เชียงราย - ชาวสวนยางฮือขึ้นศาลากลางจี้รัฐช่วยเหลือหลังราคาตกต่ำหนัก ชี้ “สองมาตรฐาน” ชัด ระบุข้าวราคาตกทุ่มงบหลายแสนล้านช่วย แต่ยางพารากลับเมิน ด้านปลัดจังหวัดบอกพิลึก ต้องยึดหลักการเงินการคลัง ห้ามชาวสวนฟังข่าวนอกระบบ
วันนี้ (24 ก.ค.) ตัวแทนชาวสวนยางพารานำ จ.เชียงราย โดยนายสุวิทย์ ใหม่ธิ ประธานเครือข่ายชาวสวนยางจังหวัดเชียงราย และนายชาญ ชัยเจริญ ประธานคณะกรรมการสถาบันเกษตรกรด้านยางพาราครบวงจร เข้ายื่นหนังสือต่อนายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ผ่านไปยังรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอให้ช่วยพยุงราคายางพารา ทั้งยางแผ่นรมควัน ยางแผ่นดิบ น้ำยางสด และยางก้อนถ้วย เนื่องจากราคาตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องจนใกล้เคียงกับราคาต้นทุนในปัจจุบันแล้ว ซึ่งนายพงษ์ศักดิ์มอบหมายให้นายชาติชาย สงวนพงษ์ ปลัดจังหวัดรับเรื่องแทน
นายสุวิทย์กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการเครือข่ายชาวสวนยางแห่งประเทศไทยได้มีมติให้รัฐบาลช่วยเหลือชาวสวนยางทั่วประเทศ โดยกำหนดราคายางพาราขั้นต่ำต่อกิโลกรัม คือ ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคา 101 บาท ยางแผ่นดิบคุณภาพ 3 ราคา 92 บาท น้ำยางสด ราคา 81 บาท ยางก้อนถ้วย 100% ราคา 83 บาท รวมทั้งให้รัฐบาลบริหารจัดการยางพาราเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาในสต๊อก 200,000 ตันที่มีอยู่โดยเร็วที่สุด เพื่อให้ราคาขยับตัวสูงขึ้น
และเคยยื่นต่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ จ.กำแพงเพชร แต่ปรากฏว่าเรื่องเงียบหายไป จึงต้องมีการยื่นพร้อมกัน 57 จังหวัดทั่วประเทศในครั้งนี้ และหากว่าครั้งนี้รัฐบาลยังไม่ดำเนินการใดๆ อีกก็คงต้องมีการยกระดับการเคลื่อนไหวกันต่อไป
นายสุวิทย์กล่าวว่า ปัจจุบันมีสวนยางพาราใน จ.เชียงรายประมาณ 580,000 ไร่ เป็นสวนยางที่อยู่ภายในโครงการของกองทุนสงเคราะห์สวนยาง (กสย.) ประมาณ 37,400 ไร่ ครอบคลุมทั้ง 18 อำเภอ และทั่วจังหวัดมีสวนยางพาราที่กรีดน้ำยางได้แล้ว 120,000 ไร่ อัตราประมาณ 238 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี แต่ราคากลับตกต่ำ โดยยางแผ่นรมควันชั้น 3 กิโลกรัมละ 74 บาท ยางแผ่นดิบคุณภาพ 3 ราคา 72 บาท แต่เมื่อชาวสวนกรีดน้ำยางก็จำหน่ายได้เพียงกิโลกรัมละ 59 บาท และยังคงขึ้นลงไม่แน่นอน ส่วนยางก้อนถ้วยต่ำลงไม่ถึง 30 บาทแล้ว ทำให้ชาวสวนเริ่มได้รับผลกระทบ เพราะต้นทุนปลูกยางพาราที่กรมวิชาการเกษตรคำนวณคือกิโลกรัมละ 62 บาท แต่ชาวสวนคำนวณแล้วเชื่อว่าน่าจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 68 บาท
“ทั้งที่ช่วงนี้ผลผลิตออกน้อย ราคายางกลับตกต่ำ จึงเกรงกันว่าหากถึงช่วงที่มีการกรีดยางตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไปราคาจะตกต่ำกว่านี้ จึงขอให้รัฐบาลช่วยเหลือด้วย เพราะยางพาราเป็นพืชส่งออกปีละกว่า 600,000-700,000 ล้านบาท มากเป็นอันดับ 1 ของประเทศติดต่อกันมากว่า 10 ปีแล้ว แต่เมื่อราคาตกต่ำรัฐบาลไม่แก้ปัญหา ต่างจากกรณีราคาข้าวที่รัฐบาลกลับทุ่มเงินช่วยเหลือหลายแสนล้านบาทได้”
ด้านนายชาติชายกล่าวว่า เรื่องนี้ขอให้ติดตามสถานการณ์ข่าวสารอย่างใกล้ชิด และเกี่ยวข้องกับเรื่องงบประมาณของประเทศที่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์การเงินการคลัง ไม่สามารถนำมาใช้อย่างขาดระเบียบได้ รวมทั้งให้ระมัดระวังกรณีการจะดำเนินการใดๆ โดยอย่าไปฟังข่าวสารที่ไม่เป็นระบบด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อมีความเดือดร้อน ทางจังหวัดจะนำเสนอไปยังรัฐบาลเพื่อให้รับทราบต่อไป