นครสวรรค์ - นักสิ่งแวดล้อมเกาหลี แฉ “เค วอเตอร์” ไร้ศักยภาพสร้างฟลัดเวย์-แก้มลิง ตามโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน แถมหนี้ท่วมหัวกว่า 700% บอกที่ผ่านมาได้งานในเกาหลีเพราะสิทธิพิเศษทางการเมืองเท่านั้น แถมซ่อนเร้นข้อมูลเพียบ สงสัยรัฐบาลไทย-เกาหลีมีข้อตกลงพิเศษหรือไม่
รายงานข่าวจากจังหวัดนครสวรรค์แจ้งว่า ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมได้ร่วมกับโครงการสื่อสารสุขภาวะคนชายขอบ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม จากสมาพันธ์สิ่งแวดล้อมเกาหลี และกลุ่มนักวิชาการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำสื่อมวลชนลงพื้นที่บริเวณที่จะมีการสร้างทางผันน้ำ หรือฟลัดเวย์ และพื้นที่ทำแก้มลิง-พนังกั้นน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมในเขตนครสวรรค์ ภายใต้งบประมาณจากเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาล
คณะดังกล่าวได้เข้าสำรวจชุมชนเกาะยม บริเวณสามเหลี่ยมปากน้ำโพ ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำปิง และแม่น้ำน่านบรรจบกัน และอยู่ในส่วนของพื้นที่ปิดล้อมเพื่อป้องกันน้ำท่วมหรือแก้มลิง ซึ่งที่ผ่านมาทางเทศบาลนครสวรรค์ได้มีจดหมายถึงผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ที่จะต้องถูกใช้เป็นพื้นที่รองรับน้ำ แต่ไม่ได้แจ้งรายละเอียดว่าคนที่อยู่ในพื้นที่จะต้องเตรียมตัวเพื่อเผชิญกับอะไรบ้าง และไม่รู้ว่าพื้นที่อยู่อาศัยของตัวเองจะต้องถูกใช้เป็นแหล่งรองรับน้ำ
หลังจากนั้นคณะผู้สื่อข่าวสำรวจเนินดินที่ขุดจากบึงบอระเพ็ด จำนวน 4 ล้านคิวบิกเมตร ที่ได้ปิดกั้นทางน้ำไหลที่จะเข้ามาในบริเวณบึงบอระเพ็ด ทำให้ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาปริมาณปลาในบึงบอระเพ็ดลดลงจำนวนมาก ขณะที่เทศบาลนครสวรรค์ได้ประกาศบอกกับชาวบ้านว่าจะใช้พื้นที่บริเวณดังกล่าวสำหรับเป็นที่อพยพของชาวบ้านหากเกิดน้ำท่วมเข้ามาในพื้นที่
ด้าน นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ(ประเทศไทย) กล่าวว่า บึงบอระเพ็ดเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เข้ามาขุดดินจากบึงแล้วนำไปถมข้างๆ บึง เพื่อจะทำเป็นพื้นที่อพยพของคน ไม่มีการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเสนอให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาเลย โดย จ.นครสวรรค์อ้างว่าเป็นโครงการเร่งด่วนที่จำเป็นต้องทำทันที ทาง สผ.เพิ่งจะมารู้เรื่องนี้ในวันที่มีการถมดินเกือบเสร็จแล้ว
“วันนี้เกิดความเสียหายกับชาวบ้านที่ต้องทำมาหากิน หาปลาอยู่ในบึงบอระเพ็ด เพราะดินที่ถมนั้นส่วนหนึ่งทับแหล่งเพาะพันธุ์ปลา พื้นที่ที่สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอย่างเต่า และจระเข้วางไข่ ทำให้ทุกวันนี้ปริมาณปลาลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวที่เคยเห็นจระเข้ปรากฏบ่อยครั้งก็กลายเป็นนานๆ ครั้งจึงจะเห็นจระเข้สักตัว” นายหาญณรงค์กล่าว
นายหาญณรงค์กล่าวว่า การจะแก้ปัญหาอย่างหนึ่งแต่กลับไปสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้นมาแล้วหลายพื้นที่ในประเทศไทย ส่วนหนึ่งนั้นเกิดจากไม่มีการสื่อสารและขอความคิดเห็นร่วมกันของประชาชนและชาวบ้านผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่
