สระแก้ว - เกษตรกรชาวไร่อ้อย จังหวัดสระแก้ว กว่า 2,000 คน รวมตัวหน้าศาลากลางจังหวัด เพื่อเรียกร้องให้จังหวัดช่วยเหลือเกษตรกรในการเปิดรับซื้ออ้อย
วันนี้ (25 ก.ย.) ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสระแก้ว กลุ่มสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพาและเกษตรกรชาวไร่อ้อยจังหวัดสระแก้วกว่า 2000 คน นำโดย นายธวัชชัย โตจีน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระแก้ว ได้มายื่นหนังสือต่อ นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว
ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องของกลุ่มเกษตรกร ประกอบด้วย 1.ให้จัดมีการประชุมพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างภาครัฐ และเอกชน (โรงงานน้ำตาล) เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเรียนเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อร่วมกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาของเกษตรกร โดยเฉพาะในฤดูหีบอ้อยที่จะถึงนี้โดยเร็วที่สุด
2.ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว มีหนังสือไปยังศาลปกครองกลาง เพื่อขอความเมตตาให้ศาลปกครองกรุณาเร่งพิจารณาคดีคำฟ้องร้องของเกษตรกรชาวไร่อ้อยจังหวัดสระแก้ว โดยเร็วที่สุด ก่อนจะถึงฤดูหีบอ้อยนี้ และให้ส่งสำเนาหนังสือฉบับนี้ถึงคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจการพาณิชย์ และอุตสาหกรรม วุฒิสภา ในฐานะหน่วยงานที่รับเรื่องร้องทุกข์ของเกษตรกรชาวไร่อ้อยจังหวัดสระแก้ว
3.กรุณาประสาน และติดตามให้กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งยกเลิกหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี และเป็นธรรมต่อเกษตรกร โดยเร็วที่สุด
และ 4.กรุณาผลักดันแผนพัฒนาจังหวัดสระแก้ว ด้านการเกษตรให้เกิดกระบวนการคุ้มครอง และปกป้องสิทธิของภาคเกษตรกรรมและพัฒนาระบบอุตสาหกรรมสีเขียว สนับสนุนการจัดจัดการพลังงานหมุนเวียน เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นจังหวัดต้นแบบตามนโยบายของรัฐบาลอย่างยั่งยืน นอกจากนั้น เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาการแอบอ้างความเดือดร้อนของเกษตรกรไปเอื้อประโยชน์ และสนับสนุนการฉ้อฉลระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม กับภาคเอกชนที่ผูกขาดรายเดียวในจังหวัดสระแก้ว
การยื่นหนังสือในครั้งนี้ นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว รับเรื่องและพร้อมจะให้การช่วยเหลือปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นหากความเดือดร้อนของเกษตรกร เป็นไปตามหนังสือที่ร้องเรียนมา ก่อนกรณีที่มีการเรียกร้องให้โยกย้ายอุตสาหกรรมจังหวัดออกนอกพื้นที่นั้น จะต้องเสนอหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อไป
ด้านนายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา กล่าวว่าชาวไร่อ้อย ได้เรียกร้อง กับทางรัฐบาล ขอเปิดโรงงานน้ำตาลเพิ่มอีก 1 แห่ง มาตั้งแต่ปี 2549 เนื่องจากโรงงานน้ำตาลเดิม ที่มีอยู่ไม่สามารถองรับผลผลิตของชาวไร่ได้ทั้งหมด ทำให้สามารถกดราคารับซื้อจากชาวไร่ได้ ในฤดูการผลิตที่ผ่านมา ชาวไร่ต้องถูกกดราคารับซื้อเพียงตันละ 800 บาท จากราคาประกัน 1,200บาท ทำให้ต้องได้รับความเดือดร้อนกันอย่างมาก นอกจากนั้น ขาวไร่บางราย ยังไม่สามารถตัดอ้อยส่งโรงงานได้ทัน เนื่องจากโรงงานปิดหีบไปก่อน ต้องปล่อยให้อ้อย ยืนต้นตาย ขาดทุนกันมหาศาล