xs
xsm
sm
md
lg

3 เขื่อนใหญ่โคราชเข้าขั้นวิกฤตน้ำเหลือไม่ถึง 30%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - 3 เขื่อนใหญ่โคราชเข้าขั้นวิกฤต ฝนไม่ช่วยเติมน้ำเพิ่มให้อ่าง ล่าสุด ปริมาณน้ำเหลือไม่ถึง 30% ของความจุ ส่งผลต่อการปลูกข้าวนาปี ด้าน ผอ.ชลประทานที่ 8 เผยน้ำมีเพียงพอแค่อุปโภคบริโภคเท่านั้น ล่าสุด สั่งชาวนาให้ชะลอการทำนาปีออกไปก่อนหวั่นต้นข้าวเสียหาย

วันนี้ (28 มิ.ย.) หม่อมหลวงอนุมาศ ทองแถม ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 8 นครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางของจังหวัดนครราชสีมา ว่า เขื่อนเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 5 โครงการ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวม 286.78 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 30.57% ความจุที่ระดับเก็บกัก รวม 938.12 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 22 โครงการ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวม 77.88 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 34.35% ความจุที่ระดับเก็บกัก รวม 226.74 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 364.66 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 31.30% ความจุที่ระดับเก็บกัก

หม่อมหลวงอนุมาศ กล่าวว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ที่ใช้ในการอุปโภคบริโภค รวมถึงใช้เพื่อการเกษตรของประชาชนชาว จ.นครราชสีมา อยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากฝนที่ตกลงมาในช่วงนี้ไม่ได้เติมน้ำให้เขื่อนมากนัก หรือเพิ่มขึ้นแค่ร้อยละ 1-3 เท่านั้น โดยล่าสุด เขื่อนลำตะคอง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบในการผลิตประปาขององค์กรปกครองท้องถิ่นหลายแห่งรวมถึงเทศบาลนครนครราชสีมา มีปริมาณน้ำ70 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 22 ของความจุที่ระดับกักเก็บ 314 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำพระเพลิง มีปริมาณน้ำ31.8 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 29 ของความจุที่ระดับกักเก็บ 109 ล้าน ลบ. เขื่อนมูลบน มีปริมาณน้ำ 38 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 27 ของความจุที่ระดับกักเก็บ 141 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำแชะ มีปริมาณน้ำ 95.8 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 34 ของความจุที่ระดับกักเก็บ 275 ล้าน ลบ.ม.

อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำที่มีอยู่ทั้ง 5 เขื่อนนี้ จะมีใช้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคเท่านั้น ส่วนน้ำที่ใช้เพื่อการเกษตรโดยเฉพาะการทำนาปี จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน โดยพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดอยู่ในพื้นที่ใต้เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำมูลบน และเขื่อนพระเพลิง ทางชลประทานจังหวัดได้ประกาศให้ชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปีออกไปก่อนเพราะปริมาณน้ำที่มีอยู่ในเขื่อนหลักๆ ทั้ง 3 เขื่อนนี้ ไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร ฉะนั้นจึงขอให้ประชาชนปฏิบัติตามคำเตือนของเจ้าหน้าที่

“สำหรับพื้นที่ดังกล่าวข้างต้น เกิดปัญหาฝนทิ้งช่วงทำให้ปริมาณน้ำในอ่างมีไม่เพียงพอสำหรับทำการเกษตร เนื่องจากส่วนใหญ่น้ำที่ใช้ในการทำนาปีนั้นได้มาจากฝนที่ตกตามฤดูกาล แต่ขณะนี้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงนานทำให้ระดับน้ำที่มีอยู่ในอ่างมีไม่เพียงพอ หากต้องแจกจ่ายให้เพื่อการเกษตร หรือทำนาปี อาจกระทบต่อน้ำที่ใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคได้ ฉะนั้นจึงต้องขอความร่วมมือจากประชาชนในเขตพื้นที่ดังกล่าวให้ชะลอการทำนาปีออกไปก่อน อย่าฝืนทำเนื่องจากเกรงว่าต้นข้าวจะได้รับความเสียหายเพราะขาดน้ำได้” หม่อมหลวงอนุมาศกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น