ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ จัดเวทีเสวนาพัฒนาเวียงกุมกาม ดึงผู้เชี่ยวชาญ-ชาวบ้านร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหาแนวทางพัฒนาเวียงกุมกามเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม หลังรัฐบาล-ก.วัฒนธรรม เล็งเดินหน้าพัฒนา หลายฝ่ายเห็นพ้องชี้พัฒนาเป็นเรื่องดี แต่ต้องให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมด้วย
วันนี้ (12 ก.ค.) ที่ศาลาการเปรียญวัดช้างค้ำ ต.ท่าวังตาล อ.สารภี จ.เชียงใหม่ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดการประชุมเสวนาแนวทางการพัฒนา “เวียงกุมกาม แหล่งวัฒนธรรม เพื่อชุมชนและการท่องเที่ยวยั่งยืน” ครั้งที่ 1 ขึ้น โดยมีผู้ร่วมการเสวนา ประกอบด้วย นายจุลทัศน์ กิติบุตร ศิลปินแห่งชาติสาขาสถาปัตยกรรม ศาสตราจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายสัมฤทธิ์ ไหคำ นายกสมาคมมัคคุเทศก์เชียงใหม่ และนายเมธาดล วิจักขณะ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่
การเสวนาดังกล่าวมีขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญจากทุกภาคส่วน รวมถึงประชาชนในพื้นที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการวางแผนการพัฒนาเวียงกุมกามให้เป็นพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยว ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรม ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล โดยในช่วงเช้าได้เปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนต่างๆ นำเสนอข้อมูล และร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาเวียงกุมกาม ขณะที่ในภาคบ่าย จัดจัดให้มีการรับฟังข้อเสนอแนะจากประชาชนในพื้นที่ว่าต้องการให้การพัฒนาเวียงกุมกามที่จะมีขึ้นนั้นเป็นไปในในทิศทางใด
ทั้งนี้ ในการเสวนา นายเมธาดล วิจักขณะ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายที่จะพัฒนาเวียงกุมกามให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ดังนั้น หลังจากนี้นอกเหนือจากโครงการพัฒนาต่างๆ ที่จะมีขึ้นในพื้นที่แล้ว ยังจะรวมไปถึงการกำหนดแผนการประชาสัมพันธ์เพื่อให้เวียงกุมกามเป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ซึ่งประชาชนในพื้นควรมีการเตรียมความพร้อมเพื่อการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ด้านศาสตราจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความคิดเห็นว่า ที่ผ่านมา เวียงกุมกามได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของชุมชนมาอย่างยาวนาน เมื่อมีแนวความคิดที่จะพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม การศึกษาในด้านประวัติศาสตร์จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปด้วย ซึ่งการศึกษาในทางประวัติศาสตร์นั้นควรที่จะทำการค้นคว้าให้เกิดความชัดเจน โดยอาจจะเลือกศึกษาในประเด็นที่สำคัญๆ ก่อนก็ได้ แต่จะต้องทำให้ความชัดเจน ทั้งเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน และเพื่อใช้ในการเผยแพร่ให้ประชาชนได้ทราบต่อไป
ขณะที่นายสัมฤทธิ์ ไหคำ นายกสมาคมมัคคุเทศก์เชียงใหม่ แสดงความคิดเห็นว่า การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ นั้นเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการยินดีสนับสนุนอยู่แล้ว เนื่องจากในจังหวัดเชียงใหม่ยังมีสถานที่อีกมากที่นักท่องเที่ยวยังไม่ทราบว่ามีความสวยงาม หรือมีประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่า อย่างไรก็ตาม การพัฒนาใดๆ ก็ตาม สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ การเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วม โดยต้องมาร่วมกันคิดว่าเมื่อมีโครงการพัฒนาเกิดขึ้นแล้ว จะทำอย่างไรให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆ รวมทั้งให้การพัฒนานั้นเป็นไปตามความต้องการของประชาชน และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่นอย่างแท้จริง