ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - “ปกรณ์” อดีต ส.ส.เชียงใหม่ และสมาชิกบ้านเลขที่ 111 เสียชีวิตแล้วช่วงเช้ามืดวันนี้ ระหว่างรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช เตรียมเคลื่อนศพกลับบ้านเกิดที่เชียงใหม่เย็นนี้
วันนี้ (1 ก.ย.) รายงานข่าวจาก จ.เชียงใหม่แจ้งว่า เมื่อช่วงเช้ามืด นายปกรณ์ บูรณุปกรณ์ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ พรรคไทยรักไทย และอดีตสมาชิกบ้านที่ 111 ได้เสียชีวิตลงที่โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ ด้วยวัย 55 ปี ระหว่างเข้ารับการรักษาโรคหัวใจ โดยจะเคลื่อนศพจากกรุงเทพฯ ด้วยเครื่องบินกลับมาถึง จ.เชียงใหม่ บ้านเกิดช่วงเย็นวันนี้ และนำศพไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร
ทั้งนี้ นายปกรณ์เกิดเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2501 เป็นน้องชายนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ โดยนายปกรณ์เริ่มลงเล่นการเมืองท้องถิ่นระดับเทศบาลนครเชียงใหม่ในยุคที่เกิดปัญหาขยะล้นเมืองเชียงใหม่ และสามารถนำทีมล้มกลุ่ม “เสธ.ม่อย” ที่กุมอำนาจการบริหารในเทศบาลนครเชียงใหม่ อย่างราบคาบ จนได้เป็นนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ 2 สมัย ปี 2541-2543
จากนั้นนายปกรณ์ได้เข้าร่วมงานการเมืองระดับชาติกับพรรคชาติพัฒนา เตรียมลงสมัคร ส.ส.ในปี 2544 แต่สุดท้ายได้เปลี่ยนไปลงสมัคร ส.ส.ในสังกัดพรรคไทยรักไทย และชนะการเลือกตั้งได้เป็น ส.ส. ต่อมาในปี 2549 ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีจากการเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย กระทั่งครบกำหนดจึงเริ่มกลับมามีบทบาททางการเมืองอย่างชัดเจนอีกครั้ง และสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2555
ย้อนรอย “ปกรณ์ บูรณุปกรณ์”
“ปกรณ์ บูรณุปกรณ์” ถือเป็นน้องคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 11 คนของตระกูล ที่โดดเด่นขึ้นมาในแวดวงการเมือง โดยเฉพาะที่ก้าวกระโดดเข้ามาในแวดวงการเมืองระดับชาติก่อนพี่ชายคนอื่น
ทั้งยังเป็นประธานกรรมการบริหารกลุ่มอรสิริน หมู่บ้านจัดสรรที่ใช้ชื่อลูกสาวของ “บุญเลิศ บูรณุปกรณ์” นายก อบจ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพี่ชายมาตั้งเป็นชื่อโครงการ เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว หลังจากเริ่มต้นหมู่บ้านอรสิริน 1 ถนนเชียงใหม่-แม่โจ้ เมื่อปลายปี 2549 เปิดขายเมื่อปี 2550 ซึ่งอรสิริน 1 จำนวน 135 ยูนิตขายหมดภายใน 4 เดือน
จากนั้น “บูรณุปกรณ์” ก็ใช้ที่ดินที่มีอยู่ในมือจำนวนมากสร้างบ้านจัดสรร “อรสิริน” ขายอย่างต่อเนื่องถึง 14 โครงการ ภายในระยะเวลาเพียง 5-6 ปี แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าปกรณ์ไม่มีทายาทแม้แต่คนเดียว
ตระกูลบูรณุปกรณ์เริ่มต้นมาจากครอบครัวชาวจีนที่มีฐานะยากจน ต้นตระกูลคือ “นายใช้” ผู้เป็นพ่อที่เดินทางจากเมืองจีนมาปักหลักอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ เปิดร้านขายของชำชื่อ “จิ้มชุ่ยใช้” อยู่ย่านกาดหลวง กับ “นางจิตรา” ผู้เป็นแม่ มีลูก 11 คนช่วยกิจการร้านเล็กๆ แห่งนั้น
จนกระทั่งปี 2512 นายใช้เห็นว่ากิจการร้านขายของชำมีแนวโน้มไม่ดี จึงตัดสินใจขยายกิจการด้วยการเปิดร้านขายผ้าพื้นเมืองชื่อ “ทัศนาภรณ์” ย่านถนนท่าแพ รับผ้าพื้นเมืองจากแหล่งต่างๆ เช่น ป่าซาง (ลำพูน) หรือสันกำแพง (เชียงใหม่) มาขาย ซึ่งนับว่าเป็นจุดเปลี่ยนหนึ่งที่ทำให้ครอบครัวมีฐานะดีขึ้นตามลำดับ และมีเงินที่ได้จากการค้าขายมากพอสำหรับที่จะนำไปลงทุนต่อยอดธุรกิจเพิ่มเติม
ปี 2518 ซึ่งเป็นช่วงที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาท่องเที่ยวในเชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง คนในครอบครัวได้ตัดสินใจเปลี่ยนจากร้านขายผ้ามาร่วมกันตั้งโรงงานเฟอร์นิเจอร์ไม้ขึ้นในนาม “เชียงใหม่ทัศนาภรณ์” ย่านถนนเชียงใหม่-สันกำแพง เพื่อจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีกำลังซื้อสูง ส่งผลทำให้กิจการของตระกูลบูรณุปกรณ์เติบโตแบบก้าวกระโดด รวมทั้งการเข้าเทกโอเวอร์ บริษัท เชียงใหม่สุดาลักษณ์ จำกัด โรงงานเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่ใหญ่กว่าของตัวเองถึง 3 เท่า ด้วยเงิน 200 ล้านบาท ในปี 2535
จากนั้นพี่น้องตระกูลบูรณุปกรณ์จึงได้ทำการขยายโรงงานเพิ่มเติมอีก 4-5 แห่งย่านถนนเชียงใหม่-สันกำแพง เพื่อทำการผลิตเครื่องเขิน เครื่องทองเหลือง เครื่องเงิน ทำร่ม รวมทั้งทำร้านจำหน่ายของที่ระลึกในย่านเดียวกัน
ปี 2538 กลุ่มบูรณุปกรณ์ได้กระโดดเข้าสู่ธุรกิจโรงแรมด้วยการสร้างโรงแรมขนาด 400 ห้องย่านถนนช้างคลาน ชื่อ “ดิ เอ็มเพรส” ตามด้วย “เดอะปาร์ค” ตั้งอยู่บนถนนเส้นเดียวกัน รวมทั้งยังได้ทำการปรับปรุงตึกแถว 5 ชั้นที่มีอยู่บริเวณไนท์บาซาร์ เป็นโรงแรมในชื่อ “ดาวน์ทาวน์อินน์” ซึ่งจุดนี้เองที่เรียกได้ว่าธุรกิจของกลุ่มบูรณุปกรณ์เป็นแพกเกจครอบคลุมการท่องเที่ยวอย่างครบวงจรแล้ว
นอกจากนี้ ปกรณ์ และพี่ชาย คือ “บุญเลิศ” ยังได้ลงทุนด้วยเงินร่วม 700 ล้านบาทเพื่อทำธุรกิจโรงแรมระดับห้าดาวย่านถนนช้างคลาน ในชื่อของ “เมอริตัส เชียงใหม่” บริหารงานในนามบริษัท เชียงใหม่ริเวอร์ไซด์ พาวิลเลียน สปา รีสอร์ต จำกัด
ตระกูลบูรณุปกรณ์จึงนับเป็นตระกูลเก่าแก่สายหนึ่งของเชียงใหม่ ปัจจุบันถือว่าก้าวขึ้นมาครองความยิ่งใหญ่ทั้งด้านธุรกิจ การเมือง ในระดับแถวหน้าของเชียงใหม่อย่างไม่อาจปฏิเสธได้
โดยมีเครือข่ายธุรกิจครอบคลุมทั้งเฟอร์นิเจอร์ไม้ โรงแรม ร้านจำหน่ายของที่ระลึก และธุรกิจพัฒนาที่ดิน รวมมูลค่าหลายพันล้านบาท