xs
xsm
sm
md
lg

สุขภาพดีโดยไม่ใช้สารเคมี! “ครอบแก้ว” แก้ปวดเมื่อย หายใจคล่อง เลือดหมุนเวียนดี ผิวพรรณเปล่งปลั่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

By Lady Manager

การครอบแก้ว (Cupping) ศาสตร์หนึ่งของแพทย์แผนจีน กลับมาได้รับความนิยม หลังจากข่าวต่างประเทศเผยว่าบรรดาดารานักร้องต่างประเทศชื่อดังหลายคน นิยมครอบแก้วรักษาสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นกวินเน็ธ พัลโทรว์, เจนนิเฟอร์ อนิสตัน, วิคตอเรีย เบคแฮม, และเลดี้ กาก้า ฯลฯ

ศาสตร์ครอบแก้วรักษาโรคอะไร ด้วยเทคนิคอะไร และมีข้อจำกัดอย่างไร

เราไปคุยกับแพทย์จีน บุญเหลือ รุ่งสกาวเลิศ แผนกปราณะ รพ. กล้วยน้ำไท 1 ซึ่งท่านอธิบายหลักการของศาสตร์ครอบแก้วก่อนว่า

“ทำให้ข้างในเกิดสุญญากาศ มีแรงดึง และเมื่อมีแรงดึง ทำให้ผิวหนังบริเวณที่ถูกดึงได้ระบาย”

สมัยโบราณ เริ่มต้นจากการใช้ ‘เขาควาย’ เป็นอุปกรณ์การรักษา แต่ด้วยความที่หายาก จึงหันมาใช้ ‘บ้องไม้ไผ่’ ซึ่งหมอบุญเหลือบอกว่าทุกวันนี้ก็ยังมีคนใช้อยู่

“ต่อมาก็เป็น ‘โถดินเผา’ และค่อยพัฒนาเป็น ‘แก้ว’ ข้อดีคือ เวลาดึงขึ้นมาจะเห็นข้างในได้ว่าเวลาดึง ผิวหนังจะขึ้นมามากหรือน้อย เพราะถ้ามองไม่เห็น แล้วดึงแรงไปก็จะเกิดการอักเสบได้ จนทุกวันนี้พัฒนามาใช้ตัวที่มีการ ‘ดึงลม’ ปลอดภัยกว่า”

เพราะไม่ต้องจุดไฟให้เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุลวกผิวหนังได้

“วิธีที่จุดไฟเผาลำสีแอลกอฮอล์แล้วนำเข้าไปวนในกระบอกแก้วก่อนครอบ ต้องระมัดระวังมาก เนื่องจากภายในขวดแก้วที่ครอบอาจมีเปลวไฟอยู่ อาจลวกโดนผิวหนังได้”

คนที่ทำครอบฯ ต้องเป็นหมอมีวิชา

หมอบุญเหลือ เตือนก่อนเลยว่า หากคิดจะไปครอบแก้วรักษาสุขภาพ ต้องไปหาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

“หมอจะรู้ว่าครอบตำแหน่งไหน ตำแหน่งไหนได้ผล ทำให้อาการปวดบรรเทาลง ถ้าคนที่ไม่เชี่ยวชาญ อาจไปครอบตำแหน่งที่ปวดมากแต่ได้ผลน้อย หรือทำให้เกิดการอักเสบ เพราะไม่รู้ว่าควรใช้แรงระดับไหน หรือจะต้องทิ้งเวลานานเท่าไร”

การครอบแก้วไม่ใช่มายากล หากเป็นศาสตร์เทคนิคแพทย์ทางเลือกที่ผู้ทำการรักษาต้องมีวิชา

“หมอจะรู้ว่าตำแหน่งไหนใช้แก้วขนาดใด อย่างตำแหน่งที่เล็กๆ ก็สามารถใช้ขวดยาที่มีฝาปิดเป็นยาง เอาก้นออก และเอาเข็มเจาะลงไปตรงฝาไว้ดึงอากาศออก

หมอจะรู้ว่าตำแหน่งนี้ควรใช้แก้วลึกขนาดไหน ความร้อนขนาดไหน เพื่อดึงเกิดสุญญากาศ

ผมไม่แนะนำคนที่ไม่อยู่ในอาชีพหมอ มาทำการรักษาครอบแก้ว เพราะถ้าไม่มีความรู้พอ ครอบในตำแหน่งที่ผิด จะทำให้เกิดอาการป่วยได้”

แก้ปวดเมื่อย รักษาออฟฟิศซินโดรม

คนส่วนใหญ่ที่พาตัวเองมานอนหงายนอนคว่ำให้หมอครอบแก้ว มักมีอาการปวดเมื่อยและไม่ปรารถนาฝังเข็ม

“คนทุกวันนี้ส่วนใหญ่วันๆ คีย์แต่คอมพิวเตอร์ ทำแต่เอกสาร เกร็งทั้งวัน เกิดอาการปวด เป็นออฟฟิศซินโดรมกันเยอะ คนส่วนใหญ่ที่มารักษาก็มักเป็นออฟฟิศซินโดรม

การครอบแก้วกับฝังเข็มรักษาออฟฟิศซินโดรมค่อนข้างได้ผล คนที่กลัวฝังเข็ม ก็ใช้วิธีครอบแก้ว” ว่าแล้วหมอบุญเหลือก็อธิบายทำไมครอบแก้วบรรเทาปวดได้

“คนไข้ที่มีอาการปวดเมื่อยเพราะมีเลือดคั่งอยู่ ระบายไม่ทัน จึงเกิดการปวด เลือดที่เข้าไปอยู่บริเวณนั้นจะดันเส้นเลือดเป่งขึ้นมา

การครอบแก้วคือ ไปดึงให้เส้นเลือดและกล้ามเนื้อบริเวณนี้เกิดการระบาย พอระบายส่วนที่คั่งอยู่ มันก็ลดอาการปวดเมื่อยได้ เป็นการรักษาอาการปวดเมื่อยเบื้องต้นในตำแหน่งนั้น

นอกจากการครอบแก้วใช้รักษาตำแหน่งที่ปวดแล้ว ยังรักษาอาการปวดที่เกี่ยวพันกับเส้นลมปราณ ซึ่งก็คือ ส่วนหนึ่งของเส้นประสาท ยกตัวอย่าง ถ้าตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งของกล้ามเนื้อมีอาการปวด เลือดมันอัดแน่น เวลาอัดมันจะเข้าไปกดทับเส้นประสาทในบริเวณนั้น ซึ่งเส้นประสาทบริเวณนั้นมันเกี่ยวโยงกับร่างกายแต่ละอวัยวะ ขึ้นอยู่กับว่าตำแหน่งนั้นไปโยงที่ตำแหน่งไหน

ดังนั้นถ้าอาการตรงนี้ไม่ได้รับการรักษา อวัยวะอื่นจะปวดไปด้วย ก็จะไปปวดตำแหน่งที่อื่น เช่น ตำแหน่งนั้นมีผลกับกระเพาะ ก็ทำให้ปวดกระเพาะได้ บางตำแหน่งก็มีผลกับปอด แล้วแต่ว่าตำแหน่งนั้นมีผลกับอวัยวะใด”

แดงช้ำเป็นจ้ำ ระบายเลือดคั่ง

สาวหลายคนต้องทำใจ ครอบแก้วเสร็จหนีไม่พ้นรอยวงกลมฟกช้ำแดงเขียว กว่าจะจางหายต้องใช้เวลา 1-2 สัปดาห์
 แผ่นหลังนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติจีนในวันแข่งขันโอลิมปิค
“ดูดแล้วแดงช้ำจนเขียว แสดงว่าข้างในมีปัญหา สภาพร่างกายบริเวณนั้นมีเลือดคั่ง ออกซิเจนไปไม่ถึง ก่อนหน้านี้ตัวแดงมันอยู่ข้างล่าง หลังจากเราดูดแล้ว มันกระจายขึ้นมา ก็เลยทำให้เรามองเห็นจุดที่แดง”

ไม่ต้องตกใจค่ะ สีแดงช้ำเป็นอาการที่บ่งบอกว่าการรักษาได้ผลด้วยซ้ำ

“พอระบายขึ้นมา มันก็ทำให้เลือดบริเวณข้างล่างไหลเวียนได้คล่องขึ้น”

ทั้งนี้อาการแสดงสีแดงก็ไม่ได้หมายความว่า กล้ามเนื้อบริเวณนั้นมีปัญหา ออกซิเจนไปไม่ถึง หากเกิดจากความความผิดพลาดหรือไม่รู้จริงของผู้ทำการรักษา

“คือ ครอบนานไป ตรงนั้นซึ่งไม่มีปัญหาก็แดงได้ ดังนั้นเวลาครอบต้องอยู่ในเวลามาตรฐาน 7-15 นาที ไม่นานกว่านี้ ทิ้งไว้นานจนหนังตึงไป มันก็เป็นจ้ำ”

และอีกสิ่งที่สาวหลายคนกังวล เจ็บไหมคะเวลาถูกครอบดึง

“แรงดูดจะทำให้รู้สึกเจ็บนิดหน่อย เจ็บๆ ตึงๆ เวลาดึงขึ้นมา โดยส่วนใหญ่คนไข้รับได้ ไม่ถึงกับเจ็บจนรับไม่ได้ แต่ถ้าไม่เชี่ยวชาญ ใช้แรงดูดมากเกินไป ก็ทำให้เจ็บมากขึ้น”

ห้ามครอบแก้วหญิงตั้งครรภ์ คนเป็นโรคผิวหนัง

“ถ้าเป็นโรคผิวหนังบางอย่าง ไม่ควรครอบแก้ว เพราะอาจติดเชื้อ ทำให้อักเสบมากขึ้น และอาจทำให้เกิดการกระจาย เวลาครอบแก้วมันไปเปิดรูขุมขนขึ้นมา ทำให้รับเชื้อโรคได้ง่าย”

หมอบุญเหลือ กล่าวอีกว่าหญิงตั้งครรภ์ห้ามครอบแก้วเด็ดขาด มิฉะนั้นอาจแท้งได้ รวมทั้งคนที่เป็นโรคหัวใจด้วย

“เพราะอาจช็อคได้”

คนที่มีอาการอักเสบมากๆ อาจไข้ขึ้นหลังจากครอบแก้ว

“ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคนว่าเป็นมากหรือน้อย คนที่อักเสบมาก อาจมีไข้ บางคนอักเสบเรื้อรังมานาน ต้องครอบแก้วต่อเนื่องหลายครั้ง บางคนอักเสบปานกลาง มาครอบฯ 2-3 ครั้งก็หายแล้ว บางคนแค่ปวด ทำครั้งเดียวก็เบาเลย”

นอกจากการครอบแก้วสามารถบรรเทาอาการปวดรักษาโรคออฟฟิศซินโดรมแล้ว ยังสามารถรักษาอาการเจ็บป่วยอื่นได้อีก อาทิ โรคระบบทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะไอเรื้อรัง หรือหอบ และอัมพฤกษ์หรืออัมพาต

ความร้อนจากถ้วยที่ไปกระตุ้นพลังงานชิ (Qi) จะทำให้จิตใจของผู้รับการรักษารู้สึกเหมือนได้รับการเยียวยา จึงอาจเป็นอีกหนทางหนึ่งในการรักษาโรคซึมเศร้า

สาวๆ จำนวนมากเวลานี้โปรดปรานศาสตร์การแพทย์แผนจีนครอบแก้วแขนงนี้ ด้วยผลพลอยได้ ช่วยให้การหมุนเวียนของเลือดดีขึ้น แน่นอน ผิวพรรณก็จะเปล่งปลั่ง มีเลือดฝาด รักษาสิวได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญ เป็นการบำบัดรักษาที่ไม่ใช้สารเคมี ไม่ใช่เทคโนโลยีรังสีคลื่นอะไรต่างๆ ให้ต้องกังวลผวา

ใช้เพียง ‘แก้ว’ กับ ‘ความร้อน’ ตามหลักการวิทยาศาสตร์ธรรมชาติล้วนๆ

แค่รอยฟกช้ำแดงเขียว กระดำกระด่างเป็นวงกลม ใช้เวลาหน่อยกว่าจะลางเลือน

ทว่าไป กลายเป็นเก๋เท่ห์อินเทรนด์บ่งบอกว่าเป็นคนรักใส่ใจสุขภาพ สะท้อนรสนิยมฉลาดใช้วิธีการรักษาแนวทางเลือก ใครไปครอบฯ มา กลับยิ่งอยากโชว์… เหมือนสาวคนดังฮอลลีวูดเค้าอวดแข่งกัน

 ซูเปอร์โมเดลสวยและรวย จิเซล บุนเชน (Gisele Bundchen) ครอบแก้วโชว์กะเค้าบ้าง
 


>>
อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ 
 http://www.celeb-online.net
 
กำลังโหลดความคิดเห็น