ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ -การพัฒนาชุมชนและเมืองกำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่พบว่า คนเขียนแผน หรือคนที่เป็นเจ้าของโครงการมักจะเขียนขึ้นโดยที่คนในชุมชนมิได้มีส่วนรู้เห็น หรือร่วมแสดงความเห็นใดๆ ทั้งสิ้น อย่างโครงการปรับปรุงลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ของเชียงใหม่ก็เช่นเดียวกัน ที่กำลังจะเริ่มขึ้นเร็วๆ นี้ แต่คนในชุมชนโดยรอบพื้นที่ที่ต้องได้รับผลกระทบเต็มๆ กลับไม่รู้เรื่อง … กำลังเกิดอะไรขึ้นกับเมืองใหญ่แห่งนี้???
14 ธันวาคม 2555 เทศบาลนคร (ทน.) เชียงใหม่ โดยนายกฯ ไก่-ทัศนัย บูรณุปกรณ์ หลานชายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ อดีตนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ และปกรณ์ บูรณุปกรณ์ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ ไทยรักไทย เริ่มขับเคลื่อนโครงการ “ขนส่งอย่างยั่งยืนเมืองเชียงใหม่”
ด้วยการลงนามร่วมกับ ดร.ชนินทร์ มโนภินิเวส นักเศรษฐศาสตร์ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย และนายสุวิชญ โรจนวานิช รองผู้อำนวยการสำนักบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ในข้อตกลงดำเนินโครงการฯ ภายใต้การสนับสนุนเงินทุนแบบให้เปล่า 729,630 เหรียญสหรัฐ หรือกว่า 20 ล้านบาท จากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF)
เพื่อจ้างที่ปรึกษาทำโครงสร้างระบบขนส่งที่ยั่งยืนของเมือง-ทำความเข้าใจกับประชาชน ระดมความคิดเห็นเพื่อทำแผนยุทธศาสตร์ กำหนดแล้วเสร็จปลายปี 2556 โดยเทศบาลนครเชียงใหม่ ได้ดึงหน่วยวิจัยการวางแผนพัฒนาเมือง จราจร และขนส่งที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้ามาร่วมดำเนินโครงการฯ
แน่นอน “เชียงใหม่” เป็นเมืองใหญ่ มีความสำคัญที่สุดรองจากกรุงเทพฯ และพัฒนาอย่างรวดเร็วที่สุดเมืองหนึ่งในภาคเหนือ เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค มีประชากรมากเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศ และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม
ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจเมืองเชียงใหม่เติบโตอย่างต่อเนื่องจากภาคการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวปีละ 3-5 ล้านคน
แต่การขยายตัวของเมืองก็บั่นทอนเชียงใหม่ ก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำ อากาศ ปัญหาขยะ-ของเสีย สภาพแวดล้อมเสื่อโทรม โดยเฉพาะปัญหาการจราจรติดขัด
ผู้แทนธนาคารโลก บอกว่า การให้ความช่วยเหลือครั้งนี้เป็นไปตามเงื่อนไขของกองทุนสิ่งแวดล้อม ที่ธนาคารโลกมีส่วนดูแลด้วย เพื่อนำร่องไปสู่การจัดทำแผนภาพรวมของเมืองต่อไป ซึ่งเป็นการทำให้เห็นถึงการจัดการที่ดีในอนาคต ทั้งการขนส่ง การจราจร การใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสม รวมถึงการออกแบบ และกำหนดให้มีเส้นทางสำหรับพาหนะที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ (Non-motorized transport route) ถือเป็นเมืองแรกของไทยที่ได้รับการสนับสนุนด้านนี้ตามที่เทศบาลฯ ได้เสนอไป และเชื่อว่าหากต่อยอดไปได้ก็มีโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนอีก เพราะทั่วโลกพยายามเต็มที่ในการช่วยกันลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ขณะที่ ทัศนัย กล่าวไว้ว่า เทศบาลนครเชียงใหม่ ประสบปัญหาการขนส่งมาอย่างต่อเนื่อง และนับวันก็มีคนมาเที่ยวมากขึ้น จึงต้องมีระบบรองรับ และเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย โดยจะเริ่มจากการพัฒนาศูนย์กลางเมืองที่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ โยงกับศาลแขวงเดิมก่อน เริ่มแรกจะปิดถนนใช้เป็นข่วง หรือลาน ยกเว้นมีงานสำคัญก็จะเปิดใช้เส้นทางนี้ เมื่อทำสำเร็จจะต่อยอดให้ทั้งเมืองทันที
“เบื้องต้นจะปรับภูมิทัศน์ ซึ่งต้องจัดที่จอดรถจักรยานที่จะเป็นยานพาหนะหลักของการท่องเที่ยวโดยจักรยาน จัดทำเส้นทางจักรยาน การให้บริการเช่าที่จะเชื่อมกับชุมชนโดยรอบ โดยจะต่อยอดแผนการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้ว หลังจากทัณฑสถานหญิงย้ายออกไปต้นปี 2556”
ซึ่งเป็น “ข่วงหลวงเวียงแก้ว” เดียวกับที่กลุ่มคนเสื้อแดง-รักเชียงใหม่ 51 ที่มี เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคม (รมว.พม.) เป็นแกนนำใหญ่ แสดงท่าทีสนับสนุนเต็มที่ ผ่านข่ายวิทยุชุมชน 92.5 MHz พร้อมส่งมวลชนคนเสื้อแดงมาเป็น “ไกด์อาสา” นำคนเข้าเที่ยวชมคุกเชียงใหม่เมื่อต้นปี 56 ที่ผ่านมา
ทัศนัย ยังกล่าวด้วยว่า หากมีการตอบรับที่ดีก็จะต่อยอดต่อไป โดยเทศบาลฯ ได้ขอกู้เกิน 100 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อรถเมล์ขนาด 20 ที่นั่ง อีกประมาณ 40 คัน มาให้บริการตามเส้นทางที่กำหนด จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 3 สาย 10 คัน
ในอนาคตเมื่อระบบขนส่งได้รับการตอบรับก็จะออกเทศบัญญัติเมืองเกี่ยวกับการใช้รถ เช่น เขตคูเมืองห้ามรถเข้าวันเสาร์-อาทิตย์ หากจะเข้าต้องเสียค่าใช้จ่าย เพิ่มจุดห้ามจอดเพื่อลดการใช้รถส่วนบุคคล โซนนิ่งการใช้พื้นที่เขตเมือง กำหนดอาคารต้องสูงไม่เกิน 12 เมตร กำหนดโทนสีอาคารเพื่อมุ่งไปสู่เมืองมรดกโลกที่มีความสง่างามทางศิลปะ และวัฒนธรรมล้านนา
อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ไม่เพียงแต่เริ่มมีเสียงครหาเกี่ยวกับแผนการกู้เงินเพิ่มอีก 100 ล้านบาท มาจัดซื้อรถเมล์มาวิ่งให้บริการในตัวเมืองเชียงใหม่เพิ่มเติม ทั้งที่การให้บริการรถเมล์ของเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่เริ่มมาตั้งแต่ยุคผู้เป็นอาของนายกฯ ไก่ เป็นนายกเทศมนตรี ก็ยังคงประสบกับการขาดทุนปีละไม่น้อยกว่า 6 ล้านบาท
โครงการนี้ยังเป็นการปิดล้อมชุมชนรอบอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ย่านชุมชนเก่าแก่กลางเมืองเชียงใหม่ ที่มีโรงเรียนประจำจังหวัด สถานบันการศึกษาอื่นๆ ตั้งอยู่ ไม่น้อยกว่า 6 แห่ง อย่างเลี่ยงไม่พ้น
โดยเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา เครือข่ายชุมชนย่านอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ต.ศรีภูมิ อ.เมืองเชียงใหม่ ได้รวมตัวกันเข้ายื่นหนังสือเรียกร้องต่อ ทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกฯ นครเชียงใหม่ และ ดร.ปรีดา พิชยาพันธ์ ผู้จัดการโครงการหน่วยวิจัยการวางแผนพัฒนาเมืองฯ มช. ขณะที่มีการประชุมที่พิพิธภัณฑ์ล้านนา ด้านหลังอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เพื่อเรียกร้องให้เทศบาลนครเชียงใหม่ ทบทวนโครงการนี้ เนื่องจากสมาชิกในชุมชนรอบอนุสาวรีย์ฯ ที่ถือเป็นผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการโดยตรง ไม่มีโอกาสรับรู้ข้อมูล ไม่มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อโครงการ
พวกเขายกตัวอย่างการประชุมด้านการจัดการจราจร เพื่อรองรับการเดินทางแบบไร้เครื่องยนต์ นำร่องย่านอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ซึ่งจะต้องมีการปรับเส้นทางการจราจร และมีผลกระทบต่อการเดินทาง การใช้ชีวิต และการค้าขายของชาวชุมชน เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2556 แต่ชาวบ้านที่ทำมาค้าขายในย่านดังกล่าว กลับไม่ได้รับแจ้งให้เข้าร่วมการประชุมเพื่อแสดงความคิดเห็น
