xs
xsm
sm
md
lg

สสจ.เชียงใหม่หวั่นผู้ป่วยไข้เลือดออกทะลุหมื่น จับมือจังหวัดเพิ่มมาตรการสกัดกั้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.สุรสิงห์ วิศรุตรัตน์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - รองนายแพทย์ สสจ.เชียงใหม่ชี้สถานการณ์ไข้เลือดออกน่าเป็นห่วงหลังการระบาดยังเพิ่มต่อเนื่อง แถมประชาชนยังไม่ค่อยสนใจ ประสานจังหวัดเตรียมตั้งทีมลงพื้นที่สีแดง ทั้งดูแลคนป่วย-เร่งกำจัดยุงหวังลดความรุนแรง ชี้ที่อยู่กลุ่มคนต่างด้าวน่าเป็นห่วง เหตุยังเข้าไม่ทั่วถึงหวั่นเป็นแหล่งแพร่ระบาด ยันหากไม่ร่วมมือกันอย่างจริงจังปีนี้ได้เห็นตัวเลขผู้ป่วยทะลุหมื่นคนแน่

วันนี้ (30 ก.ค.) ดร.สุรสิงห์ วิศรุตรัตน์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกของจังหวัดเชียงใหม่ว่า ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ก.ค.พบว่ามีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในจังหวัดเชียงใหม่รวมทั้งสิ้น 7,328 ราย มีผู้เสียชีวิตรวม 5 ราย

อย่างไรก็ตาม คาดว่าจำนวนผู้เสียชีวิตอาจจะเพิ่มขึ้นอีก 1-2 ราย เนื่องจากอยู่ในระหว่างการตรวจสอบและสรุปข้อมูลประจำสัปดาห์ซึ่งพบว่ามีตัวเลขการเสียชีวิต แต่กำลังอยู่ในระหว่างการยืนยันว่ามีสาเหตุจากโรคไข้เลือดออกหรือไม่

ดร.สุรสิงห์กล่าวว่า จากสถิติดังกล่าวทำให้จังหวัดเชียงใหม่มีจำนวนผู้ป่วยเทียบอัตราต่อแสนประชากรสูงสุดเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ ต่อจากจังหวัดเชียงราย และจังหวัดภูเก็ต ขณะเดียวกัน จากปริมาณตัวเลขผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าวทำให้กระทรวงสาธารณสุขสั่งการให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นหนึ่งในพื้นที่ควบคุมพิเศษที่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการกำชับให้หน่วยงานในพื้นที่ดูแลในเรื่องของการทำให้ระบบการรักษามีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากที่สุด รวมทั้งพยายามลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด

ดร.สุรสิงห์กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ปัญหาหลักที่หน่วยงานต่างๆ พบก็คือการที่ประชาชนในพื้นที่ยังไม่เห็นความสำคัญและไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการป้องกันโรคไข้เลือดออกเท่าที่ควร ซึ่งจากการประชุมระหว่างสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่และหน่วยงานในสังกัดร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งนำโดย นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้เตรียมที่จะเพิ่มมาตรการในการแก้ไขปัญหาด้วยการจัดตั้งทีมงานเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่สีแดงซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดของโรครุนแรง

ทีมงานดังกล่าวจะทำหน้าที่ในการค้นหาผู้ป่วย จากนั้นจะดำเนินการค้นหาทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายภายในบ้าน และบริเวณใกล้เคียงบ้านของผู้ป่วย การฉีดยาฆ่ายุงภายในบ้าน และการนำผู้ป่วยเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาจากโรงพยาบาล ซึ่งจะมีการประเมินผลหลังจากทำงานไปแล้ว 2 สัปดาห์ว่าสามารถทำให้การระบาดของโรคในพื้นที่สีแดงลดลงหรือไม่

นอกจากนี้ จังหวัดเชียงใหม่ยังได้สั่งการให้อำเภอต่างๆ มอบหมายให้ปลัดอำเภอรับหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ รวมทั้งยังได้พิจารณาถึงแนวทางการดำเนินงานของอำเภอแม่วาง ที่ได้จัดตั้งคณะทำงานในลักษณะเดียวกันกับชุดบำบัดยาเสพติด ซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เพื่อเพิ่มความสะดวกในการพูดคุยและขอความร่วมมือจากประชาชนในการดำเนินการว่าจะสามารถนำมาปรับใช้ในพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะในกรณีที่ประชาชนยังไม่ให้ความร่วมมือได้หรือไม่

