กาฬสินธุ์ - ชาวนาอำเภอเขาวง จ.กาฬสินธุ์ ซาบซึ้งน้ำพระราชหฤทัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีโครงการพระราชดำริอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ แล้งไม่กระทบมีน้ำทำเกษตรทั้งปี โดยเฉพาะ “การปลูกข้าวเหนียวเขาวง” ที่ขึ้นชื่อ มีประชาชนร่วมลงแขกดำนาที่หน้าอุโมงค์ผันน้ำฯ เพื่อความเป็นสิริมงคล ขอฝนตกตามฤดูกาลจำนวนมาก ขณะที่เขื่อนลำปาวยังไม่พ้นวิกฤตน้ำน้อยเหลือเพียงร้อยละ 17
จากการติดตามปัญหาฝนทิ้งช่วงในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ พบว่า ทั้ง 18 อำเภอยังประสบปัญหาภัยแล้ง ต้นข้าวแห้งตาย และหลายพื้นที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูก แม้ฤดูกาลจะเข้าสู่กลางฤดูฝนแล้วก็ตาม ขณะที่ จ.กาฬสินธุ์ โดยนายสุวิทย์ สุบงกฎ ผวจ.กาฬสินธุ์ กำลังเร่งดำเนินการขอฝนหลวง เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่
แต่เขตพื้นที่ อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ ชาวนากลับไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตฝนทิ้งช่วง เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ ซึ่งเป็นโครงการชลประทานในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการแก้ปัญหาภัยแล้ง
โดยผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ในเขต อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร ผ่านระบบท่อลอดอุโมงค์ผ่านภูเขานำน้ำเข้ามาในแปลงนา สามารถแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำได้เป็นอย่างดี โดยตัวแทนชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันนำต้นกล้าข้าวข้าวเหนียวเขาวงมาปักดำที่บริเวณที่ว่างหน้าอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ ซึ่งเป็นการลงแขกดำนาของชาวบ้าน
นางอภัย ศรีแสน อายุ 60 ปี บ้านเลขที่ 160 หมู่ 10 บ้านกุดตอแก่น ต.คุ้มเก่า อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ชาวนาอำเภอเขาวง โดยเฉพาะเขต ต.คุ้มเก่า และ ต.สงเปลือย ต่างซาบซึ้งในน้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงจัดทำโครงการชลประทานในพระราชดำริในปี 2553 ทำให้ชาวนาได้มีน้ำทำนา มีพออยู่มีกิน แม้จะประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงก็ไม่เดือดร้อน เพราะได้รับน้ำจากชลประทานลำพะยังภูมิพัฒน์ ได้ปลูกข้าวเหนียวเขาวงที่มีชื่อเสียงหล่อเลี้ยงคนทั้งประเทศ
ทั้งนี้ จากการที่พื้นที่ใช้น้ำชลประทานโครงการลำพะยังภูมิพัฒน์ มีน้ำทำนา ทำให้ชาวนาต่างพื้นที่มาร่วมลงแขกปักดำทำนาที่บริเวณปากอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ เพื่อขอพึ่งพระบารมีในหลวง หวังเกิดความเป็นสิริมงคล และต่างหวังให้ฝนตกลงมาตามฤดูกาล ให้ชาวนา จ.กาฬสินธุ์ได้ทำนา มีรายได้พ้นจากความยากจนอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของเขื่อนลำปาวยังไม่พ้นวิกฤต เนื่องจากสภาพอ่างเก็บน้ำยังแห้งขอด ล่าสุด ในเขื่อนลำปาวมีน้ำทั้งหมดที่ 339 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 17 และมีน้ำใช้การได้เพียงร้อยละ 12 หรือ 239 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น