ศูนย์ข่าวศรีราชา - รพ.ชลบุรี ผุดอาคารอุบัติเหตุหลังใหม่ขนาด 6 ชั้น รองรับกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุ และอุบัติภัยซึ่งมีแนวโน้มมากขึ้น ทั้งในชลบุรี และใกล้เคียง ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตของเมือง และจำนวนรถยนต์
วันนี้ (10 ก.ย.) รศ.นพ.อัษฎา ตียพันธ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลบุรี กล่าวว่า การขยายตัวของเมือง และภาคอุตสาหกรรมใน จ.ชลบุรี และจังหวัดใกล้เคียง ประกอบกับการเป็นเมืองท่องเที่ยว ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพอนามัยของประชาชนเท่านั้น แต่ยังมีส่วนทำให้อุบัติเหตุบนท้องถนน และอุบัติภัยต่างๆ มีมากตามไปด้วย
ดังนั้น เพื่อดูแลปัญหาและลดการสูญเสียชีวิต โรงพยาบาลชลบุรี จึงจัดสร้างอาคารอุบัติเหตุหลังใหม่ ขนาด 6 ชั้น บริเวณด้านหน้าโรงพยาบาล เพื่อให้ทันต่อการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ เนื่องจากตึกอุบัติเหตุเดิมอยู่ด้านใน ทำให้เมื่อมีคนไข้เข้ามาต้องนำรถยนต์มาจอดที่อาคารด้านหลังพระรูป (พระบิดาแห่งการแพทย์ไทย) ซึ่งอาจทำให้รักษาไม่ทันเวลา ดังนั้น หากมีอาคารอุบัติเหตุอยู่ติดถนนจะทำให้การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเร็วขึ้น ลดความเสี่ยงของการเสียชีวิต และสามารถตอบโจทย์ปัญหาอุบัติภัยที่มีมากในจังหวัด โดยเฉพาะช่วงเทศกาล
ซึ่งอาคารอุบัติเหตุแห่งนี้จะใช้งบประมาณ 122 ล้านบาท ไม่รวมค่าจัดซื้อครุภัณฑ์ ซึ่งจะใช้เงินของมูลนิธิโรงพยาบาลชลบุรีส่วนหนึ่ง และส่วนหนึ่งเปิดโอกาสให้ผู้มีจิตศรัทธาได้ทำบุญร่วมกัน ซึ่งขณะนี้มีประชาชนใน จ.ชลบุรี และใกล้เคียงร่วมบริจาคสมทบทุนสร้างอาคารอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าอาคารจะแล้วเสร็จไม่เกินปลายปีหน้า จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการขอรับพระราชทานชื่ออาคาร จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
รศ.นพ.อัษฎา กล่าวว่า นโยบายของโรงพยาบาลนอกจากจะเพิ่มศักยภาพเครื่องมือทางการแพทย์ และจำนวนบุคลากรให้เพียงพอต่อจำนวนคนไข้นอก ที่มีไม่น้อยกว่า 3,000 คนต่อวัน และคนไข้ในอีกกว่า 800 คนต่อวันแล้ว ยังมีเป้าหมายเป็นโรงพยาบาลศูนย์ของรัฐ ที่มีมาตรฐานการรักษา และงานบริการเป็นอันดับ 1 ของประเทศอีกด้วย
ซึ่งอีกไม่กี่เดือนจะเชิญหน่วยงานระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นผู้พิจารณามาตรฐาน JCI มาประเมินมาตรฐานงานบริการ หลังได้รับการรับรองมาตรฐาน HA ซึ่งมั่นใจว่าจะเป็นโรพงยาบาลรัฐแห่งแรก และแห่งเดียวของประเทศที่ได้มาตรฐานนี้ เนื่องจากมีความพร้อมในทุกด้าน รวมทั้งการมีศูนย์แห่งความเป็นเลิศถึง 4 ศูนย์ ที่กระทรวงสาธารณสุขรับรองแล้ว ว่า เรามีแพทย์ซึ่งมีความเชี่ยวชาญการรักษาเชิงลึก โดยไม่ต้องส่งต่อคนไข้ไปโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ศูนย์โรคหัวใจ ศูนย์รักษาผู้ป่วยมะเร็ง ศูนย์รักษาโรคที่เกี่ยวกับทารกแรกเกิด และศูนย์อุบัติเหตุ
ทั้งนี้ โรงพยาบาลชลบุรี ถือเป็นโรงพยาบาลตติยภูมิระดับศูนย์ ที่หมายถึงไม่ได้เป็นแค่โรงพยาบาลประจำจังหวัด แต่ยังเป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย สามารถรับคนไข้ส่งต่อจากโรงพยาบาลอื่นในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคตะวันออก และในอีก 2 ปีข้างหน้า จะครบรอบการดำเนินงานปีที่ 96 จากแรกเริ่มที่เป็นเพียงโรงพยาบาลขนาดเล็ก ต่อมา ขยายตัว และเติบโตตามลำดับ จนมีกว่า 800 เตียง มีบุคลากรทางการแพทย์ครอบคลุมทุกสาขารวม 180 คน แต่ยังประสบปัญหาพยาบาลไม่เพียงพอต่อการดูแลคนไข้ จนเกิดข้อร้องเรียนมากมาย
ซึ่งขณะนี้เราได้พยายามแก้ปัญหาพยาบาลขาดแคลน แต่ก็ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้ไม่สามารถทำได้ง่ายๆ อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมามูลนิธิชลบุรีโรงพยาบาลได้ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนในพื้นที่ที่มีความพร้อมที่จะเรียนพยาบาล เพื่อศึกษาต่อในวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ชลบุรี คิดว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้า จะมีพยาบาลเข้าสู่ระบบประมาณ 200-300 คน น่าจะบรรเทาปัญหาได้บ้าง แต่เนื่องจากวิทยาลัยพยาบาลแห่งนี้ไม่ใช่ของโรงพยาบาลชลบุรี ดังนั้น บุคลากรที่ผลิตได้ในแต่ละปีกว่า 200 คน จึงถูกกระจายไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ด้วย
รศ.นพ.อัษฎา กล่าวว่า สำหรับปัญหาที่จอดรถซึ่งถือเป็นปัญหาอมตะนิรันดร์กาล เพราะแม้จะจัดสร้างอาคารจอดรถขนาด 7 ชั้น ก็ยังไม่เพียงพอ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะคนชลบุรีและจังหวัดใกล้เคียงมีฐานะดี คนไข้ 1 คนที่เข้ารับการรักษา จะมีรถยนต์1 คัน ไม่นับรวมรถยนต์คนไข้ใน และของเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ ยังมีพนักงานบริษัทที่เห็นโรงพยาบาลเป็นที่จอดรถ พากันนำรถยนต์มาจอดทิ้งไว้ก่อนนั่งรถบริษัทไปทำงาน
แม้จะจัดที่จอดรถเพิ่มอีกเป็น 100 ไร่ ก็คงไม่เพียงพอต่อจำนวนรถยนต์ หากจะเข้มงวดก็ถูกต่อว่าจากเจ้าของรถยนต์ ว่า เป็นที่สาธารณะ จึงถือว่าเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก ทำได้แต่เพียงขอความร่วมมือจากผู้ใช้รถยนต์ให้เห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน