ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่เชิญชวนประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงขอรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่ 1 มิ.ย.-30 ก.ย. ผู้สนใจติดต่อ รพ.ส่งสริมสุขภาพตำบล-รพ.ประจำอำเภอได้ทันที แจงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกยังน่าห่วงหลังตัวเลขเพิ่มต่อเนื่อง คาดสิ้นเดือน ก.ค.ยอดเกิน 6,000 รายแน่ แนะประชาชนเป็นไข้ให้สงสัยว่าป่วยเป็นไข้เลือดออกไว้ก่อน
นายแพทย์วัฒนา กาญจนกามล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยถึงการดำเนินการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูกาลของจังหวัดเชียงใหม่ว่า ในทุกๆ ปีกระทรวงสาธารณสุขจะให้บริการฉีดวัคซีนแก่ประชาชน 7 กลุ่มเป้าหมายเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ โดยในปีนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่มีเป้าหมายให้บริการรวม 72,968 ราย ซึ่งได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในทั้ง 7 กลุ่มเสี่ยงไปรับวัคซีนนับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.-30 ก.ย.นี้ รวมทั้งได้จัดการฉีดวัคซีนให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ในวันนี้ (12 ก.ค.) ด้วยเช่นกัน
นายแพทย์วัฒนากล่าวว่า การดำเนินการฉีดวัคซีนในทุกพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่นั้น ได้มอบหมายให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเป็นผู้รับขึ้นทะเบียนให้ผู้ที่ต้องการรับวัคซีน และให้โรงพยาบาลอำเภอทุกแห่งเป็นผู้รับผิดชอบในการให้บริการฉีดวัคซีน โดยให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการนัดหมายกับโรงพยาบาลประจำอำเภอในการฉีดวัคซีน รวมทั้งประสานไปยังโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ในคู่สัญญาหลักประกันสุขภาพหรือบัตรทองในเขตเมืองเพื่อร่วมให้บริการด้วย
นายแพทย์วัฒนากล่าวต่อไปว่า สำหรับวัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขนำมาบริการประชาชนเป็นวัคซีนที่สามารถป้องกันเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ 3 สายพันธุ์ ประกอยด้วย สายพันธุ์ H1N1, H3N2 และ FLuB ขณะที่กลุ่มเป้าหมายทั้ง 7 กลุ่มที่ควรไปลงทะเบียนเพื่อขอรับวัคซีนประกอบด้วย 1. บุคลากรทางการแพทย์ 2. หญิงมีครรภ์ที่มีอายุครรภ์มากกว่า 4 เดือน 3. บุคคลที่เป็นโรคอ้วน มีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือมีค่า BMI มากกว่า 35 4. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 5. บุคคลอายุ 2 ปีขึ้นไปจนถึง 65 ปี ที่มีโรคเรื้อรัง 9 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรตไตวาย โรคมะเร็งที่กำลังให้เคมีบำบัด โรคเบาหวาน โรคทาลัสซีเมีย และโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมถึงผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการ) 6. บุคคลที่มีอายุมากกว่า 65 ปี และ 7. เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ขวบ
ขณะที่เด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน คนที่มีประวัติแพ้ไข่ไก่อย่างรุนแรง ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้วมีอาการแพ้อย่างรุนแรง และผู้ที่มีอาการไข้หรือเจ็บป่วยเฉียบพลัน หรือมีโรคประจำตัวที่มีอาการกำเริบ ควบคุมไม่ได้ ควรเลื่อนการรับวัคซีนออกไปก่อน
นอกจากนี้ นายแพทย์วัฒนายังได้กล่าวถึงสถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกในจังหวัดเชียงใหม่ด้วยว่า ในหลายพื้นที่ยังคงพบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมามีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกกว่า 2,000 ราย ซึ่งเป็นสถิติที่สูงกว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และทำให้ยอดรวมของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในจังหวัดเชียงใหม่สูงเกิน 5,000 รายแล้ว และเมื่อรวมตัวเลของผู้ป่วยในเดือนนี้ซึ่งคาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 2,000 ราย จะส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกของจังหวัดเชียงใหม่จะเกินกว่า 6,000 รายอย่างแน่นอน รวมทั้งจะสูงกว่าในปี 2553 ซึ่งมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกรวม 6,500 ราย และเป็นปีที่สถิติผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสูงที่สุดในรอบ 10 ปี
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ระบุว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกเป็นเรื่องที่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องยังคงติดตามและพยายามใช้มาตรการต่างๆ เพื่อชะลอความรุนแรงของการแพร่ระบาดลง เนื่องจากโดยปกติโรคไข้เลือดออกจะมีการแพร่ระบาดสูงสุดในช่วงตั้งแต่ปลายเดือน ก.ค.จนถึงสิ้นเดือน ก.ย.ของทุกปี แต่ในขณะนี้แม้จะยังไม่เข้าสู่ช่วงที่โรคมีการระบาดสูงสุดแต่สถิติผู้ป่วยกลับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อตัดตอนการเจริญเติบโตของยุงลายและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้เพิ่มการแจกสเปรย์กระป๋องให้ประชาชนเพื่อฉีดฆ่ายุงภายในบ้านเรือนเพิ่มขึ้นแล้ว เช่นเดียวกับการแจกยาทากันยุงแก่กลุ่มผู้ป่วยเพื่อทาป้องกันตนไม่ให้ยุงกัดและกลายเป็นพาหะแพร่เชื้อแล้ว ดังนั้นจึงขอความร่วมมือไปยังกลุ่มผู้ป่วยให้ทายากันยุงเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ส่วนผู้ที่มีอาการไข้ในช่วงนี้ให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคไข้เลือดออกไว้ก่อน และรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยทันที