่า 11 ล้านลบ.ม.
นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้อำเภอที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยริมลำน้ำ และใกล้ทางน้ำไหลผ่าน เตรียมแผนอพยพประชาชนและสัตว์เลี้ยงตลอด 24 ชั่วโมงแล้ว
หอค้าศรีสะเกษชี้เกษตรสูญ800ล้าน
นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ประธานหอการค้าจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ขณะนี้พื้นที่ทางการเกษตรประมาณ 100,000 ไร่ ได้รับความเสียหายคิดเป็นมูลค่าถึง 800 ล้านบาท ส่วนความเสียหายในเชิงเศรษฐกิจ อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบ ซึ่งขณะนี้ทางหอการค้าจังหวัด ได้ประสานขอข้อมูลสำนักงานพาณิชย์จังหวัด เพื่อทำรายงานข้อมูลส่งหอการค้าแห่งประเทศประเทศไทยต่อไป
นายสิริพงศ์ กล่าวว่า หลังจากสถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว สิ่งแรกที่รัฐบาลควรทำ คือ เร่งเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้เศรษฐกิจภาคการเกษตรฟื้นตัวโดยเร็ว เพราะหากล่าช้าอาจส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร ซึ่งเป็นกำลังหลักสำคัญในการผลิตของประเทศ และเร่งฟื้นฟูถนนหนทางที่ เพื่อให้การเดินทางปลอดภัย เพราะในขณะนี้ถนนสายหลักของจ.ศรีสะเกษ ชำรุดเสียหายเป็นอย่างมาก