xs
xsm
sm
md
lg

พบวัดเก่าแก่โผล่ “ดอยม่อนธาตุ” เชียงราย ชาวบ้าน-พระลุยขุดเสี่ยงเสียหาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - พบฐานวิหารเก่าแก่-โบราณวัตถุโผล่ “ยอดดอยม่อนธาตุ” เมืองเชียงราย ชาวบ้าน-พระพากันขุดแต่งพื้นที่เตรียมทำเป็นสำนักปฏิบัติธรรม หวั่นหลักฐานทางประวัติศาสตร์เสียหาย

วันนี้ (10 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.เชียงรายว่า ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาชาวบ้านจากบ้านทุ่งยาว หมู่ 2 ต.แม่ข้าวต้ม อ.เมือง จ.เชียงราย พร้อมคณะสงฆ์ ต่างนำจอบเสียมขึ้นไปบูรณะตกแต่งบริเวณวัดร้างบนเนินที่ชาวบ้านเรียกว่า “ดอยม่อนธาตุ” เพื่อพัฒนาให้เป็นสำนักปฏิบัติธรรม หลังพบว่ายอดดอยม่อนธาตุซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 7 ไร่เคยเป็นที่ตั้งของวัด เพราะมีฐาน รูตั้งเสา และโบราณวัตถุ ทั้งอิฐโบราณ แผ่นโละ เสียม มีด โครงสร้างของวิหารโบราณเป็นใบระกา ชิ้นส่วนช่อฟ้า หลังคากระเบื้องเคลือบ ส่วนประดับนับร้อยชิ้น รวมทั้งพบพระพุทธรูปที่เมื่อส่องด้วยกล้องระยะใกล้พบมีประกายทองคำระยิบระยับ นอกจากนี้ยังพบพระองค์เล็กๆ ในลักษณะเดียวกัน ตลอดจนเงินเบี้ย

ซึ่งจากลวดลายที่ปรากฏบนโบราณวัตถุไม่เคยพบเห็นมาก่อน แต่มีลักษณะคล้ายกับวัดที่เมืองเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศพม่า ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของชาวไทใหญ่ ไทเขิน ฯลฯ และไม่เคยมีใครทราบชื่อวัดดังกล่าวด้วย รู้กันแต่ว่าเป็นวัดร้างที่มีแต่ฐานอยู่ในป่าละเมาะนี้เท่านั้น

นายชูวิทย์ จันทร์คำ ผู้ใหญ่บ้านทุ่งยาว กล่าวว่า ที่ดินรอบดอยม่อนธาตุมีผู้เข้าไปจับจองถือครองทำการเกษตรกันเกือบทั้งหมด ต่อมาดอยม่อนธาตุก็ถูกนายชัชวาลย์ สอนดี เข้ามาจับจองทำการเกษตรเช่นกัน แต่หลังจากนายชัชวาลย์เข้าไปถือครองแล้วมีอาการเจ็บป่วยจึงได้ถวายที่แห่งนี้ให้คณะสงฆ์ ต.แม่ข้าวต้ม ซึ่งทางคณะสงฆ์ก็ได้แจ้งชาวบ้านว่าจะพัฒนาเป็นสำนักปฏิบัติธรรม ซึ่งชาวบ้านก็เห็นสมควรเพราะสงบและมีโบราณสถานตั้งอยู่

โดยจะปรับพื้นที่ซึ่งเป็นฐานของวัดเก่าแก่ให้รู้ขอบเขตของฐานที่ชัดเจน เอาดินและวัชพืชออกเท่านั้น และมีโครงการจะสร้างพระธาตุขึ้นในบริเวณใกล้เคียงกัน ส่วนโบราณวัตถุต่างๆ ที่ขุดพบก็จะเก็บรักษาเอาไว้อย่างดี

ด้าน น.ส.ฉัตรลดา สินธุสอน หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จ.เชียงราย กล่าวว่า ดูจากภาพถ่ายเบื้องต้นพบเป็นลักษณะเนินโบราณสถาน และมีเครื่องประดับสถาปัตยกรรม เช่น ชิ้นส่วนใบระกาทำจากดินเผาที่หลุดจากหลังคา ซึ่งเคยพบลักษณะการตกแต่งโครงสร้างหลังคาในสถาปัตยกรรมสุโขทัย และสถาปัตยกรรมของชาวไทเขิน ในเมืองเชียงตุง นอกจากนี้พบชิ้นส่วนของอาคารจำลองที่มีลักษณะของพญาธาตุ เครื่องมือเหล็กที่เป็นเครื่องใช้ในการเกษตร เป็นต้น สันนิษฐานว่าโบราณสถานแห่งนี้มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 23-24

แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ การขุดหาสิ่งของโดยชาวบ้านทำให้การเก็บหลักฐานทางวิชาการโบราณคดีของท้องที่เสียหาย จึงจะประสานทางพื้นที่ให้ระงับการขุด และจะแจ้งให้สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ทราบ เพื่อเข้ามาสำรวจและดำเนินการต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น