ฉะเชิงเทรา - ชาวบ้านตลาดโบราณนครเนื่องเขต สุดเซ็งกรมชลประทาน ลุยรื้อเปิดเส้นทางระบายน้ำทิ้งจากภาคกลาง ทำมนต์เสน่ห์ตลาดเก่าแก่อายุกว่า 130 ปีสูญหาย ส่งผลกระทบนักท่องเที่ยว และรายลดลงไม่ถึงครึ่ง
วันนี้ (6 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจตลาดย่านการค้าโบราณริมน้ำ อายุเก่าแก่นับร้อยปี บริเวณตลาดน้ำนครเนื่องเขต หมู่ 10 ต.คลองนครเนื่องเขต อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นย่านการค้าโบราณ ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เมื่อยุคสมัยรัชกาลที่ 5 โดยก่อนหน้านี้ กรมชลประทาน มีโครงการปรับปรุงแนวชายขอบตลิ่ง โดยเข้ามาปรับปรุงพื้นที่ใช้รองรับการระบายน้ำ และเป็นเส้นทางผันน้ำจากภาคกลางตอนบน และภาคเหนือ หลังจากเกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ปี 2554
ซึ่งโครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินการเมื่อเดือนเมษายน 2555 ถึงเดือนมีนาคม 2556 ที่ผ่านมา แต่กลับทำให้ตลาดริมน้ำเปลี่ยนแปลงสภาพไปจากเดิม จนทำให้มนต์เสน่ห์หายไป ส่งผลกระทบถึงรายได้ของชาวบ้าน เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาน้อยลง
นางชนาพร สุวรรณธนโชติ อายุ 56 ปี อยู่บ้านเลขที่ 63 หมู่ 10 ต.คลองนครเนื่องเขต กล่าวว่า หลังจากกรมชลประทานเข้ามาปรับปรุงชายตลิ่ง ซึ่งเดิมใช้เป็นเส้นทางสัญจรเข้าสู่กรุงเทพมหานคร ด้วยการรื้อทางเดินชายคลอง และปักแท่งปูนเสริมคอนกรีตตามแนวชายตลิ่งใหม่ เพื่อเตรียมการรองรับการระบายน้ำจากกรุงเทพฯ ภาคกลาง ภาคเหนือ
ทำให้สภาพตลาดเก่าแก่ที่เคยเป็นมนต์เสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยว ไม่อยู่ในสภาพเดิม เปลี่ยนไปเป็นตลาดใหม่อย่างสิ้นเชิง มีทั้งลูกกรงโลหะแปลกตาเข้ามาปิดกั้น ชายตลิ่งที่เป็นคอนกรีต จากเดิมที่เป็นไม้กระดาน คิดว่าตลาดเก่าแก่คงกลับมาเป็นเหมือนเดิมไม่ได้อีกแล้ว ซึ่งหลังจากปรับปรุง นักท่องเที่ยวก็ลดลงไปด้วย ขณะนี้คงได้แต่รอการโปรโมตจากสื่อเท่านั้น และหากจะทำให้กลับมาเหมือนเดิมคงต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก เข้าใจว่าทางเทศบาลตำบลนครเนื่องเขต ก็คงไม่มีแน่นอน เพราะเป็นเพียงเทศบาลขนาดเล็ก
ด้านนายพงษ์พันธุ์ สายวาณิชย์ รองนายกเทศมนตรีตำบลนครเนื่องเขต กล่าวว่า ครั้งแรกที่เทศบาลยอมให้กรมชลประทานเข้ามาดำเนินการ เพราะทางกรมรับปากกับชาวบ้านทุกอย่าง ที่จะทำให้ตลาดกลับมาเหมือนเดิมเก่อนที่จะลงมือทำ ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงยินยอม โดยกรมชลประทานจะใช้เวลาดำเนินการ 6 เดือนในการฝังเข็มป้องกันชายตลิ่ง ความลึก 21 เมตร
แต่การดำเนินการจริงกลับใช้เวลาถึง 11 เดือน ทำให้ย่านการค้าแห่งนี้เสียโอกาสทางการค้าเป็นอย่างมาก จากเดิมตลาดแห่งนี้มีรายได้เกือบถึง 2 ล้านบาทต่อเดือน ขณะนี้ลดลงเหลือเพียงแค่ 7-8 แสนบาท เพราะหลังดำเนินการแล้วเสร็จ และส่งมอบงานแล้ว กลับได้ตลาดแบบใหม่ที่มีชายตลิ่งเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งพังเสียหายหลุมบ่อแล้ว บางจุดเหล็กเส้นโผล่ขึ้นมาให้เห็น ไม่ทราบว่าตรวจรับงานกันมาได้อย่างไร ทั้งที่เป็นเพียงทางเดินเท้าชายตลิ่ง
“ที่สำคัญกรมชลประทานไม่ได้ทำตามสัญญาประชาคมที่ได้เคยให้ไว้แก่ชาวบ้าน ก่อนการลงมือรื้อชายตลิ่ง และท่าเรือเก่าทิ้งด้วย”