xs
xsm
sm
md
lg

ภาคีคณาจารย์นักศึกษา มรภ.โคราชฮือต้าน “เขื่อนแม่วงก์” -ปลุกพลังบริสุทธิ์สู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มภาคีคณาจารย์นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา  แสดงพลังเคลื่อนขบวนต่อต้านโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ของรัฐบาลไปตามถนนในมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา วันนี้ ( 26 ก.ย.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ภาคีคณาจารย์นักศึกษา ม.ราชภัฏโคราช แสดงพลังเคลื่อนขบวนต้าน “เขื่อนแม่วงก์” ผลาญงบฯ 1.3 หมื่นล้านของรัฐบาลรอบมหาวิทยาลัยฯ รณรงค์ตระหนักถึงพิษภัยเขื่อน หวังปลุกพลังบริสุทธิ์ลุกฮือคัดค้านร่วม ปชช.อย่างถึงที่สุด ชี้ทำลายระบบนิเวศ ทรัพยากรป่าไม่ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชมหาศาลประเมินค่าไม่ได้ จี้ รบ.นักการเมืองหยุดชำเราป่า หยุดหากินกับเขื่อน

เมื่อเวลา 12.00 น. วันนี้ (26 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณหน้าอาคารเรียนรวม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา กลุ่มภาคีคณาจารย์นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาประมาณ 120 คน นำโดย ผศ.ดร.สามารถ จับโจร อาจารย์ประจำมหาวิทยาราชภัฏนครราชสีมา ได้รวมตัวกันชุมนุมแสดงพลังพร้อมป้ายข้อความต่างๆ เกี่ยวกับการต่อต้านโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ของรัฐบาล

จากนั้นได้เคลื่อนขบวนไปตามถนนภายในมหาวิทยาลัย เพื่อรณรงค์ให้อาจารย์ นักศึกษาได้ตระหนักถึงพิษภัยของการก่อสร้างเขื่อน และเชิญชวนออกมาแสดงพลังร่วมกันคัดค้านต่อต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์กับประชาชนอย่างถึงที่สุด ซึ่งได้รับความสนใจจากบรรดานักศึกษาและอาจารย์เป็นอย่างมาก ก่อนกลับมาร่วมกันอ่านแถลงการณ์ “หยุดชำเราป่า หยุดแสวงหาผลประโยชน์จากเขื่อนแม่วงก์” ที่บริเวณกลางสี่แยก อาคารเรียนรวมดังกล่าว

โดยรายละเอียดแถลงการณ์ของภาคีคณาจารย์นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เรื่อง “หยุดชำเราป่า หยุดแสวงหาผลประโยชน์จากเขื่อนแม่วงก์” ดังกล่าวระบุว่า จากกระแสของการปลุกผี ปัดฝุ่นโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ตามแผนเงินกู้ของรัฐบาลโดยอ้างเพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ภาคกลางตอนกลางได้กลับมาอยู่ในความสนใจแกมห่วงใยของพี่น้องประชาชนอีกคำรบหนึ่ง โดยเฉพาะพื้นที่ป่าผืนสุดท้ายที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรป่าไม้สักน้อยใหญ่ ตลอดทั้งสัตว์ป่า และพันธุ์พืชที่สมบูรณ์ในระบบนิเวศวิทยา

การที่รัฐบาลโดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 อนุมัติงบประมาณการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์เป็นเงิน 13,280 ล้านบาท โดยใช้เวลาในการก่อสร้างนาน 8 ปี เพื่อกันลำน้ำแม่วงก์ บริเวณเขาสบกก อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ นั้นจะทำให้ต้องสูญเสียพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ถึง 18 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยสำคัญของสัตว์ป่าหลากหลายชนิด รวมทั้งเสือโคร่ง ช้าง และนกยูง รวมทั้งระบบนิเวศวิทยาที่มีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เพราะหากพิจารณาดังข้อเท็จจริงแล้ว ปัจจุบันพื้นที่ป่าต้นน้ำของเมืองไทยเหลือน้อยมาก การแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ยั่งยืนต้องไม่ทำลายป่าและต้องส่งเสริมการปลูกป่าให้เกิดระบบนิเวศ เพราะหากไม่มีป่าไม้ก็จะไม่มีน้ำ “การทำลายป่าจึงเป็นสาเหตุหลักของการเกิดน้ำท่วม อาจกล่าวได้ว่าเขื่อนนั้นเป็นเพียงสถานที่เก็บน้ำชั่วคราว แต่ป่าไม้เป็นที่เก็บน้ำชั่วชีวิต”

ทั้งนี้ มีการบิดเบือนคำพูดของนักการเมืองทุศีลบางคนที่เห็นแก่ตัวบอกว่าพื้นที่สำหรับการสร้างเขื่อนแม่วงก์เป็นป่าเสื่อมโทรม แต่ความเป็นจริงนั้นพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าที่มีชีวิตไม่ใช่ป่าที่ตายไปแล้วเหมือนกับคำพูดของนักการเมืองโมฆบุรุษที่พยายามสนับสนุนโครงการดังกล่าวเอ่ยอ้าง

