ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ไข้เลือดออกระบาดหนักในภาคอีสาน ล่าสุดนักศึกษา ม.ขอนแก่นเสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออกแล้ว 1 ราย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แถลงแสดงความเสียใจ เผยสถานการณ์โรคไข้เลือดออกวิกฤตรุนแรงกว่าทุกปี เหตุโลกร้อนเอื้อต่อวงจรชีวิตยุงลายไข่ได้มากขึ้น
วันนี้ (15 ก.ค.) ที่ห้องประชุมสีฐาน โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมคณะอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ, ด้านเวชบำบัดวิกฤต และด้านระบบการหายใจ นางนงลักษณ์ เทศนา รองผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมโรคที่ 6 ขอนแก่น ร่วมแถลงข่าวกรณีนักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ เสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออก
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ กล่าวแสดงความเสียใจกรณีนักศึกษาหญิง ซึ่งเป็นน้องใหม่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ถือเป็นคนของมหาวิทยาลัยขอนแก่นมานานหลายปี ต้องมาเสียชีวิตลงในวัยเพียง 18 ปีด้วยโรคไข้เลือดออก เมื่อเวลาประมาณ 3.21 น. วันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา
กรณีของนักศึกษาคนดังกล่าวมีอาการไข้สูงนาน 5 วันโดยไม่ได้ไปรักษาที่ใด จากนั้นวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมาได้ตรวจรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งและได้ส่งตัวรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ในคืนวันเดียวกันนั้น ซึ่งทีมแพทย์ตรวจรักษาและวินิจฉัยเป็นโรคไข้เลือดออก แต่มีลักษณะอาการไม่ตรงไปตรงมาเนื่องจากมีไข้สูงลอยตลอดเวลา
แพทย์จึงให้การรักษาโรคไข้เลือดออกพร้อมกับรักษาอาการโรคติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย ต่อมาพบว่าผู้ป่วยมีอาการรุนแรงขึ้น ทีมแพทย์จึงได้ให้เกล็ดเลือด พลาสมา และเม็ดเลือดแดงทดแทน แต่อาการไม่ดีขึ้นจนเสียชีวิตดังกล่าว ซึ่งนับเป็นผู้ป่วยโรคไข้เลือดดออกที่เสียชีวิตเป็นรายที่ 2 ของจังหวัดขอนแก่น โดยรายแรกเป็นเด็กหญิงอายุ 11 ขวบ ซึ่งทั้งสองเป็นคนในพื้นที่อำเภอเมืองขอนแก่น
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นจะเป็นเจ้าภาพในงานสวดพระอภิธรรมศพ 1 คืน และได้สอบสวนถึงความเป็นไปได้ของการติดเชื้อไข้เลือดออก พบว่านักศึกษามีบ้านในตัวเมืองขอนแก่น ซึ่งจะกลับไปพักอาศัยที่บ้านทุกเสาร์-อาทิตย์ ส่วนวันธรรมดาพักที่หอพักภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งในโซนเดียวกันมีอาคารหอพักหลายอาคาร มีนักศึกษากว่าพันคน
โดยนักศึกษาปี 1 นอกจากเรียนตามปกติแล้วยังมีกิจกรรมซ้อมเชียร์ช่วงเย็นตามคณะด้วย ซึ่งทางสำนักงานควบคุมโรคที่ 6 ขอนแก่น หรือ สคร.ที่ 6 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการฉีดพ่นยากำจัดยุงลายแล้วภายใน 24 ชั่วโมงตั้งแต่ทราบเหตุมีผู้ป่วยไข้เลือดออกในมหาวิทยาลัย
ด้านนางนงลักษณ์ เทศนา รองผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมโรคที่ 6 ขอนแก่น (สคร.ที่ 6) ยอมรับว่าภาวะโลกร้อนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้วงจรชีวิตของยุงลายเปลี่ยนมาก ทำให้ยุงลายสามารถไข่ได้ถึง 5 ครั้งตลอดช่วงอายุขัย ขณะที่พฤติกรรมการดูดเลือดยุงลายจะดูดครั้งละนิดหน่อย บินไปดูดเลือดหลายๆ คน ทำให้เกิดการแพร่เชื้อไข้เลือดออกมากขึ้น
ขณะที่นิสัยของยุงลายเปลี่ยนจากกัดเฉพาะกลางวันเป็นกัดได้ตลอดวัน ทั้งยุงลายยังรู้วิธีหลบยาพ่น รู้วิธีหลบทรายอะเบต เลี่ยงหาสถานที่วางไข่ใหม่ทันที ดังนั้นประชาชนต้องระมัดระวังทั้งการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และป้องกันไม่ให้ยุงกัดทั้งกลางวันกลางคืน และกางมุ้งนอนเพื่อความปลอดภัยที่สุด
สำหรับจังหวัดขอนแก่นแนวโน้มผู้ป่วยไข้เลือดออกมีสถิติสูงขึ้นกว่าช่วงเวลาเดียวกันของทุกปีที่ผ่านมา นับเป็นวิกฤตของโรคไข้เลือดออก จากต้นปี 56 ถึงปัจจุบันนี้มีผู้ป่วยไข้เลือดออกทั้งประเทศแล้ว 67,889 ราย
จังหวัดขอนแก่นมีผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้วกว่า 1,018 ราย เป็นผู้ป่วยที่มีเชื้อไม่รุนแรง 32%, ผู้ป่วยมีจุดเลือดชัดเจน 25% และอีก 19% เป็นผู้ป่วยรุนแรงมีอาการช็อก มีผู้เสียชีวิตแล้ว 2 ราย และยังอยู่ในห้องไอซียูในส่วนของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ 3 ราย เป็นเด็กในจังหวัดขอนแก่น 1 ราย และเป็นผู้ป่วยส่งตัวมาจากจังหวัดร้อยเอ็ด 2 ราย ซึ่งเป็นเด็ก 1 ราย และเป็นคุณแม่หลังคลอดที่ติดเชื้อไข้เลือดออกอีก 1 ราย