จันทบุรี - เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจันทบุรี ร่วมกรมประมง จัดนิทรรศการ เกษตรกรรู้ทันป้องกันวิกฤตประมง สร้างความมั่นคงด้านอาหาร วางแนวทางแก้ไขปัญหาโรค EMS
วันนี้ (5 ส.ค.) ที่ห้องประชุมโรงแรมเคพี แกรนด์ จันทบุรี ดร.วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง เป็นประธานเปิดนิทรรศการเกษตรกรรู้ทันป้องกันวิกฤตประมง สร้างความมั่นคงด้านอาหาร โดยมีนายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ให้การต้อนรับ ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความรู้ทางวิชาการในการวางแนวทางแก้ไขปัญหาโรค EMS หรือโรคตายด่วน โดยมีผู้ประกอบการ ตลอดจนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้กว่า 1,000 คนร่วมงาน
ดร.วิมล กล่าวว่า ปัญหากุ้งตายด่วน หรือโรค EMS เป็นเหตุที่ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งเดือดร้อน และขาดความมั่นใจในการเลี้ยงกุ้ง ทำให้ผลผลิตกุ้งในตลาดลดลง สร้างความหวั่นวิตกให้แก่ประเทศคู่ค้าหลายประเทศ ทั้งยังส่งผลให้ปริมาณ และมูลค่าการส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งของไทย ตั้งแต่ต้นปี 2556 ลดลง เนื่องจากผลผลิตกุ้งไม่เพียงพอสำหรับส่งออก
โดยระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคมที่ผ่านมา ปริมาณการส่งออกลดลงถึง 29.27% เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยแค่ช่วง 6 เดือนแรกของปีเสียหายไปแล้วกว่า 16,000 ล้านบาท ซึ่งหากผลผลิตยังคงลดลงต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี 2556 ยอดส่งออกกุ้งซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าที่ไทยเคยส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลก จะต้องตกอยู่ในภาวะถดถอย โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกตลอดทั้งปีจะลดลงถึง 40% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้แนวโน้มสถานการณ์โรคเริ่มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของผู้เพาะพันธุ์ลูกกุ้ง และกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้ง และข้อมูลด้านวิชาการที่สำคัญจากกรมประมง ที่ได้นำมาตรการจัดการ และแก้ปัญหาเกี่ยวกับอาการโรคตายด่วนในกุ้งอย่างถูกวิธี ภายใต้โครงการ “รวมพลังยับยั้ง EMS” มาตั้งแต่เริ่มเกิดปัญหาดังกล่าว
ทำให้เกษตรกรมีการปรับปรุงระบบสุขอนามัย กรรมวิธีการเลี้ยงดูพ่อแม่พันธุ์กุ้งทะเล รวมถึงปรับปรุงวิธีการจัดการเลี้ยงกุ้งในบ่อดินอย่างเข้มข้น จึงลดความเสี่ยง และความเสียหายจากโรคระบาด ส่งผลให้อัตราการรอดของลูกกุ้งขยับเพิ่มขึ้น 50-60% คาดว่าสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นในไตรมาสที่ 3 และกลับเข้าสู่สภาวะปกติช่วงปลายปี 2556 ซึ่งจะส่งผลให้อุตสาหกรรมกุ้งของไทย ยังคงครองความสามารถในการผลิต และส่งออกต่อไปได้