การสร้างเขื่อนแม่วงก์นอกจากจะต้องสูญเสียต้นสักป่ากว่า 160,000 ต้นแล้ว ก็ไม่มีหลักประกันใดๆ ที่จะสามารถยืนยันว่าจะไม่เกิดน้ำท่วม และแก้ปัญหาน้ำท่วมถาวรได้แต่อย่างใด สิ่งสำคัญคือหายนะของผืนป่าและระบบนิเวศที่อุดมสมบรูณ์ถูกฆาตกรรมอำพรางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ก่อนที่โศกนาฏกรรมอันน่าสลดหดหู่กับผืนป่าสุดท้ายของเมืองไทยจะถูกพิพากษา และดับสูญไปอย่างไร้ค่ากับโครงการอัปยศในครั้งนี้ ภาคีคณาจารย์ นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จึงขอเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลได้โปรดพิจารณาทบทวนระงับโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ เพื่อเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนรวมในระบบนิเวศวิทยาต่อไปในภายภาคหน้า เพราะประเทศที่เจริญเขาหยุดยั้งการสร้างเขื่อนหมดแล้ว บางประเทศเขื่อนถูกทุบทิ้งด้วยซ้ำไป

พร้อมเรียกร้องให้พี่น้องประชาชนทุกหมู่เหล่าร่วมกันอนุรักษ์พื้นที่กว่า 13,000 ไร่ ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.กำแพงเพชร และ จ.นครสวรรค์ ที่มีทรัพยากร เช่น ไม้สัก 50,000 ต้น และต้นไม้อื่น อีกจำนวนมากกว่า 100,000 ต้น จากป่าด้านในที่มีความสมบูรณ์ สัตว์ป่าน้อยใหญ่อย่างน้อยกว่า 549 ชนิด และพันธุ์ปลาอีกกว่า 64 ชนิด และมีเพียง 8 ชนิดเท่านั้นที่สามารถผสมพันธุ์ในแหล่งน้ำเหนือเขื่อนได้ ซึ่งความคุ้มค่าทั้งหมดนี้เพียงเพื่อต้องการแลกกับพื้นที่กักเก็บน้ำเพียง 2% ของปริมาณน้ำที่ท่วมพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง

นี่คือความอัปยศของโครงการและโครงสร้างของนักการเมืองที่ต้องการเพียงแลกรับกับผลประโยชน์ตอบแทนจากการก่อสร้างโดยไม่ได้สนใจกับวิกฤตหายนะที่จะเกิดขึ้นจากผลกระทบของการสร้างเขื่อนแม้แต่น้อย และขอประณามพฤติกรรมของนักการเมืองที่ต้องการแสวงหาผลประโยชน์จากการสร้างเขื่อนแม่วงก์พร้อมกับเรียกร้องไปยังรัฐบาลดังต่อไปนี้

1. หยุดบิดเบือนข้อเท็จจริงกับโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ที่อ้างว่าเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ทั้งที่ในความจริงผลเสียที่จะตามมามีมากกว่า

2. กรณีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี บอกผู้คัดค้านว่า เมื่อถึงคราวจำเป็นต้องเสียสละเพื่อบ้านเมืองนั้น อยากบอกกับนายปลอดประสพว่าการอนุรักษ์พื้นป่าและสิ่งแวดล้อมซึ่งถือเป็นทรัพยากรของชาติและของโลกที่มนุษย์ต้องใช้ร่วมกันนี่แหละคือการเสียสละที่ต้องออกมาปกป้องเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของมวลมนุษยชาติที่แท้จริง

ข้อเท็จจริงคือการสร้างเขื่อนแม่วงก์สามารถช่วยลดปัญหาน้ำท่วมได้เพียงแค่ 1-2%เท่านั้น แต่เหตุไฉนถึงจะดันทุรังว่าจะต้องสร้างให้ได้ด้วยเม็ดเงินจำนวนกว่า 13,280 ล้านบาท ทั้งที่จะเกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศน์ป่าไม้ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช อย่างประเมินค่าไม่ได้ ตรงนี้ใช้ตรรกะหัวแม่เท้าส่วนไหนคิดไม่ทราบ

ขอเรียกร้องให้นิสิต นักศึกษา พี่น้องประชาชนที่หวงแหนในทรัพยากรของชาติและของโลกได้ออกมาคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์และเขื่อนอื่นๆ อีกมากมาย อันจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้

ขอเป็นกำลังใจและคารวะในจิตใจการต่อสู้กับความไม่ถูกต้องของกลุ่มผู้คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ทุกหมู่เหล่าที่ร่วมกันต่อสู้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชุมชน สิ่งแวดล้อม อันจะส่งผลดีที่ยั่งยืนต่อชาติบ้านเมืองและระบบนิเวศในโอกาสต่อไป

ภาคีคณาจารย์ นักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

26 กันยายน 2556










ผศ.ดร.สามารถ จับโจร
กำลังโหลดความคิดเห็น