xs
xsm
sm
md
lg

CPF สรรหาวัตถุดิบทดแทนปลาป่นหนุนประมงยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - CPF สรรหาวัตถุดิบทดแทนปลาป่นหนุนประมงยั่งยืนต่อเนื่อง  ด้านสมาคมอาหารสัตว์พร้อมร่วมมือ เชื่อช่วยลดปัญหากีดกันการค้า

Mr.Robins P. Mcintosh Jr. รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ  เปิดเผยว่า ซีพีเอฟมีความก้าวหน้าในการสนับสนุนให้เกิดการทำประมงอย่างยั่งยืนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด สามารถใช้จุดเด่นของบริษัทในด้านการวิจัยพัฒนา ทำการคิดค้นเทคโนโลยีการผลิตอาหารกุ้งที่ใช้ “โปรตีนจากถั่วเหลืองและธัญพืช” มาทดแทนปลาป่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และจากการทดสอบการใช้อาหารกุ้งที่ปราศจากปลาป่น  พบว่า อัตราการเติบโตของกุ้งอยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งขณะนี้มีการผลิตอาหารสัตว์ที่ใช้โปรตีนจากพืชดังกล่าวตามคำสั่งซื้อของลูกค้าบางส่วนแล้ว  (Made to order)

“ซีพีเอฟ มีความโดดเด่นอย่างมากในด้านการวิจัยพัฒนา และการใช้เทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ จึงได้นำจุดแข็งนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้เกิดการทำประมงอย่างยั่งยืนในประเทศไทย ซึ่งการสรรหาวัตถุดิบอื่นมาทดแทนปลาป่นนี้จะส่งผลให้เกิดการลดใช้ปริมาณปลาป่นจากการจับปลาของเรืออวนลากที่ผิดกฎหมายได้  นอกเหนือจากที่ผ่านมา ซีพีเอฟ ได้สร้างแรงจูงใจโดยให้ราคาพรีเมียม 3 บาทต่อกิโลกรัมแก่โรงงานปลาป่นที่ใช้วัตถุดิบปลาจากแหล่งที่มาที่ถูกต้อง มีเอกสารหลักฐานรับรอง และผ่านการตรวจสอบของกรมประมง ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี” Mr.Robins P. Mcintosh Jr. กล่าว  

ทั้งนี้  การสรรหาวัตถุดิบทดแทนปลาป่น และการให้ราคาพรีเมียมดังกล่าวข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางสนับสนุนการทำประมงอย่างยั่งยืนของซีพีเอฟที่มีแผนดำเนินการอยู่หลายด้าน เช่น  การเร่งผลักดันการใช้ปลาป่นที่มาจากผลพลอยได้จากการแปรรูปทูน่า และซูริมิให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพในการผลิตอาหารกุ้ง ซึ่งผลพลอยได้นั้น เป็นวัตถุดิบที่มีเอกสารรับรองแหล่งที่มาอย่างถูกต้องตามกฎหมายอยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน โรงงานอาหารสัตว์น้ำทั้ง 4 แห่งของซีพีเอฟ จะต้องผ่านการรับรองมาตรฐาน Best Aquaculture Practices (BAP)และ Aquaculture Certification Council (ACC)  ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ในการรับรองแหล่งที่มาของปลาป่นอย่างมีความรับผิดชอบ และยั่งยืน รวมถึงการคัดเลือกผู้ผลิตปลาป่นที่มีใบอนุญาตถูกต้อง สามารถตรวจสอบย้อนกลับตามมาตรฐานกรมประมง และยึดถือแนวทางประมงอย่างยั่งยืนตามหลักการใหม่ของกรมประมง ซึ่งจะมีการประกาศใช้ในปี 2557 ครอบคลุมถึงเรื่องการไม่รุกล้ำพื้นที่เขตอนุรักษ์สัตว์น้ำ และขยายขนาดตาอวน เป็นต้น

ด้านนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า ธุรกิจอาหารสัตว์ไทยมีโอกาสพบเจอปัญหาการกีดกันทางการค้าได้เสมอ โดยเฉพาะส่วนที่ไปเกี่ยวโยงกับสิ่งแวดล้อม มนุษย์ สัตว์ พืช ซึ่งภาคเอกชนเองก็ต้องเตรียมความพร้อมที่จะรับมือ โดยการร่วมมือกับภาครัฐในการจัดการปัญหาต่างๆ  เช่น ต้องลดผลกระทบประเด็นความยั่งยืนโดยร่วมจัดการปัญหาเรื่องแรงงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกัน ก็ต้องคำนึงถึงการลดต้นทุนการผลิตของธุรกิจ ทั้งนี้  เพื่อป้องกันการกีดกันทางการค้าที่จะมีรูปแบบใหม่ๆ เข้ามาอีก  

“วันนี้ต้องยกกรณีของปลาป่นเป็นตัวอย่างที่ทุกภาคส่วนตลอดห่วงโซ่การผลิตเข้ามาร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนเอ็นจีโอ เพื่อลดผลกระทบในระยะยาว ถ้าเราลดใช้ปลาป่นจากเรืออวนลากจนเหลือ 0% ได้ก็เป็นเรื่องที่ดี จะทำให้ไม่มีการจับปลาพลอยได้  ซึ่งเป็นการช่วยสิ่งแวดล้อมด้วย ชาวประมงพื้นบ้านก็จะไม่ได้รับผลกระทบ ภาคธุรกิจเองก็ได้ลดต้นทุน และลดการกีดกันทางค้าจากต่างประเทศ เรียกว่า Win-Win ด้วยกันทุกฝ่าย” นายพรศิลป์ กล่าวและว่า

การนำร่องของซีพีเอฟที่ให้ราคาพรีเมียมแก่ปลาป่นที่ได้มาอย่างถูกต้องนั้น เป็นแนวทางสร้างแรงจูงใจที่ได้ผล ทำให้สมาชิกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ซึ่งประกอบด้วย บริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์รายอื่นๆ เริ่มเห็นด้วย และทยอยเดินตามแนวทางนี้เช่นกัน  โดยคาดว่าสมาชิกทุกรายจะพร้อมสนับสนุนการทำประมงยั่งยืนได้ภายใน 2 ปี

ทั้งนี้ Mr.Robins P. Mcintosh Jr. และ นายพรศิลป์ ได้เข้าร่วมการประชุมระดับภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยเรื่องความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางด้านการประมงในประเทศไทย  ที่จัดขึ้นโดย องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการประมงที่ยั่งยืน หรือ  Sustainable Fisheries Partnership (SFP) เมื่อเร็วๆ นี้

โดยมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในแวดวงประมงทั้งระดับชาติ ภูมิภาค และนานาชาติเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างคับคั่ง เช่น กรมประมงไทย กรมปศุสัตว์ไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย บริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เช่น ซีพีเอฟ  บริษัทธุรกิจค้าปลีกอังกฤษ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) ศูนย์ปลาโลก (Worldfish Centre) คณะกรรมการบริหารดูแลการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (ASC), IFFO, ISC และบริษัทตัวแทนจากเวียดนาม
กำลังโหลดความคิดเห็น