xs
xsm
sm
md
lg

ระงับแผนสร้างคันกั้นน้ำท่วมเมืองน่าน สั่งโยธาฯ สำรวจ-ทำประชาพิจารณ์ใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


น่าน - รองผู้ว่าฯ เมืองน่านสั่งระงับโครงการก่อสร้างคันคอนกรีตสกัดน้ำท่วมเขตเทศบาลฯ หลังสร้างไปแล้ว 70% แต่ถูกชาวบ้าน 2 ชุมชนรุมต้าน ชี้ทำ 2 ชุมชนกลายเป็นที่รับน้ำ พร้อมให้โยธาฯ สำรวจ-ทำประชาพิจารณ์ใหม่

วันนี้ (25 ก.ค.) ตัวแทนชาวบ้านชุมชนบ้านท่าช้าง และชุมชนบ้านเมืองเล็น ซึ่งเป็นชุมชนในเขตเทศบาลเมืองน่าน กว่า 100 คน นำโดยนายธรรมนูญ มหายศนันท์ หัวหน้าชุมชนบ้านท่าช้าง และนางวาสนา มหายศนันท์ หัวหน้าชุมชนบ้านเมืองเล็น ได้รวมตัวกันที่หน้าศาลากลางจังหวัดน่าน พร้อมกับถือป้ายประท้วงและคัดค้านการก่อสร้างคันเนินคอนกรีตตามโครงการก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมระยะที่ 1 ของกรมโยธาธิการและผังเมือง เพราะเห็นว่าจะทำให้ทั้งสองชุมชนกลายเป็นพื้นที่รับน้ำ

นายธรรมนูญกล่าวว่า ชาวชุมชนบ้านท่าช้าง และชุมชนบ้านเมืองเล็นกว่า 300 ครัวเรือนจะได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมหากโครงการนี้ยังดำเนินต่อไปจนแล้วเสร็จ โดยตามแบบจะมีการทำคันคอนกรีตปิดกั้นทางน้ำที่จะไหลเข้าสู่เขตเทศบาลฯ 3 จุด คือ แนวกั้นระหว่างสนามนาริน ซึ่งเป็นสนามกีฬาของโรงเรียนน่านคริสเตียนศึกษา กับตัวโบสถ์คริสตจักรประสิทธิพรน่าน

จุดที่สองคือ แนวกั้นระหว่างโบสถ์คริสตจักรประสิทธิพรน่าน กับโรงเรียนน่านคริสเตียนศึกษา (ล่าง) และจุดที่สามคือ แนวกั้นระหว่างโรงเรียนน่านคริสเตียนศึกษา กับชุมชนบ้านดอนแก้ว ติดริมแม่น้ำน่าน ช่วงถนนราษฎร์ประสงค์ ซึ่งหากก่อสร้างแนวกั้นทั้งสามจุดก็จะส่งผลให้ชุมชนบ้านท่าช้าง และบ้านเมืองเล็นต้องกลายเป็นพื้นที่รับน้ำ และท่วมขังนานกว่าปกติเพราะน้ำไม่มีทางระบายออกได้

เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำท่วมครั้งใหญ่ของจังหวัดน่าน 2 ครั้ง คือในปี 2549 และปี 2554 ก็สร้างความกังวลใจแก่ชาวบ้านทั้งสองชุมชนเป็นอย่างมาก

ขณะที่นางวาสนากล่าวว่า ต้องการให้ยกเลิกการก่อสร้างคันกั้นน้ำทั้งสามจุด เพราะนอกจากจะส่งผลกระทบต่อชุมชนที่จะเป็นพื้นที่รับน้ำแล้ว ยังจะส่งผลกระทบต่อการจราจรที่คับคั่งแออัด และเป็นอันตรายมากขึ้น โดยเฉพาะกับเด็กนักเรียนโรงเรียนน่านคริสเตียนศึกษา

“เราต้องการคำตอบที่ชัดเจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากในระยะที่ 1 ก่อสร้างแล้วบางส่วนก็ขอให้ระงับการก่อสร้าง และต้องไม่มีการก่อสร้างในระยะที่ 2 อีกต่อไป”

ต่อมา นายอดิศร พิทยานยน รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ได้ให้ตัวแทนชาวบ้านเข้าชี้แจงปัญหา พร้อมทั้งเรียกตัวแทนจากสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดน่าน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ออกแบบและควบคุมโครงการ และนายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน ในฐานะเจ้าของพื้นที่การก่อสร้าง เข้าร่วมหารือด้วย พบว่าปัญหาเกิดจากการไม่ได้รับฟังข้อปัญหาของชุมชน รวมทั้งเรื่องงบประมาณที่มีจำกัดทำให้การออกแบบไม่สามารถทำได้ครอบคลุมทั้งระบบ แต่ต้องก่อสร้างเป็นระยะ ส่งผลให้บางพื้นที่ บางชุมชนต้องกลายเป็นพื้นที่รับน้ำโดยไม่มีทางระบายออก

นายสุรพลได้เสนอให้มีการประชุมทำความเข้าใจให้ตรงกัน โดยให้ทางโยธาธิการและผังเมืองในฐานะเจ้าของโครงการและเป็นนักวิชาการ อธิบายถึงแนวกั้นน้ำที่ได้ออกแบบไว้ให้ชาวบ้านเข้าใจ เพราะโยธาฯ เป็นผู้วางระบบ ส่วนเทศบาลเมืองน่านและชุมชนเป็นผู้ใช้ ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อน

นายอดิศรเปิดเผยเพิ่มเติมว่า จากการประชุมได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า ขณะนี้การก่อสร้างซึ่งทำไปแล้วกว่า 70% จะให้ระงับไว้ก่อน แล้วให้กรมโยธาธิการและผังเมืองสำรวจใหม่ทั้ง 3 จุด จากนั้นก็จะต้องทำประชาพิจารณ์ ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงปลายเดือนนี้ โดยให้ทางเทศบาลเมืองน่านเป็นเจ้าภาพในการทำประชาพิจารณ์ว่าทั้ง 2 ชุมชนยังต้องการให้สร้างแนวป้องกันน้ำท่วมต่อไปให้ครอบคลุมทั้งหมดหรือไม่ ซึ่งอาจใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท ที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ได้รับปากไว้ หรือหากชุมชนไม่ต้องการก็จะยุติการก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วม

“อย่างไรก็ต้องฟังเสียงและความต้องการของประชาชนเป็นหลัก”


กำลังโหลดความคิดเห็น