ขณะเดียวกันยังได้รับทราบข้อมูลว่ากลุ่มญาติของผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดขอโรคไข้เลือดออกเตรียมที่จะรวมตัวกันให้ข้อมูลต่อสื่อมวลชน เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาดังกล่าวแล้ว

ดร.สุรสิงห์ระบุว่า สิ่งหนึ่งที่ต้องจับตาดูในขณะนี้ก็คือการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยในส่วนของคนต่างด้าวที่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากแม้ว่าสถิติตัวเลขผู้ป่วยกว่า 7,000 คนจะเป็นคนต่างด้าวเพียงประมาณ 500 คน แต่เชื่อว่าตัวเลขที่แท้จริงน่าจะสูงกว่า อีกทั้งจากจำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตทั้ง 5 รายก็เป็นคนต่างด้าวถึง 2 รายซึ่งถือว่าอยู่ในอัตราที่สูง

อีกทั้งยังพบว่ากลุ่มคนต่างด้าวที่เข้ามาอาศัยและทำงานอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีการรวมตัวกันเป็นชุมชนในหลายพื้นที่ ซึ่งพื้นที่เหล่านั้นมีสภาพความเป็นอยู่ที่มีความเสี่ยงสูงในการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงและแพร่เชื้อโรคไข้เลือดออก หากแต่ที่ผ่านมายังไม่ได้รับความร่วมมือจากคนในพื้นที่ในการดูแลและป้องกันเท่าที่ควร หรือยังไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ ซึ่งจังหวัดอาจจะมีการกำหนดมาตรการเพิ่มเติมในส่วนนี้เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า สำหรับในจังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่ที่อยู่ในระดับสีแดงประมาณ 802 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ทางตอนเหนือของจังหวัดและในเขตตัวเมือง ขณะที่พื้นที่ตอนใต้ของจังหวัดพบผู้ป่วยไม่มากนัก

ขณะที่สิ่งที่น่าเป็นห่วง ประกอบด้วยการเคลื่อนย้ายของแรงงานในช่วงนี้ซึ่งอาจทำให้การแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้น รวมถึงอาการของผู้ป่วยในกลุ่มผู้ใหญ่ที่พบว่ามีลักษณะอาการที่แสดงออกมาผิดแปลกไปจากปกติ กล่าวคือ หลายครั้งมีลำดับอาการที่ผิดจากลำดับขั้นตามปกติ ซึ่งมีผลต่อการวินิจฉัยและการรักษา อีกทั้งยังพบว่าในกลุ่มผู้ใหญ่เมื่ออาการกำเริบหนักจะมีผลรุนแรงมากกว่า เช่น กระทบต่อโรคประจำตัว ระบบตับ ไต หัวใจ หรือสมอง ซึ่งยากต่อการรักษาและอาจส่งผลให้เสียชีวิตได้

อย่างไรก็ตาม ยังต้องพยายามแก้ไขความเข้าใจผิดของประชาชนที่ให้ความสำคัญต่อการฉีดพ่นหมอกควันกำจัดยุง เนื่องจากการฉีดพ่นหมอกควันหรือฉีดยาฆ่ายุงเป็นเพียงหนึ่งในแนวทางการป้องกัน แต่กระบวนการที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือพยายามอย่าให้ยุงกัด เช่น การทายากันยุง และการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายให้หมดไป

ทั้งนี้ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่กล่าวด้วยว่า เดิมสถิติผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกของจังหวัดเชียงใหม่สูงสุดอยู่ที่ประมาณ 6,000 ราย แต่ในขณะนี้ตัวเลขผู้ป่วยสูงเกินกว่าสถิติไปแล้ว โดยในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาเพียงเดือนเดียวมีตัวเลขผู้ป่วยสูงถึง 3,000 กว่าราย ซึ่งสูงกว่าสถิติตลอดทั้งปีของบางปี เมื่อประกอบกับการที่ต่อจากนี้ในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.จะเป็นช่วงที่มีปริมาณฝนมากยิ่งขึ้น และการแพร่ระบาดของไข้เลือดออกที่พบทั้ง 4 สายพันธุ์ หากประชาชนยังไม่ตระหนักถึงอันตรายของโรคดังกล่าวและไม่มีการเร่งดำเนินการอย่างจริงจัง ก็มีความเป็นไปได้ที่จำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกของจังหวัดเชียงใหม่ในปีนี้จะเพิ่มสูงจนถึงระดับ 10,000 รายหรือมากกว่านั้นได้เช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น