xs
xsm
sm
md
lg

แม่โจ้ 80 ปี ฝากความดีไว้ในแผ่นดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แม่โจ้ 80 ปี ฝากความดีไว้ในแผ่นดิน

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และพันธมิตร ผนึกกำลังจัดงานครั้งยิ่งใหญ่ “แม่โจ้ 80 ปี ฝากความดีไว้ในแผ่นดิน” ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 4-10 ธันวาคม 2556 เพื่อนำเสนอจุดแข็งด้านการเกษตร ด้วยการเผยแพร่องค์ความรู้ นวัตกรรมที่มุ่งพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยกระบวนการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ด้าน Maejo GO Eco University ไปสู่เป้าหมายสูงสุด คือ การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชีวิต ที่สร้างความสุขอย่างยั่งยืนแก่ชุมชน และสังคมเพื่อจัดงานเกษตรแฟร์ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด

กิจกรรมในงานมากมาย เช่น บอลลูนนานาชาติ การแสดงศิลปวัฒนธรรมนานาชาติ การแสดงกลองหลวง และกลองนานาชาติ เวทีบันเทิงโดยศิลปินระดับชาติ และนานาชาติ นิทรรศการหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจากทั่วประเทศ การออกร้านเกษตรอินทรีย์ ตลาดนัดสีเขียว การประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ การจัดแสดงผลงานและประวัติศาสตร์แม่โจ้ตลอด 80 ปี การออกบูทโดยนักศึกษาจากไต้หวัน จีน ภูฏาน เป็นต้น

สำหรับวันที่ 7 ธันวาคม จะมีงานพิเศษ คือ ศิษย์เก่าแม่โจ้คืนถิ่น สอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานแม่โจ้ 80 ปี โทร.0-5387-3971-2

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ถือเป็นแหล่งภูมิปัญญาเกษตร ที่ทำให้คนไทยภูมิใจกับการเป็นครัวคุณภาพของโลก หลังจากปี พ.ศ.2459 กระทรวงธรรมการ ได้เริ่มโครงการศึกษากสิกรรม เน้นให้นักเรียนลงมือ ลงทุนทำการเกษตร ตั้งแต่ก่อนการสำเร็จการศึกษา มีการตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมหอวัง ขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ณ บ้านสวนหลวง ซึ่งต่อมา ได้ย้ายไปตั้งที่ จ.สระบุรี

หลังจาก ม.จ.สิทธิพร กฤดากร ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นอธิบดีกรมตรวจกสิกรรม ได้มีนโยบายจัดตั้งสถานีทดลองกสิกรรมตามท้องที่ในภาคต่างๆ โดยในภาคเหนือ ได้เสด็จมาตรวจสภาพพื้นที่ป่าแพะห้วยแม่โจ้ ต.หนองหาร อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ พบว่า เป็นดินปนทราย และดินชั้นล่างเป็นดินกรวดอัดแน่น คุณภาพดินไม่ดี แต่กลับทรงพอพระทัย และตกลงเอาเป็นที่จัดตั้งสถานีทดลองภาคพายัพ

โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม และสถานีทดลองกสิกรรม ประจำภาคเหนือ จึงเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2477 โดยมีพระช่วงเกษตรศิลปการ เป็นครูใหญ่คนแรก อีก 5 ปีต่อมา ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2539

จากวันนั้นถึงวันนี้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ไม่ได้สร้างบัณฑิตผู้พัฒนาวิถีเกษตรกรรมของไทยให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน และดำเนินตามรอยพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้เกษตรกรไทยยืนอยู่ได้ด้วยลำแข้งของตนเองเท่านั้น แต่ยังได้สั่งสม เพิ่มพูน พัฒนา และสร้างนักวิชาการ คณาจารย์ด้านการเกษตร และเกษตรแผนใหม่อย่างต่อเนื่อง

