บุรีรัมย์ - ที่ประชุมรับฟังความคิดเห็น ปชช.ชาวบุรีรัมย์ มีมติเห็นชอบเสนอสร้าง “ทางลอด” แทน “สะพานลอย” ข้ามทางรถไฟ หลังต่อต้านมานาน ชี้สร้างผลกระทบน้อยกว่าทั้งด้านมลพิษ และบดบังภูมิทัศน์ คาดก่อสร้างปี 2559-2560 ผลาญงบฯ อื้อ 1 พันล้าน ภายใต้เงินกู้ 2.2 ล้านล้านของรัฐบาล
วันนี้ (14 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมทางหลวง ร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาได้จัดการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการ (กลุ่มย่อยครั้งที่ 2) โครงการสำรวจและออกแบบสะพานลอยข้ามทางรถไฟ ต.ชุมเห็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เพื่อเสนอรูปแบบ และสำรวจความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ เพื่อลดปัญหาการจราจรที่คับคั่ง และลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นสร้างความสูญเสียต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน
โดยพื้นที่โครงการตั้งอยู่ตำบลชุมเห็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ บริเวณจุดตัดรถไฟตั้งประชิด 3 ทางแยก จุดตัดระหว่างทางหลวงหมายเลข 288 หรือทางเลี่ยงเมืองด้านทิตไต้ กับทางหลวงหมายเลข 219 ซึ่งเป็นบริเวณที่มีประชาชนอยู่อาศัยค่อนข้างหนาแน่น และเป็นที่ตั้งสถานประกอบธุรกิจ ได้แก่ โรงแรม ร้านอาหาร บริษัทห้างร้าน รวมทั้งเป็นที่ตั้งโรงเรียน 2 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนมารีย์อนุสรณ์ และโรงเรียนอนุบาลธีรา ซึ่งที่ผ่านมา ชาวบ้านสองข้างทางได้ร่วมกันคัดค้านโครงการสำรวจและออกแบบสะพานข้ามทางรถไฟ ของกรมทางหลวง ที่ได้ลงมาสำรวจมานานกว่า 1 ปีแล้ว
สำหรับการมาเสนอรูปแบบ และสำรวจความคิดเห็นการก่อสร้างสะพานและถนน ที่เป็นจุดตัดข้ามทางรถไฟในครั้งนี้ มติในที่ประชุมส่วนใหญ่ต่างคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ เนื่องจากกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจ บริษัท ห้างร้าน ประชาชน เกรงว่าจะได้รับผลกระทบจาก มลพิษทางเสียง ฝุ่นละออง และบทบังภูมิทัศน์ ซึ่งจะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน ผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างที่ผ่านมา
จึงเสนอขอให้กรมทางหลวงได้สร้างทางลอดทางรถไฟแทน เพราะจะทำให้ได้รับผลกระทบน้อยลง เจ้าหน้าที่กรมทางหลวงรับปาก พร้อมที่จะนำข้อมูลความต้องการดังกล่าวไปนำเสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณาให้ดำเนินการตามมติที่ประชุมร้องขอต่อไป ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างในปี 2559-2560 ใช้งบประมาณจำนวนมากร่วม 1,000 ล้านบาท ภายใต้งบประมาณเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาทของรัฐบาล
นายวสันต์ เทพนคร ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านไม่เห็นด้วยกับการสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ แต่เมื่อทางกรมทางหลวงมีการเสนอรูปแบบทางเลือกมาให้ เสียงส่วนใหญ่จึงเห็นด้วยกับการสร้างทางลอดทางรถไฟแทน อีกทั้งมติที่ประชุม กรอ.จังหวัดบุรีรัมย์ ก็เห็นชอบให้สร้างทางลอดรถไฟด้วย เพราะจะสร้างผลกระทบต่อประชาชนสองข้างทางน้อยที่สุด ส่วนตัวเห็นว่าน่าจะมีการขยายถนนสองข้างทางข้ามทางรถไฟแทน อย่างไรก็ตาม หากสิ่งไหนเมื่อก่อสร้างแล้วจะส่งผลกระทบต่อประชาชนทางภาครัฐก็ควรมีการพิจารณาถึงความเหมาะสมด้วย
ทางด้าน นายธานินทร์ ริรัตน์พงศ์ วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ สำนักสำรวจออกแบบ กรมทางหลวง กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้สร้างทางลอดทางรถไฟ แทนการสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ ที่มีความยาวกว่า 600 เมตร ใช้งบประมาณจำนวนมาก และจะนำข้อมูลความต้องการดังกล่าวไปเสนอกรมทางหลวง และกระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณาในการดำเนินการดังกล่าวตามที่ที่ประชุมร้องขอ และก่อนจะมีการก่อสร้างจะต้องมีการทำประชาพิจารณ์เพื่อฟังความคิดเห็นของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง