xs
xsm
sm
md
lg

“สื่อสารฯ มช”.จัดสัมมนาสื่อท้องถิ่นในยุคหลอมรวม ชี้ต้องปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สื่อสารมวลชน มช.จับมือ กฟผ.จัดสัมมนา “การสื่อสารในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี” นักวิชาการจากจุฬาฯ ชี้สื่อท้องถิ่นมีทั้งโอกาสจากการเปิดกว้างและความยากจากข้อจำกัดหลายด้าน ยันท้องถิ่นต้องเน้นเนื้อหาเฉพาะสู้ ด้านผู้บริหารสื่อเช่นความเปลี่ยนแปลงวิ่งตามเทคโนโลยี-ต้องก้าวให้ทัน ส่วนอาจารย์ มช.ระบุโทรทัศน์ปัญหารอรับยุคหลอมรวมเพียบ-ต้องดูว่าบทบาทชุมชนที่จะเข้ามาผลิตสื่อมีมากน้อยแค่ไหน ส่วนอดีตคณบดีมองสื่อมวลชนต้องปรับตัวให้ทำงานได้หลายสื่อหลายแบบ กับต้องไม่ลืมว่าเนื้อหาสำคัญ-หากไม่ดีเรื่ออื่นก็จบ

วันนี้ (25 ส.ค.56) ที่โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ จังหวัดเชียงใหม่ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับฝ่ายสื่อสารองค์การ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้จัดการสัมมนาสื่อมวลชนท้องถิ่นภาคเหนือ เรื่อง “การสื่อสารในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี” ขึ้น โดยมี ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ คณบดีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใม่ และนายธาตรี ริ้วเจริญ ผุ้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์การ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ท่ามกลางสื่อมวลชนจากจังหวัดต่างๆ ในพื้นที่ภาคเหนือและนักวิชาการที่เข้าร่วมการสัมมนา

การสัมมนาดังกล่าวซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับฝ่ายสื่อสารองค์การ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีสำรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิชาการและสื่อมวลชนเกี่ยวกับความรู้ทางด้านการสื่อสารมวลชนในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี โดยมีสื่อมวลชนและนักวิชาการด้านการสื่อสารมวลชนจากจังหวัดต่างๆ ภาคเหนือ จำนวน 70 คนเข้าร่วม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการปาฐกถาเรื่อง “ภูมิทัศน์สื่อยุคหลอมรวมกับการพัฒนาท้องถิ่น” ว่า การเปิดเสรีคลื่นความถี่ที่กำลังเกิดขึ้นนั้นในด้านหนึ่งถือเป็นโอกาสที่เพิ่มขึ้นของสื่อ โดยเฉพาะในส่วนของทีวีดิจิทัลที่จะมีการนำไปเผยแพร่ในทุกโครงข่าย แต่ในขณะเดียวกันก็จะทำให้เกิดการแข่งขันสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งในส่วนของสื่อท้องถิ่นนั้นอาจจะเป็นเรื่องยากในการแข่งขันด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า นอกจากนี้ทิศทางการพัฒนาในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลยังเป็นไปในลักษณะที่เน้นเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีมากกว่าการกระจายการเข้าถึงระบบดิจิทัลให้ทั่วถึงและเท่าเทียม การจะสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นได้จึงต้องสร้างกติกาที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนสามารถมีส่วนร่วม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิรงรองกล่าวว่า สิ่งที่จะทำให้สื่อท้องถิ่นสามารถแข่งขันในยุคหลอมรวมได้ นอกจากจะต้องสร้างความรู้และทักษะที่จำเป็นแล้ว ยังต้องเปิดโอกาสให้ชุมชนหรือท้องถิ่นมีส่วนในการผลิตเนื้อหาที่หลากหลาย โดยให้ความสำคัญในเรื่องของข่าวสารในท้องถิ่น ประเพณีวัฒนธรรมที่สำคัญ เป็นต้น รวมทั้งพยายามสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในการนำเสนอเนื้อหา รวมทั้งต้องมองถึงการผลิตเนื้อหาที่สามารถนำไปเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ ได้หลากหลายรูปแบบ ขณะเดียวกันต้องมีการส่งเสริมจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้ท้องถิ่นมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่รองรับการผลิตและประกอบกิจการสื่อได้ในระดับที่ใกล้เคียงกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการในท้องถิ่นหรือระดับชุมชนสามารถแข่งขันได้ หรืออาจใช้รูปแบบของการสร้างดิจิทัล ฮับที่เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตเนื้อหาต่างๆ สามารถนำเนื้อหาที่ตนผลิตมาเผยแพร่ร่วมกันและแลกเปลี่ยนในการนำไปใช้ได้

