xs
xsm
sm
md
lg

จากเชียงดาวถึงเชียงใหม่! นักอนุรักษ์เดินเท้าค้านสร้างเขื่อน-หนุน “ศศิน” ต้านเขื่อนแม่วงก์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - กลุ่มนักอนุรักษ์เชียงใหม่เดินเท้า 5 วัน 90 กม. จากดอยหลวงเชียงดาว เข้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์กลางเมือง แสดงจุดยืน “ไม่เอาเขื่อน-หนุน “ศศิน” เดินเท้าค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์ แกนนำชี้ออกเดินเพื่อสนับสนุน “ศศิน” พร้อมแสดงออกไม่เห็นด้วยแนวทางบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ชี้รัฐใช้เขื่อนเป็นข้ออ้างแก้ปัญหาบริหารจัดการน้ำ ทั้งที่แก้ปัญหาวิธีอื่นได้ แนะต้องทบทวนวิธีคิดใหม่

คณะของ นายนิคม พุทธา เลขาธิการเครือข่ายคุ้มครองสัตว์ป่าไทย ซึ่งออกเดินเท้าจากดอยหลวงเชียงดาว มุ่งหน้าเข้าสู่ตัวเมืองเชียงใหม่ เดินทางมาถึงลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์แล้วในวันนี้ (22 ก.ย.) หลังจากนายนิคม และคณะได้เริ่มออกเดินจากดอยหลวงเชียงดาว ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย. ที่ผ่านมา รมระยะทางทั้งสิ้น 90 กิโลเมตร

ในวันนี้ซึ่งเป็นการเดินช่วงสุดท้าย ตั้งแต่ที่ทำการองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ถึงอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ นอกจากจะมีผู้กลุ่มที่สนับสนุนการคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์เข้าร่วมเดินกับคณะของนายนิคมแล้ว ยังมี ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ นักวิชาการ และเจ้าของผลงานหนังสือ “เดินสู่อิสรภาพ” ร่วมในการเดินครั้งนี้อีกด้วย

การเดินของ นายนิคม และคณะซึ่งทำในช่วงเวลาเดียวกันกับการเดินคัดค้านรายงานการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) จากสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร และคณะ ซึ่งเดินทางจากพื้นที่ลานนกยูง อันเป็นพื้นที่การสร้างเขื่อนแม่วงก์ ตั้งแต่วันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา และมุ่งหน้าสู่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครในวันนี้

นอกจากจะเป็นการแสดงออกถึงการสนับสนุน และให้กำลังใจแก่ นายศศิน และคณะ ในการดำเนินการดังกล่าวแล้ว ยังเป็นการแสดงออกถึงการไม่เห็นด้วยกับนโยบายการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาล ที่จะมีการก่อสร้างเขื่อนหลายแห่งขึ้นในพื้นที่ภาคเหนืออีกด้วย

นายนิคม กล่าวว่า การเดินของตน และคณะในครั้งนี้เป็นการแสดงออกถึงการไม่เอาเขื่อนเช่นเดียวกันกับคณะของนายศศิน ประเด็นสำคัญที่ต้องการแสดงออกผ่านการเดินรวม 5 วันในครั้งนี้ก็คือ

1.สนับสนุนผลการคัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์ เนื่องจากเห็นว่ายังมีข้อบกพร่องอยู่มาก ควรจะนำมาทบทวน และศึกษาให้ละเอียดรอบคอบกว่านี้

2.ไม่เห็นด้วยกับการที่ภาครัฐมักหยิบยกแนวทางการสร้างเขื่อนมาเป็นข้ออ้างในการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำในประเทศ

ทั้งนี้ ยอมรับว่าประเทศไทยมีปัญหาเกี่ยวกับน้ำทุกปี ไม่ว่าน้ำมาก หรือน้ำน้อย แต่ที่ผ่านมา รัฐไม่ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาพื้นที่ป่าธรรมชาติเท่าที่ควร แต่มุ่งเน้นเองการก่อสร้างต่างๆ ทั้งที่การแก้ปัญหาสามารถทำได้โดยการรักษาป่า และการฟื้นฟูแหล่งน้ำต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพในการรองรับ และระบายน้ำได้

และ 3.ไม่เห็นด้วย และต้องการให้ภาครัฐทบทวนการสร้างเขื่อนต่างๆ ในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่อีกด้วย

ขณะที่ ดร.ประมวล กล่าวว่า การทำกิจกรรมในวันนี้ไม่ใช่การบังคับให้เชื่อ แต่เป็นการเชิญชวน โดยคนที่ตระหนักถึงคุณค่าของธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมซึ่งได้พยายามดำเนินกิจกรรมเพื่อให้คนกลุ่มอื่นๆ เกิดความตระหนักในลักษณะเดียวกันขึ้น จะเห็นได้ว่า การเคลื่อนไหวนี้ไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องของส่วนรวม และเมื่อมีการแสดงออกไปแล้วก็จะนำไปสู่การเรียนรู้ต่อไป

ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญซึ่งสังคมควรจะระลึกถึงก็คือ ให้ธรรมชาตินั้นเป็นสมบัติของชาติที่ควรจะช่วยกันดูแลรักษา และสืบทอดต่อไปสู่คนรุ่นอื่นๆ และไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถสร้างขึ้นมาทดแทนได้ ไม่ว่าจะใช้งบประมาณมหาศาลเท่าใดก็ตาม
นายนิคม พุทธา (ซ้าย) และ ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ (ขวา)



กำลังโหลดความคิดเห็น