ศูนย์ข่าวศรีราชา - ภาคตะวันออกสาหัสน้ำท่วมเกือบทุกพื้นที่ ต่อเนื่องยาวมาตั้งแต่เดือนกันยาน จนถึงปัจจุบัน ทำให้พื้นที่เกษตรกรรม และอุตสาหกรรมได้รับความเสียหาย รวมทั้งการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างมาก
ผลจากลมมรสุมพาดผ่านประเทศไทย จนทำให้หลายพื้นที่ในทั่วประเทศได้ผลกระทบ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออก เริ่มตั้งแต่จังหวัดปราจีนบุรี น้ำเข้าท่วมพื้นที่นากว่า 1 แสนไร่ รวมทั้งอุตสาหกรรม 304 ได้รับผลกระทบ ล่าสุด วันนี้ (9 ต.ค.) น.ส.จิตรา พรหมชุติมา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ขณะนี้ว่า ขณะนี้ทางจังหวัดปราจีนบุรี ได้รับผลกระทบจากมวลน้ำที่ไหลบ่าจากพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ส่งผลกระทบให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่เดิม และที่ยังผันออกไปไม่หมดนั้นมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้เร่งให้กรมชลประทานเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างรวดเร็ว
ส่วนด้านการเยียวยาประชาชนผู้ประสบภัยนั้น ทางเจ้าหน้าที่ก็ได้ให้เจ้าหน้าที่เร่งแจกถุงยังชีพ ดูแลเรื่องสุขภาพ โดยทางจังหวัดเองมีทีมแพทย์ฉุกเฉินทั้งหมด 3 ทีม เพื่อเข้าช่วยเหลือ รวมทั้งการจัดสรรเรือสัญจรเข้าออกที่ประชาชนเรียกร้องมา ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ประสานไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อจัดสรรเรือช่วยเหลือในพื้นที่แล้ว พร้อมทั้งเร่งระดมเจ้าหน้าที่สร้างแนวป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ ทั้งนี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันนี้
โดยได้ขอให้ผู้บริหารท้องถิ่น ประชาชนเข้าใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่จำเป็นต้องปกป้องพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัด จึงอาจทำให้บางพื้นที่รับน้ำมากจนเกินไป พร้อมประสานงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่ถูกตัดขาดเร่งดำเนินการเข้าช่วยเหลือประชาชนให้ทั่วถึง และเร็วที่สุด
ด้านจังหวัดฉะเชิงเทรา พื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 5 อำเภอ พนมสารคาม บ้านโพธิ์ ราชสาส์น บางคล้า บางน้ำเปรี้ยว 14 ตําบล 105 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 5,197 ครัวเรือน 15,591 คน พื้นที่การเกษตร 5,744 ไร่ บ่อปลา 1,107 ไร่ ถนน 2 สาย สถานการณ์ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น ขณะนี้ปริมาณน้ำอ่างคลองสียัด 391 ล้าน ลบ.ม. (93%) รับได้อีก 29 ล้าน ลบ.ม.
ล่าสุด ในอำเภอราชสาส์น และอำเภอบางคล้า ขณะนี้น้ำได้ไหลเข้าท่วมทุ่งเต็มพื้นที่ ส่งผลให้หลายหมู่บ้านถูกตัดขาด ชาวบ้านต้องใช้ชีวิตด้วยความยากลำบาก การเดินทางด้วยเรือบางจุดต้องใช้เวลานานนับชั่วโมง โดยคาดว่าน้ำที่ท่วมน่าจะใช้เวลามากกว่า 1 เดือน ในการระบายออก โดยจังหวัดได้เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อให้สามารถระบายน้ำได้วันละประมาณ 15 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อไม่ให้ระดับน้ำเพิ่มสูงไปมากกว่านี้
มวลน้ำได้ขยายพื้นที่ท่วมถึงอำเภอแปลงยาว เป็นอำเภอที่ 6 ของจังหวัดฉะเชิงเทราแล้ว ซึ่งกรมชลประทานประเมินว่า ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นอีกไม่เกิน 10 เซนติเมตร และจะทรงตัวไปอีกประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนที่จะค่อยๆ ลดระดับลง และจะกลับมาทรงตัวอีกครั้งในช่วงปลายเดือนนี้ที่มีภาวะน้ำทะเลหนุนสูง และน้ำระลอกที่ 2 จากจังหวัดปราจีนบุรีจะเดินทางมาถึง
ด้านจังหวัดสระแก้ว สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.สระแก้ว ได้สรุปสถานการณ์อุทกภัย ในปี 2556 ว่า แบ่งออกเป็น 2 ห่วงคือ ในวันที่ 19 ก.ย และ 4 ต.ค.2556 โดยได้เกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง เข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร ทำให้ จ.สระแก้ว ต้องประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ รวม 9 อำเภอ ประกอบด้วย อ.วังน้ำเย็น อ.วังสมบูรณ์ อ.เขาฉกรรจ์ อ.คลองหาด อ.เมืองสระแก้ว อ.วัฒนานคร อ.ตาพระยา อ.อรัญประเทศ และ อ.โคกสูง รวมทั้งเทศบาลเมืองอรัญประเทศ โดยมีหมู่บ้านได้รับความเสียหายทั้ง 556 หมู่บ้าน ครัวเรือนได้รับความเสียหายรวม 14,870 ครัวเรือน ขณะที่พื้นที่การเกษตร และสิ่งสาธารณประโยชน์ อยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหาย
ขณะที่สถานการณ์ในปัจจุบันพบว่า เขต อ.อรัญประเทศ และเทศบาลเมืองอรัญประเทศ มีน้ำจากคลองพรมโหด ล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ อ.อรัญประเทศ จนมีบ้านเรือนประชาชนถูกน้ำท่วมสูง 0.50-3.50 ม. ตลาดเทศบาลเมืองอรัญประเทศ มีบ้านเรือนประชาชนถูกน้ำท่วมรวม 5 พันครัวเรือน ถนนสายอรัญประเทศ-คลองหาด มีน้ำท่วมผิวการจราจร เช่นเดียวกับถนนหลายสาย เช่น ถนนทางหลวงชนบทสาย หนองเอี่ยน-อรัญประเทศ สายอรัญประเทศ-คลองน้ำใส ฯลฯ
ส่วนอำเภอเมืองสระแก้ว ระดับน้ำในคลองพระสะทึง และคลองพระปรง ได้ล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน ถนนหลายสายถูกน้ำท่วม ด้าน อ.เขาฉกรรจ์ ระดับน้ำลดลงเหลือเพียงน้ำท่วมพื้นที่การเกษตร และสิ่งสาธารณประโยชน์
ด้าน สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.จันทบุรี ได้รายงานสถานการณ์การเกิดเหตุอุทกภัยน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ ระหว่างวันที่ 5-7 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำไหลหลาก รวมทั้งสิ้น 7 อ.ประกอบด้วย อ.สอยดาว อ.โป่งน้ำร้อน อ.แก่งหางแมว อ.มะขาม อ.ท่าใหม่ อ.นายายอาม และ อ.ขลุง มีราษฎรได้รับผลกระทบรวมทั้งสิ้น 2,768 ครัวเรือน
โดย จ.จันทบุรี ได้ร่วมกับศูนย์ ปภ.เขต 17 จันทบุรี อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับผลกระทบ ด้วยการระดม อส.และอปพร.กว่า 500 นาย พร้อมเครื่องจักรกล ยานพาหนะ และเรือประเภทต่างๆ เข้าให้การช่วยเหลือ และอพยพราษฎร และขนย้ายสิ่งของไปสู่ที่ปลอดภัย สำหรับเส้นทางที่ถูกน้ำท่วมขังในบางพื้นที่ จังหวัดได้ประสานอำเภอต่างๆ เพื่อจัดเจ้าหน้าที่ อปพร.และเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าอำนวยความสะดวกด้านการจราจร
สำหรับจังหวัดชลบุรี ได้รับผลกระทบตั้งแต่อำเภอเมืองชลบุรี ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นที่ หมู่ 7 ต.ดอนหัวฬ่อ ส่วน ต.อ่างศิลา ระดับน้ำลดลงแต่ยังมีน้ำท่วมขังส่วนที่ ต.เสม็ด ต.หนองไม้แดง ต.ห้วยกะปิ ต.เหมือง สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ราษฎรได้รับความเสียหาย 250 ครัวเรือน
