เพชรบุรี - ช่างภาพอิสระเมืองเพชรบุรี สามารถบันทึกภาพ “วาฬบรูด้า” แม่ลูกที่โผล่ขึ้นมากินปลากะตักเหนือปากอ่าวบางตะบูน ขณะที่นั่งเรือประมงออกจากฝั่งปากอ่าวบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม เผยพบเห็นฝูงวาฬบรูด้าที่หากินอยู่รอบๆ อ่าว ประมาณ 5 ตัว
วันนี้ (3 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพวาฬบรูด้าแม่ลูกที่กำลังอ้าปากเพื่อกินปลากะตัก โดยมีฝูงนกนางนวลบินอยู่จำนวนมากนี้เป็นภาพที่ นายอภิชาติ ตั้งเจริญบำรุงสุข ช่างภาพอิสระ อายุ 41 ปี อยู่บ้านเลขที่ 162/1 ถนนพงษ์สุริยา ต.ท่าราบ อ.เมือง จ.เพชรบุรี สามารถบันทึกภาพเอาไว้ได้ขณะที่นั่งเรือประมงออกจากฝั่งปากอ่าวบางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ตั้งแต่ช่วงเวลาประมาณ 09.00 น. ของวันที่ 1 ต.ค.56 ที่ผ่านมา โดยมีผู้ร่วมเดินทาง จำนวน 10 คนด้วยกัน ซึ่งมีนักถ่ายภาพ 8 คน และอีก 2 คน เป็นคนขับเรือ และผู้ช่วย ซึ่งการพบวาฬบรูด้าในครั้งนี้พบในช่วงเวลาประมาณ 11.00-14.00 น.และอยู่ห่างจากปากอ่าวบางตะบูนไม่ไกลมากนัก และพบเห็นวาฬบรูด้าที่หากินอยู่รอบๆ ประมาณ 5 ตัวด้วยกัน
นายอภิชาติ ตั้งเจริญบำรุงสุข ผู้ที่สามารถบันทึกภาพวาฬบรูด้าได้ เปิดเผยว่า เป็นครั้งแรกที่ได้นั่งเรือออกไปถ่ายภาพวาฬบรูด้า เมื่อเห็นครั้งแรกรู้สึกดีใจมากเพราะได้เห็นเป็นครั้งแรก และเป็นการออกเรือถ่ายวาฬครั้งแรกด้วย
“รู้สึกตื่นเต้นกับการฝึกถ่ายภาพมากครับ และชอบถ่ายภาพลีลาของนกนางนวลที่บินรอบๆ วาฬ และถ้าหากมีการออกไปถ่ายภาพวาฬก็ยังคงอยากไปอีก เพราะประทับใจการได้เห็นวาฬระยะใกล้มากๆ เพราะในครั้งนี้ที่ผมไป วาฬแม่ลูกเข้ามาใกล้เรือให้เห็นหลายครั้ง ลอดใต้ท้องเรือด้วยครับ ประทับใจการได้เห็นวาฬระยะใกล้มากๆ” นายอภิชาติ กล่าว
สำหรับฝูงวาฬบรูด้า พบว่า มาหาอาหารกินอยู่บริเวณแถวปากอ่าวบางตะบูน และใกล้กับคลังน้ำมันบางแก้ว โดยเมื่อเดือนกันยายน 2553 ได้มีการพบฝูงวาฬบรูด้ากว่า 10 ตัว เข้ามาหากินในพื้นที่ดังกล่าว สร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่ผู้พบเห็น รวมถึงนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่ทราบข่าวต่างเช่าเหมาเรือเพื่อไปชมวาฬบรูด้าอย่างใกล้ชิด ทำให้การท่องเที่ยวชมวาฬบรูด้าในพื้นที่ตื่นตัวเป็นอย่างมาก และในปีต่อๆ มา จะพบการปรากฏตัวของวาฬบรูด้าที่เข้ามากินในพื้นที่ทะเลบ้านแหลมอย่างต่อเนื่อง อันสะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งวาฬบรูด้าเหล่านี้ต่างหากินในพื้นที่ที่ปลอดภัย ซึ่งชาวประมงเองก็ต่างร่วมกันดูแล และไม่สร้างอันตรายให้แก่ฝูงวาฬเหล่านี้ จึงทำให้แต่ละปีฝูงวาฬบรูด้าจะเข้ามากินในพื้นที่เดิมอีก
วาฬบรูด้า เป็นสัตว์ห้ามค้าระหว่างประเทศที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายของไทย และเป็นสัตว์ที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ ลักษณะทั่วๆ ไปของวาฬบรูด้า เป็นวาฬขนาดปานกลาง มีรูปร่างค่อนข้างเพรียว ลำตัวของวาฬชนิดนี้สีเทาเข้ม มีลายแต้มสีขาว ประปรายตรงใต้คาง และใต้คอ บางตัวพบมีแถบสีจางบนแผ่นหลัง บางตัวก็มีจุดสีจางทั้งตัวคล้ายสีเทาลายกระสีขาว เวลาอยู่ในทะเลจะสังเกตเห็นสัน 3 สันเด่นชัดด้านบนของปาก ซึ่งจะวางตัวขนานกันจากปลายปากจนถึงตำแหน่งของรูหายใจ ในขณะที่วาฬชนิดอื่นๆ มีสันตรงกึ่งกลางปากเพียงสันเดียว เวลาผุดขึ้นหายใจเหนือผิวน้ำจะเห็นหัว และน้ำพุที่หายใจออกมาเป็นเวลานานสักครู่ ก่อนจะเห็นครีบหลังตามมา
จุดเด่นของวาฬบรูด้า คือ ครีบหลังที่มีรูปโค้งอยู่ค่อนไปทางด้านปลายหาง แพนหางวางตัวตาม แนวราบ และมีรอยเว้าเข้าตรงกึ่งกลาง ครีบคู่หน้ามีปลายแหลม และมีความยาวเป็น 10% ของความยาวลำตัว ใต้ปากล่างมีร่องตามยาวประมาณ 40-70 ร่อง ซึ่งพาดจากใต้ปากจนถึงตำแหน่งสะดือ แผ่นกรองที่ห้อยลงมาจากปากบนมีจำนวน 250-370 แผ่น แผ่นที่ยาวที่สุดยาว 60 เซนติเมตร ซี่บนแผ่นกรองค่อนข้างหยาบ
วาฬบรูด้า เมื่อโตเต็มที่จะยาว 14-15.5 เมตร หนัก 20-25 ตัน กินอาหารโดยการกรอง เนื่องจากวาฬบรูด้าเป็นวาฬชนิดไม่มีฟัน แต่มีบาลีนเป็นแผ่นกรองคล้ายหวี สีเทา 250-370 ซี่ ใช้กรองแพลงก์ตอน และฝูงปลากินเป็นอาหาร เช่น ปลาหมึก ปลาทู ปลากะตัก เป็นต้น พบแพร่กระจายอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะในเขตร้อน และเขตกึ่งร้อน ในเขตละติจูด 40 องศาเหนือถึงใต้ ไม่พบการอพยพย้ายถิ่นฐานเป็นระยะทางไกล โดยมากมักพบครั้งละ 1-2 ตัว วัยเจริญพันธุ์ ในช่วงอายุ 9-13 ปี วาฬบรูด้าจะให้ลูกครั้งละ 1 ตัว ทุก 2 ปี ตั้งท้องนาน 10-12 เดือน ระยะให้นมน้อยกว่า 12 เดือน ลูกวาฬแรกเกิดจะมีความยาวประมาณ 3-4 เมตร วาฬบรูด้าอายุยืนถึง 50 ปี เวลาจมตัวดำน้ำจะโผล่หัวเล็กน้อยแล้วทิ้งตัวจมหายไปไม่โผล่ส่วนหางขึ้นมาเหนือน้ำ