หนองคาย - เจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 9 ขอนแก่นลงพื้นที่ อ.สังคม หลังขุดพบไหบรรจุพระ พร้อมขึ้นทะเบียนพระบุเงิน บุทอง 68 องค์ อายุราว 600 ปี คาดอาจถูกโจรกรรมมาซ่อนไว้ ส่วนชาวบ้านลือหายไป 3 ไห และร้องขอเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาวบ้าน
วานนี้ (18 ก.ค.) ที่สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นางิ้ว อ.สังคม จ.หนองคาย นายสุชัย ตั้งชูพงศ์ นายอำเภอสังคม น.ส.พิกุล สมัครไทย นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 9 ขอนแก่น นายกานต์ รับสมบัติ ภัณฑรักษ์ ปฏิบัติการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น น.ส.แสงดาว อยู่ดี ภัณฑรักษ์ ปฏิบัติการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง จ.อุดรธานี พ.ต.ท.นิพนธ์ สมานชาติ สวญ.สภ.นางิ้ว
พร้อมกำลังฝ่ายปกครอง และตำรวจ สภ.นางิ้ว เข้าตรวจสอบพระพุทธรูปบุเงิน บุทอง 68 องค์ และฐานไม้โหรงอีก 7 อัน ที่ขุดพบในจอมปลวกสวนยางพาราของนางเสี่ยน สามีวัง ราษฎรบ้านนาบอน หมู่ 5 ต.นางิ้ว เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม และถูกนำมาเก็บรักษาไว้ที่สำนักงาน อบต.นางิ้วเพื่อความปลอดภัย
จากนั้นนายกานต์ และ น.ส.แสงดาวชี้แจงต่อชาวบ้านถึงระเบียบปฏิบัติว่า สิ่งที่ขุดค้นพบเป็นสมบัติของแผ่นดิน ที่ต้องนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่อยู่ใกล้เคียงที่สุด ส่วนการจะเก็บรักษาไว้ในพื้นที่ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากรเพื่อพิจารณาเป็นกรณีไป ทั้งนี้ ต้องปฏิบัติตามระเบียบที่กำหนดไว้ ทั้งด้านการรักษาสภาพ ความมั่นคงแข็งแรงของสถานที่เก็บรักษาเพื่อความปลอดภัย หากเกิดความเสียหายหรือสูญหายต้องมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน
ขณะที่นายบุญถ้วน เนตรภักดี ผู้ใหญ่บ้านนาบอน กล่าวว่า ชาวบ้านยินดีปฏิบัติตามทุกเงื่อนไข ทั้งนี้เพื่อเก็บรักษาพระพุทธรูปทั้งหมดไว้ให้เป็นสมบัติของชาวบ้าน ให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้บูชา ที่สำคัญคือ ขณะนี้ชาวบ้านกำลังร่วมกับวัดจัดสร้างโบสถ์และศาลาการเปรียญวัดศรีสว่างนาบอน จึงอยากได้สิ่งที่เป็นมงคลนี้ไว้เพื่อเป็นแรงศรัทธาจากพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้ร่วมกันดำเนินการโครงการดังกล่าว
