กาฬสินธุ์ - นักศึกษาคณะศิลปนาฏดุริยางค์ สาขาศิลปะดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ แบ่งปันสรรความรู้หนังประโมทัยสู่น้อง เพื่อสืบสานการแสดงพื้นบ้านที่กำลังจะสูญหาย
วันนี้ (28 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่อาคารพิพิธภัณฑ์โปงลาง วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ นักศึกษาคณะศิลปะนาฏดุริยางค์ สาขาวิชาศิลปะดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน ชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ จัดกิจกรรมแบ่งปันสรรความรู้หนังประโมทัยสู่น้อง โดยเปิดการแสดงหนังประโมทัยเรื่องรามเกียรติ์ ตอนไมยราพสะกดทัพ หนุมานชิงองค์พระราม โดยเปิดให้ได้ชมฟรี
กิจกรรมครั้งนี้ยังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ รวมถึง นายสมพงษ์ คุณาประถม หรืออี๊ด โปงลางสะออน ศิษย์ของของสถาบันมาร่วมให้การประเมิน โดยมีคณาจารย์ประจำคณะศิลปะนาฏดุริยางค์ สาขาวิชาศิลปะดนตรีพื้นบ้าน วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ ร่วมด้วย
นายชัยวัฒน์ ภูริศรี ตัวแทนนักศึกษากล่าวว่า นักศึกษาทุกคนได้เรียนรายวิชาหนังประโมทัย ซึ่งเป็นหนึ่งในการแสดงพื้นบ้านอีสาน ที่ในอดีตเป็นการแสดงที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ทุกคนได้ไปศึกษากับปราชญ์หนังประโมทัยด้านนี้โดยตรง กับคุณพ่อสมร พลีศักดิ์ บ้านหนังตุง คณะประกาศสามัคคี จ.ร้อยเอ็ด ใช้เวลาในการศึกษาตลอดทั้งภาคเรียน ทั้งการเรียนทำตัวหนัง การร้อง การเชิด และการนำเสนอเรื่องราวตามกระบวนการ จนรับทราบ และเข้าถึงการแสดงหนังประโมทัยเป็นอย่างดี
ปัจจุบัน หนังประโมทัยกำลังจะสูญหาย และหาชมได้ยาก ความตั้งใจของการศึกษารายวิชานี้อย่างจริงจังนั้นนอกเหนือจากหลักสูตรแล้ว คือ การสืบสาน และอนุรักษ์จึงเกิดกิจกรรมนี้ขึ้นมา
น.ส.คุณัญญา จันทร์สุวรรณ นักศึกษากล่าวว่า การสืบสานหนังประโมทัยวันนี้ จะเป็นหน้าที่ของเราทุกคน โดยเฉพาะนักศึกษาที่กำลังศึกษา และเรียนเกี่ยวกับศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ซึ่งเป็นสาขาที่ได้เรียนแล้วมีความภาคภูมิใจอย่างมาก ดังนั้น จะขอสืบสานอนุรักษ์ศิลปะพื้นบ้านต่อไป
ด้านอี๊ด โปงลางสะออน กล่าวว่า ดีใจมากที่รุ่นน้องยังมีความตั้งใจอนุรักษ์ และร่วมกันสืบสานศิลปะพื้นบ้านอีสาน ทั้งการร้อง การรำ ดนตรี และการแสดง เชื่อว่ารุ่นน้องที่จบการศึกษาแล้ว จะเป็นบัณฑิตเป็นศิลปินที่มีคุณภาพแน่นอน ส่วนการแสดงหนังประโมทัย เป็นที่รู้จักกันดีว่าหนังบักตื้อ หรือหนังบักป่องบักแก้ว ที่เรียกตามชื่อของตัวแสดงในหนัง
ในอดีตนั้นจะแพร่หลาย และเป็นที่นิยมมาก เนื่องจากตลก สนุกสนาน แต่ทุกวันนี้หาดูได้ยาก และการที่รุ่นน้องได้เรียน และจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมาคิดว่าเป็นเรื่องดี เพราะคือการสร้างสรรค์บนเส้นทางของการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอีสานของเรา
สำหรับหนังประโมทัย หรือเป็นที่รู้จักในชื่อของหนังตะลุงอีสาน หรือที่ชาวบ้านจะเรียกชื่อตามตัวละคร ทำให้หนังประโมทัยมีชื่อว่าหนังบักตื้อ หนังปลัดตื้ด และหนังบักป่องบักแก้ว ซึ่งหนังประโมทัยได้รับอานิสงส์มาจากการนิยมชมชอบเรื่องราวของรามเกียรติ์ นิทานพื้นบ้าน และวรรณคดีพื้นบ้าน ขณะที่อิทธิพลของหนังตะลุง ทำให้เกิดแนวความคิดที่จะปรับเปลี่ยนการแสดงด้วยการนำเอาดนตรีอีสานมาใช้บรรเลงผสมผสานกับการขับร้องด้วยคำร้องเป็นภาษาภาคกลาง และภาคอีสาน เพื่อให้คนพื้นถิ่นเข้าใจง่ายขึ้น
ซึ่งเสน่ห์ของหนังประโมทัย อยู่ที่ความสนุกสนาน และความตลกทั้งของตัวละคร และผู้พากย์ที่จะต้องใช้น้ำเสียง และสื่อสารเป็นคำร้อง และคำพูดที่เข้าใจง่าย ท่วงท่าของตัวละครเชิดโดยศิลปิน ผ่านผ้าขาวกั้นกลางระหว่างผู้ชม และนักแสดง