นายยัม ยุง โซ ผู้อำนวยการสมาพันธ์สิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้ ซึ่งติดตามการทำงานของบริษัท เค วอเตอร์ ที่ประมูลงานระบบฟลัดเวย์ และทำพื้นที่แก้มลิง ภายใต้งบประมาณ 1.63 แสนล้านบาท จากโครงการเงินกู้เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม 3.5 แสนล้านบาท กล่าวว่า จากการศึกษาการทำงานของบริษัท เค วอเตอร์ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจประเทศเกาหลีใต้ โดยรัฐบาลถือหุ้น 99 เปอร์เซ็นต์ ผลงานที่ผ่านมาในการทำฟลัดเวย์เพื่อเป็นคลองระบายน้ำระยะทาง 18 กิโลเมตร กว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จใช้เวลาศึกษา 10 ปี และผ่านหลายกระบวนการกว่าจะแล้วเสร็จ
สำหรับแผนงานโมดูล เอ 3 แก้มลิงที่บริษัท เค วอเตอร์ ได้รับการคัดเลือกดำเนินโครงการนี้ ส่วนตัวเชื่อมั่นว่าบริษัท เค วอเตอร์ ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากไม่มีประสบการณ์ในการบริหารพื้นที่ขนาดใหญ่กว่าล้านไร่เช่นนี้ เพราะที่ผ่านมาบริษัท เค วอเตอร์ ดำเนินการด้านการก่อสร้างเขื่อนและระบบระบายน้ำในพื้นที่ขนาดเล็กเท่านั้น
จึงเกิดข้อสงสัยว่าระหว่างบริษัท เค วอเตอร์ กับรัฐบาลไทยมีนัยสำคัญในการดำเนินโครงการนี้อย่างไรหรือไม่ และที่ผ่านมาโครงการขนาดใหญ่ดังกล่าว ประชาชนประเทศเกาหลีใต้ไม่รับทราบข้อมูลเรื่องนี้เลย
“ทั้งนี้ การดำเนินโครงการขนาดใหญ่ในประเทศเกาหลีใต้ เค วอเตอร์จะปิดข้อมูลเป็นความลับ ไม่เปิดเผยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เกิดปัญหาติดสินบนไม่ทำการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน ซึ่งกระบวนการเปิดเผยข้อมูลจะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อประชาชนในพื้นที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาเปิดเผยข้อมูลเท่านั้น”
นายยัม ยุง โซ กล่าวอีกว่า ในการดำเนินโครงการทุกโครงการ บริษัท เค วอเตอร์ สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากผู้บริหาร หรือซีอีโอบริษัทมาจากนักการเมืองและแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี ดังนั้นผลการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ เช่น การก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในแม่น้ำ 4 สาย มูลค่า 2 หมื่นล้านวอน ซึ่งทำลายสิ่งแวดล้อมและไม่มีการศึกษาผลกระทบ แต่ก็สามารถดำเนินการได้ เพราะบริษัทเค วอเตอร์ ใช้อภิสิทธิพิเศษทางการเมือง แม้จะดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามเสียงเรียกร้องของประชาชนก็จะทำแบบรวบรัดตัดตอน
“แต่ขณะนี้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินกำลังเข้าไปสอบสวนอยู่” นายยัมกล่าว
นายยัม ยุง โซกล่าวอีกว่า จะนำบรรยากาศและสถานการณ์ที่ประชาชนคนไทยเป็นห่วงต่อการดำเนินโครงการเอ 3 แก้มลิง และเอ 5 ฟลัดเวย์ ซึ่งจะส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิถีชุมชนไปเผยแพร่ให้ประชาชนเกาหลีรับทราบ ผ่านเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนทางวิชาการและการแลกเปลี่ยนลงพื้นที่ระหว่างกัน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ชาวเกาหลีควรรับทราบ เนื่องจากบริษัทมาในนามของประเทศเกาหลี หากเกิดความเสียหายขึ้นจะทำให้เสียชื่อประเทศเกาหลีด้วย
“ขณะนี้สถานการณ์ด้านการเงินของเควอเตอร์ย่ำแย่ หนี้ท่วมสูงขึ้นกว่า 700 เปอร์เซ็นต์ เขาแทบไม่มีงานในเกาหลีแล้ว เพราะไม่มีพื้นที่สร้างเขื่อน และผมเชื่อว่าเขาไม่มีศักยภาพพอที่จะทำโครงการขนาดใหญ่นี้ได้” นายยัมกล่าว