จากนั้นได้แต่งตั้งกรรมการขึ้นมารับผิดชอบ เป็นพระ 1 รูป ฆราวาส 9 คน โดยมีนายก อบต.นางิ้วเป็นประธาน กำนันตำบลนางิ้ว และผู้ใหญ่บ้านนาบอน เป็นรองประธาน คณะกรรมการ เพื่อเสนอต่ออธิบดีกรมศิลปากรพิจารณา ส่วนระหว่างการรอพิจารณาจะยังเก็บรักษาไว้ที่สำนักงาน อบต.นางิ้ว พร้อมจะได้มีการระดมทุนทรัพย์จากชาวบ้านเพื่อก่อสร้างอาคารถาวรภายในบริเวณวัดศรีสว่างนาบอนเพื่อเก็บรักษาพระพุทธรูปดังกล่าว
เจ้าหน้าที่จึงจัดทำบัญชีขึ้นทะเบียนพระพุทธรูปทั้ง 68 องค์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่มีฐานกว้างขนาด 2-9 เชนติเมตร สูง 17.5-18 เซนติเมตร ไว้เป็นหลักฐานทางราชการ ส่วนฐานไม้โหรงอีก 7 อันไม่ได้ขึ้นทะเบียน
ขณะที่ น.ส.พิกุล นายสุชัย พ.ต.ท.นิพนธ์ ออกตรวจพื้นที่สวนยางพาราของนางเสี่ยน โดยตรวจดูที่จอมปลวกที่ถูกขุดพบพระบุเงิน บุทอง และยังมีจอมปลวกอยู่ใกล้เคียงกันในสภาพที่สมบูรณ์
ซึ่ง น.ส.พิกุลกล่าวว่า พระบุเงิน บุทอง นิยมสร้างกันสมัยล้านช้าง ประมาณพุทธศตวรรษที่ 19 หรือ พ.ศ. 1800 มาเสื่อมความนิยมกันเมื่อประมาณ 100 ปีเศษ จึงบอกชัดเจนไม่ได้ว่าอายุเท่าไหร่ แต่บอกได้ว่าประมาณ 600-1,000 ปี ซึ่งเป็นที่นิยมกันในภาคอีสาน ส่วนพื้นที่ขุดพบไม่พบหลักฐานอื่นบนเนินดิน น่าจะเป็นเนินดินธรรมชาติแล้วมีคนนำมาฝังไว้ อย่างไรก็ตาม พื้นที่ที่ขุดพบเป็นแหล่งโบราณคดีแล้ว มีกฎหมายควบคุม จึงไม่สามารถขุดค้นต่อไปได้อีก จึงอยากให้ชุมชนและเจ้าหน้าที่ช่วยกันดูแลรักษาไว้ อย่าให้มีการลักลอบขุดค้นอีก หากใครฝ่าฝืนจะถูกจับกุม และดำเนินคดีตามกฎหมายทันที
จากการเปิดเผยของชาวบ้านที่ติดตามดูการตรวจพื้นที่เล่าว่า เมื่อประมาณปี 2499 มีคนร้ายไม่ทราบจำนวนได้ขโมยขุดเอาไหดินที่บรรจุพระ 2 ไห และไหดินบรรจุเงินและทองคำอีก 1 ไหออกจากวัดโพธิ์วนาราม ซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้าน จากนั้นปี 2500 ได้เกิดอาเพศอย่างใหญ่ ไฟไหม้วอดทั้งหมู่บ้าน ชาวบ้านต้องอพยพหมู่บ้านไปตั้งถิ่นฐานแห่งใหม่ และเชื่อว่าไหดินที่พบ 2 ไหจะถูกขโมยจากวัดโพธิ์วนาราม ซึ่งอยู่ห่างจากวัดเพียงแค่ประมาณ 1 กิโลเมตรเท่านั้น
ส่วนไหดินที่บรรจุเงินและทองคำอาจถูกฝังอยู่ในพื้นที่ใกล้กันก็เป็นได้ นอกจากนี้ยังมีพระประธานขนาดใหญ่ที่ถูกขโมยไป โดยสมัยนั้นยังขึ้นตรงต่อ อ.ท่าบ่อ ได้มีการสำรวจของมีค่าในพื้นที่เพื่อนำไปเก็บรักษาไว้เพื่อความปลอดภัย ในจำนวนนั้นทางการได้ให้กำนัน และผู้ใหญ่บ้านนำสุ่มไก่ทองคำไปด้วย โดยได้ค่าจ้างแบกหามรวม 60 บาท และไม่ทราบว่าตอนนี้สุ่มไก่ทองคำไปเก็บรักษาไว้ที่ใดเช่นกัน