ส่วนการเสวนาในหัวข้อ “การสื่อสารในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี” ซึ่งมี รองศาสตราจารย์สดศรี เผ่าอินจันทร์ อดีตคณบดีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายสราวุฒิ แซ่เตี๋ยว ผุ้อำนวยการหนังสือพิมพ์เชียงใหม่นิวส์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ลัดดาวัลย์ อินทจักร หัวหน้าแขนงวิทยุโทรทัศน์ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นวิทยากรนั้น ได้กล่าวถึงการปรับตัวให้เข้ากับยุคหลอมรวมสื่อในแง่มุมต่างๆ โดยนายสราวุฒิกล่าวว่าทิศทางของสื่อจะสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงขอเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ทำให้คนที่ทำงานด้านสื่อต้องคอยปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ในอนาคตเชื่อว่าสื่อใหม่ๆ จะเกิดมากขึ้น และมีรูปแบบการนำเสนอที่หลากหลายและต้นทุนที่ลดลง ขณะเดียวกันสื่อบางอย่างก็จะลดบทบาทหรือต้องปรับเปลี่ยนไปสู่การนำเสนอในรูปแบบอื่นๆ อย่างไรก็ตามสิ่งที่สื่อท้องถิ่นจะใช้ในการแข่งขันได้คือความรู้ความชำนาญในเรื่องของชุมชนและท้องถิ่นที่ตนมีส่วนร่วมซึ่งจะสามารถตอบสนองความต้องการขอผู้บริโภคได้

ขณะที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ลัดดาวัลย์กล่าวว่า ในส่วนของกิจการวิทยุโทรทัศน์ที่จะมีบทบาทสำคัญในยุคหลอมรวมสื่อ ทั้งในส่วนของโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่และไม่ใช้คลื่นความถี่นั้นจะต้อพบกับปัญหาทั้งในแง่ของโครงสร้าง เช่นการเติบโตแบบไร้ทิศทาง แหล่งทุนสนับสนุนการประกอบการ ปัญหาด้านเนื้อหา เช่นคุณภาพของบุคลากร มาตรฐานของรายการและโฆษณา และปัญหาด้านการกำกับดูแล อาทิเช่นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง องค์กรที่จะมาควบคุมดูแล หรือการประกอบกิจการทั้งในส่วนของการบริการชุมชนของภาคประชาชนและของเอกชน เป็นต้น ซึ่งต้องติดตามดูว่าการที่ชุมชนท้องถิ่นจะเข้ามามีส่วนในการสร้างสรรค์เนื้อหาและผลิตสื่อนั้นจะเป็นไปได้และได้รับการสนับสนุนมากน้อยเพียงใด

ด้านรองศาสตราจารย์สดศรีกล่าวว่า สื่อมวลชนจะต้องมีความเข้าใจและรู้เท่าทันในเรื่องของการหลอมรวมสื่อ โดยจะต้องก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ต้องพัฒนาความสามารถในการทำงานสื่อให้มีความหลากหลาย และมีความรู้กับทักษะที่สามารถนำไปใช้ได้ในสื่อหลายๆ รูปแบบ รวมทั้งต้องมีมุมมองการบริหารจัดการที่เข้าใจแอละก้าวทันทิศทางการหลอมรวมสื่อด้วย เพราะเมื่อมีความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้น สื่อก็จำเป็นจะต้องมีการปรับตัวเพื่อให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นสื่อในส่วนกลางหรือท้องถิ่น บางครั้งจากรูปแบบเดิมๆ ก็อาจจะต้องปรับไปสู่รูปแบบใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมและความสนใจของผู้คน

อย่างไรก็ตาม เรื่องเนื้อหายังคงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เพราะรูปแบบและเทคโนโลยีต่างๆ เป็นเครื่องมือที่จะใช้ในการนำสารส่งไปยังผู้รับ แต่ถ้าเนื้อหานั้นไม่ดี ไม่มีคุณค่าต่อผู้รับ แม้รูปแบบจะน่าสนใจก็ไม่เกิดประโยชน์ โดยทั้งสองสิ่งจะต้องพัฒนาและเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน และในขณะเดียวกันการนำเสนอเนื้อหาต่างๆ ไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็จะต้องคำนึงถึงเรื่องของคุณธรรมจริยธรรมควบคู่กันไปด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น