ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ชลประทานแจงตลิ่งหน้าอาคารประตูระบายน้ำลำน้ำปิงพังหายร่วม 20 เมตรเพราะน้ำเยอะ กับเปลี่ยนทางพุ่งตรงเข้าหาตลิ่ง ส่งผลโดนกัดเซาะเสียหาย ใช้รถแบ็กโฮขุดฝายเก่าด้านฝั่งซ้ายช่วยปรับทางน้ำ กับประสานผู้รับเหมาซ่อมแซมแล้ว แต่ต้องรอระดับน้ำคงที่ก่อน ระยะยาวต้องทำพนังคอนกรีตถาวร
วันนี้ (15 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวเดินทางไปตรวจสอบประตูระบายน้ำในลำน้ำปิง ต.ป่าแดด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ หลังได้รับแจ้งว่าถนนทางเข้าประตูระบายน้ำและตลิ่งข้างประตูระบายน้ำถูกน้ำกัดเซาะจนได้รับความเสียหาย จากการตรวจสอบพบว่าริมตลิ่งฝั่งขวาของอาคารประตูระบายน้ำถูกน้ำกัดเซาะหายไปเป็นบริเวณกว้างประมาณ 20 เมตร อีกทั้งยังกัดเซาะไปจนถึงใต้ถนนทางเข้าอาคารประตูระบายน้ำ ส่งผลให้ถนนช่วงดังกล่าวยุบตัวลงบางส่วน และพื้นผิวถนนแตกเป็นทางยาวเห็นได้ชัดเจน และแม้การไหลของน้ำที่หน้าอาคารประตูระบายน้ำจะลดความเร็วลงเนื่องจากปริมาณน้ำเริ่มลดลงแล้ว แต่ตลิ่งที่ถูกน้ำกัดเซาะยังคงมีการพังทลายของดินอย่างต่อเนื่อง
จากการสอบถามประชาชนในพื้นที่ทราบว่าตลิ่งเริ่มพังทลายช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา คาดว่าเป็นผลจากปริมาณน้ำจำนวนมากหลังจากฝนที่ตกต่อเนื่อง จนทำให้ต้องเปิดประตูน้ำทั้งหมดเพื่อระบายน้ำหลังจากระดับน้ำในแม่น้ำปิงในช่วงที่ไหลผ่านตัวเมืองเชียงใหม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหลังจากตลิ่งเริ่มพังเสียหาย ถนนแตกร้าวและทรุดตัว เจ้าหน้าที่ได้นำแผงเหล็กมาปิดกั้น พร้อมทั้งประกาศเตือนให้ระวังอันตรายมาติดไว้ให้ประชาชนทราบ เนื่องจากช่วงที่ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นมีประชาชนเดินทางมาดูการทำงานของประตูระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาตกปลา ซึ่งเจ้าหน้าที่เกรงว่าอาจเกิดอันตรายขึ้นได้
นายอภิวัฒน์ ภูมิไธสง ผู้อำนวยการส่วนจัดสรรน้ำและบำรุงรักษา สำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ กล่าวถึงสาเหตุที่น้ำกัดเซาะตลิ่งว่า ในระหว่างวันที่ 9-12 สิงหาคมที่ผ่านมา น้ำในแม่น้ำปิงมีปริมาณมาก ประกอบกับกระแสน้ำมีความแรง ซัดเอาหินบริเวณที่เคยเป็นฝายน้ำล้นด้านหน้าอาคารประตูระบายน้ำบางส่วนหลุดออกไป ทำให้น้ำเปลี่ยนทิศทางไหลเข้าไปยังช่องทางที่เคยมีหินของฝายน้ำล้นขวางอยู่ และพุ่งตรงเข้าหาตลิ่งฝั่งขวาของอาคารประตูระบายน้ำอย่างต่อเนื่องจนเกิดการกัดเซาะและพังทลาย ผิวถนนทางเข้าแตกร้าวและยุบตัว ซึ่งหลังจากเกิดเหตุได้ปิดเส้นทางชั่วคราว และติดประกาศเตือนประชาชนให้เพิ่มความระมัดระวังแล้ว
สำหรับการแก้ปัญหานั้น เบื้องต้นได้นำรถแบ็กโฮเข้าทำการขุดบริเวณฝายท่าวังตาลเดิม ทางฝั่งซ้ายของอาคารประตูระบายน้ำเพื่อลดระดับของฝายให้ต่ำลง 50 เซนติเมตร เนื่องจากจุดดังกล่าวสูงกว่าฝายที่อยู่ฝั่งขวาทำให้น้ำไหลออกไปทางฝั่งขวามากกว่าแทนที่จะไหลตรงเข้าสู่บริเวณประตูระบายน้ำ ซึ่งได้หารือและทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่แล้ว
ขณะเดียวกันยังได้ประสานบริษัท อิตาเลียน-ไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด ผู้ก่อสร้างอาคารประตูระบายน้ำเพื่อให้ซ่อมแซมแล้ว เพราะยังอยู่ในช่วงการส่งมอบงานก่อสร้างอาคาร ซึ่งบริษัทมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยกรณีนี้แม้จะเกิดจากเหตุสุดวิสัย แต่ทางบริษัททราบเรื่องและพร้อมที่แก้ไขให้ แต่รอให้ปริมาณน้ำเข้าสู่ภาวะปกติก่อนจึงจะนำเสนอแผนต่อสำนักชลประทานที่ 1 และเริ่มซ่อมแซม คาดว่าจะดำเนินการได้เร็วๆ นี้
นายอภิวัฒน์กล่าวว่า การแก้ปัญหาการกัดเซาะในระยะยาวนั้นจำเป็นต้องมีการสร้างพนังคอนกรีตถาวรลักษณะเดียวกับด้านหลังประตูระบายน้ำ สร้างต่อเนื่องไปถึงจุดที่เคยเป็นฝายท่าวังตาลเดิม ซึ่งแบบการก่อสร้างมีอยู่แล้ว โดยสำนักชลประทานที่ 1 เตรียมเสนอของบประมาณก่อสร้างต่อไป ทั้งนี้ พนังคอนกรีตถาวรถือว่ามีความจำเป็น เพราะเกรงว่าหากยังเป็นตลิ่งดินบดอัดอาจเกิดการกัดเซาะขึ้นอีก
ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าการพังทลายของตลิ่งไม่มีผลต่อโครงสร้าง หรือความแข็งแรงของอาคารประตูระบายน้ำ แต่ประชาชนบางส่วนอาจสงสัยว่าก่อสร้างเสร็จไม่นานแต่กลับชำรุดเสียหาย เกรงว่าหากมีพายุหรือฝนเพิ่มขึ้นส่งผลให้ปริมาณน้ำสูงขึ้นอีก อาจทำให้ความเสียหายขยายวงกว้าง สำนักชลประทานที่ 1 จึงได้เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ปัญหาแล้ว