ที่อำเภอพานทอง น้ำยังคงเอ่อท่วมบ้านเรือนประชาชน ระดับน้ำทรงตัวที่ ต.หนองตำลึง ต.หนองกะขะ ต.พานทอง ต.หน้าประดู่ ต.มาบโป่ง ต.หนองหงษ์ ต.โคกขี้หนอน ต.เกาะลอย ต.บางนาง โดยมีราษฎรได้รับความเสียหาย 970 ครัวเรือน ด้านอำเภอพนัสนิคม น้ำยังเอ่อล้นท่วมบ้านเรือนประชาชน ระดับน้ำยังทรงตัวที่ ต.วัดโบสถ์ ต.วัดหลวง ต.โคกเพลาะ ต.ท่าข้าม ระดับน้ำลดลงแต่ยังมีน้ำท่วมขังที่ ต.หมอนนาง ต.ทุ่งขวาง ต.นาวังหิน ต.พนัสนิคม ต.กุฏโง้ง ต.นามะตูม มีราษฎรได้รับความเสียหาย 6,353 ครัวเรือน
ล่าสุด วันนี้ (9 ต.ค.) ซึ่งทางจังหวัดมีการเฝ้าระวังระดับน้ำตามจุดต่างๆ เช่น ที่สถานีคลองหลวง (อ.เกาะจันทร์) ระดับวิกฤต 50.00 ม./วินาที ปัจจุบัน 45.60 ม./วินาที ตลิ่งสูงสุด 4.8 ม. ปัจจุบัน 4.62 ม. ส่วนที่ 2.สถานีคลองหลวง (ทดท่าฉิม) ระดับวิกฤต 6.30 ม./วินาที ปัจจุบัน 10.10 ม.3.สถานีคลองหมอสอ (อบต.วัดหลวง) อ.พนัสนิคมระดับวิกฤต 3.56 ม./ ปัจจุบัน 4.11 ม. 4.ที่สถานีหน้าวัดโบสถ์ อ.พนัสนิคมระดับวิกฤต 3.55 ม. ปัจจุบัน 3.84 ม. 5.สถานีคลองพานทอง อ.พานทองระดับวิกฤต 1.20 ม. ปัจจุบัน 1.34 ม. 6.ที่สถานีคลองชลประทานพานทอง (อบต.บางนาง) อ.พานทอง ระดับวิกฤต1 .50 ม..ปัจจุบัน 2.00 ม. โดยหลายสถานีปริมาณน้ำอยู่ในระดับวิกฤต ซึ่งจะต้องระบายน้ำออก ส่วนสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ทั้ง 8 อ่าง ในจังหวัดชลบุรี ยังสามารถรองรับปริมาณได้อีก 70 ล้าน ลบ.ม.
จากสถานการณ์ดังกล่าว นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดชลบุรี ติดตามสถานการณ์อุทกภัย และสนับสนุนความช่วยเหลือ โดยนำถุงยังชีพ โดยใช้งบประมาณคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) จำนวน 1,000 ชุด แจกจ่ายพื้นที่อำเภอพนัสนิคม 2) อำเภอพนัสนิคม (งบ ก.ช.ภ.อ.) จัดทำถุงยังชีพ จำนวน 1,000 ชุด แจกจ่ายในพื้นที่ 3) อำเภอพานทอง (งบ ก.ช.ภ.อ.) จัดทำถุงยังชีพ จำนวน 1,000 ชุด แจกจ่ายในพื้นที่4 ) ภาคเอกชน มูลนิธิ สมาคม องค์กรการกุศล ดำเนินการจัดอาหารประกอบเลี้ยง และข้าวกล่องพร้อมน้ำดื่ม สนับสนุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่อำเภอพนัสนิคม
สำหรับนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ช่วงเฟส 7-9 พบว่า มีปริมาณน้ำมาก ล่าสุด นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริเวณรอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร อ.เมือง ยังมีน้ำท่วมขังจริง แต่ในพื้นที่โรงงานต่างๆ โดยเฉพาะโซนเฟส 7-9 นั้น มีน้ำท่วมสูง 10 เซนติเมตร แต่ยังไม่มีผลกระทบต่อโรงงาน และปริมาณน้ำเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ยืนยันว่าโรงงานที่ตั้งอยู่ในเฟสดังกล่าวทั้งหมด 200 แห่ง สามารถทำงานได้ปกติ มีเพียง 2 โรงงานเท่านั้นที่หยุดทำงานตั้งแต่วันที่ 9-10 ตุลาคม 2556 เนื่องจากน้ำท่วมรอบโรงงาน พนักงานไม่สะดวกที่จะมาทำงานได้ ส่วนมาตรการป้องกันน้ำท่วมนั้น ทางนิคมฯ ได้มีการเตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว เช่น การจัดเตรียมคันกั้นน้ำชนิดติดตั้งเร็วไว้รองรับสถานการณ์ และได้สั่งการให้มีชุดเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบตลอด 24 ชั่วโมง และหากฝนไม่ตกลงมาเพิ่มอีก ปัญหาน้ำท่วมขังตามโรงงานก็จะลดลงไปสู่สภาพปกติ
สำหรับนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร มีพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 2.2 เมตร เนื้อที่ประมาณ 20,000 ไร่ มีผู้ประกอบการ 600 ราย ประกอบด้วย นักลงทุนไทย ญี่ปุ่น ยุโรป และสัญชาติอื่นๆ มูลค่าการลงทุนประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท มีการจ้างแรงงานประมาณ 400,000 คน