ตัวแทนชาวบ้านย่านชุมชนอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เปิดเผยว่า พวกเราชุมชนย่านอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ทราบว่า มีหนังสือเชิญจากทางเทศบาลฯ เข้าประชุมร่วมกับทาง มช.เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2556 จากร้านถ่ายรูป แต่สมาชิกชุมชนคนอื่นไม่มีใครได้รับจดหมายเลย จึงเกิดคำถามว่า ทำไมเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงพื้นที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ คนบริเวณใกล้เคียงกลับไม่ได้รับแจ้ง ทั้งๆ ที่เป็นผู้พักอาศัยบริเวณแถบนี้ เราจึงส่งตัวแทนชุมชนไปร่วมแอบฟัง เพราะไม่ได้มีจดหมายเชิญโดยตรงมาถึงเรา พอสอบถามไปทราบว่า มีการพิมพ์จดหมายเชิญไม่กี่ฉบับ โอกาสที่จะส่งถึงมือของคนในชุมชนจึงไม่ครบ
จากการส่งตัวแทนเข้าร่วมฟังพบว่า กำลังมีโครงการปรับปรุงลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ พร้อมทั้งยกระดับถนน วางแนวเหล็กกั้นถนน ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า จะมีการปิดถนนหน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เราจึงเกิดคำถามขึ้นว่า ถ้าหากปิดถนนผลกระทบที่ตามมาไม่ใช่แค่ชุมชนนี้เท่านั้น ยังกระทบโรงเรียน สถาบันการศึกษาในบริเวณนี้ทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 6 แห่ง โดยหนึ่งในนั้นมีโรงเรียนรัฐบาลประจำจังหวัด ซึ่งมีนักเรียนไม่ต่ำกว่า 3 พันคน
นั่นหมายถึงความปั่นป่วนวุ่นวายจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเร่งด่วน ที่มีการรับ-ส่งบุตรหลานทั้งเช้า และเย็นแน่นอน
เมื่อสอบถามต่อไปอีก ทำให้ทราบว่า โครงการนี้เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2555 มีการเชิญชุมชนต่างๆ มาเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นของโครงการขนส่งแบบยั่งยืน คือ เดินทางโดยไร้เครื่องยนต์ 3-4 ครั้ง แต่ไม่มีตัวแทนคนในชุมชนรอบอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง
“ทำไมคนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงกลับไม่ทราบเรื่อง และไม่มีสิทธิที่จะออกความคิดเห็นได้เลยหรือ ทั้งที่เขาเองก็อยากให้มีการพัฒนา เพียงแต่เขาต้องการโอกาสการมีส่วนร่วมด้วย”
ตัวแทนชาวบ้านย่านอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ บอกอีกว่า ชาวบ้านเคยถามคณะทำงานที่เป็นหน่วยวิจัยฯ ได้รับคำชี้แจงว่า ภายใต้แผนงานโครงการนี้ จะมีการปรับปรุงพื้นที่ รวมทั้งยกระดับถนนหน้าอนุสาวรีย์ เพื่อเชื่อมต่อพื้นที่ลานอนุสาวรีย์ และลานพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนาให้เป็นผืนเดียวกัน เพื่อให้มีพื้นที่ใช้สอย รวมถึงจะจัดทำโครงการเพื่อให้เกิดการเดินทางโดยไร้เครื่องยนต์คือผลักดันให้มีการใช้จักรยานในการสัญจรให้มากขึ้น
ในแง่ของชุมชนเองไม่มีใครค้านในการใช้จักรยาน หรืออยู่ร่วมกับจักรยาน เพียงแต่ถ้าดูตามแบบจำลอง จะเห็นว่า มีการปักหมุดบนถนนเสมือนหนึ่งว่าจะมีการปิดถนน แต่ไม่มีคนในชุมชนทราบเรื่องเลย ว่า จะปิดหรือไม่ปิดกันแน่ เพราะถ้าปิดการจราจรรอบๆ พื้นที่จะติดขัดหนักกว่าเดิมแน่นอน
และถ้ามีการยกระดับพื้นถนน คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ถ้าฝนตกน้ำจะไหลไปไหน!? ปลายทางของน้ำอยู่ที่ร้านค้า บ้านเรือนประชาชน เหมือนกับย่านประตูท่าแพ ที่มีการย้ายเสาไฟฟ้าลงใต้ดิน แล้วเกิดปัญหาน้ำท่วมแทบทุกครั้งเมื่อฝนตกหนัก ทั้งที่ในอดีตพื้นที่แถบนี้ไม่เคยถูกน้ำท่วม ใช่หรือไม่ ?
พวกเขาถามว่า ปัญหาเหล่านี้เทศบาลฯ-คณะทำงานโครงการคำนึงถึงหรือไม่