ทำให้กว่า 70 ปีของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมาย ที่หลอมรวมผู้ที่รักในผืนดินอันอุดมสมบูรณ์ไว้เป็นหนึ่งเดียว และไม่ว่าเวลาจะผ่านไปอีกนานเท่าไหร่ “ลูกแม่โจ้” จะยังคงเป็นพลังสำคัญในการผลักดันเกษตรกรรมไทย ให้ก้าวต่อไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน ตามแนวทางและหลักธรรมปฏิบัติที่ชาวแม่โจ้ ยึดถือมาอย่างมั่นคง คือ “แม่โจ้ คือ ครอบครัวแห่งความรักและสามัคคี สร้างศักดิ์ศรี และเกียรติภูมิของนักการเกษตรที่อดทน อุตสาหะ เชิดชูประเพณีแห่งวัฒนธรรมเกษตรไทย”

แม้ตลอดระยะเวลาแห่งการเติบโต ต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรค อันเป็นส่วนหนึ่งของความไม่มั่นคงทางอาหาร แต่ยังมีแนวทางมหัศจรรย์ที่เกิดจากพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงใยอาณาประชาราษฎร์ โครงการพระราชดำริมากมายถูกส่งทอด ด้วยปณิธานแห่งธรรมะเกษตร และวิถีธรรมที่จะทำให้ชาติไทยพ้นภัย ทั้ง “ทฤษฎีใหม่ และแนวทางเกษตรพอเพียงแต่ยั่งยืน” ซึ่งมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้น้อมรับโครงการพระราชดำริ มาให้บริการ และถ่ายทอดสู่เกษตรกรและนักศึกษาอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตรัสแกก่นักศึกษาแม่โจ้ เมื่อครั้งเสด็จฯ ทรงเปิดศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมเกษตรล้านนาว่า “พวกเราโชคดีมากที่ได้เรียนมหาวิทยาลัยด้านการเกษตรที่ดี และเก่าแก่ที่สุดของประเทศ...แม่โจ้เป็นสถาบันที่น่าภาคภูมิใจ”

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ คือ แหล่งวิชาการด้านข้าว ความหลากหลายทางชีวภาพด้านวัฒนธรรมการเกษตร แหล่งวิจัยและพัฒนาพันธุ์ไม้พื้นเมืองและของไทย พร้อมพรั่งด้วยเทคโนโลยีทางการเกษตร พร้อมไปกับเครือข่ายเกษตร ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มุ่งพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองพระราชดำริ ให้สมกับที่พระองค์ทรงไว้วางพระราชหฤทัย

ศูนย์เรียนรู้วิถีแม่โจ้ วิถีเกษตรไทย และโครงการพัฒนาบ้านโปง คือหนึ่งในแผนการพัฒนามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่รวบรวมประสบการณ์ด้านการเกษตรพื้นฐาน ศาสตร์ด้านเทคโนโลยี และด้านอื่นๆ ที่จะเสริมสร้างการเกษตรให้เข้มแข็งรอบด้านมาร่วม 80 ปี และภูมิปัญญาของการเกษตรล้านนาที่สืบทอดยาวนานกว่า 700 ปี

วันนี้ แม่โจ้มุ่งสู่ยุทธศาสตร์การเป็น “มหาวิทยาลัยอินทรีย์ มหาวิทยาลัยสีเขียว มหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ” โดยคำนึงถึงประโยชน์สุขของเกษตรกร สังคม และชุมชนเป็นหลัก สืบทอดวัฒนธรรมด้านการเกษตรแบบล้านนา เสริมสร้างจิตวิญญาณแบบตะวันออก นั่นคือการกลับสู่ธรรมชาติ ใช้ธรรมะ ลดกิเลส และเน้นความพอเพียงในการใช้ชีวิต (Sustainable Life)

นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการวิจัยเพื่อสร้างความเข้มแข็ง และศักยภาพที่ยั่งยืน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่อาจส่งผลต่อพันธุกรรมพืช และการผลิตอาหารที่ปลอดภัยของมวลมนุษยชาติในอนาคต โดยมีเป้าหมายในการเป็นผู้ดูแลการเกษตรเชิงนิเวศของประเทศไทย และพี่น้องชาวอาเซียน
กำลังโหลดความคิดเห็น