มหาสารคาม - สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคามเตือนกินเห็ดพิษอันตรายถึงตาย พร้อมแนะวิธีกินเห็ดปลอดภัย
นายแพทย์ปิติ ทั้งไพศาล รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า ระยะนี้เริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูฝนทำให้มีเห็ดป่าออกมาจำหน่ายตามท้องตลาด หรือตลาดชุมชนเพิ่มมากขึ้น โดยแต่ละปีจะมีชาวบ้านนิยมรับประทานเห็ดทั้งที่ซื้อตามตลาดและหาจากป่า ซึ่งการรับประทานเห็ดทำให้พบผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรวมทั้งพบผู้เสียชีวิตทุกปี
สำหรับเห็ดที่มักนํามาบริโภคหรือจําหน่ายมีทั้งเห็ดที่กินได้และเห็ดมีพิษ เห็ดที่กินได้ เช่น เห็ดโคน เห็ดไค เห็ดระโงก เห็ดเผาะ เป็นต้น ส่วนเห็ดที่มีพิษ เช่น เห็ดตับเต่าบางชนิด เห็ดระโงกหิน เห็ดไข่ห่านตีนตํ่า เห็ดเกล็ดดาว
ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยในการเลือกกินเห็ดต้องรู้จักเห็ดชนิดนั้น เวลาเก็บเห็ดต้องเก็บให้ครบทุกส่วน เก็บเห็ดที่มีลักษณะรูปร่างสมบูรณ์เท่านั้น รวมถึงเวลาเก็บให้แยกชนิดเป็นชั้นโดยนํากระดาษหรือใบตองรองในตะกร้า อย่าเก็บเห็ดภายหลังพายุฝนใหม่ๆ เพราะมีเห็ดบางชนิดที่สีบนหมวกอาจถูกชะล้างให้จางลงไป นอกจากนี้เก็บเห็ดมาแล้วควรปรุงอาหารทันที ไม่ควรเก็บไว้นาน ที่สำคัญห้ามกินเห็ดดิบๆ โดยเด็ดขาด
ส่วนเห็ดที่ไม่เคยกินควรกินเพียงเล็กน้อยในครั้งแรก และไม่ควรเก็บเห็ดที่ขึ้นใกล้โรงงานสารเคมี หากกินเห็ดพิษจะแสดงอาการหลายแบบขึ้นอยู่กับชนิดของเห็ด และมักเกิดภายใน 3 ชั่วโมงอาการมากน้อยแตกต่างกันตามปริมาณด้วย เช่น ปวดเกร็งในท้อง อาการคลื่นไส้และอาเจียนเมื่อกินร่วมกับแอลกอฮอล์ เห็ดบางชนิดทำให้มีอาการประสาทหลอน เพ้อคลุ้มคลั่ง ซึม ชัก หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้
ทั้งนี้ หากพบผู้ได้รับพิษจากการกินเห็ด เช่น คลื่นไส้อาเจียน หน้ามืดตาลาย ใจสั่น อ่อนเพลีย ปวดท้อง เวียนศีรษะ การช่วยเหลือเบื้องต้นที่สําคัญที่สุดคือทําให้อาเจียนออกมาให้หมดโดยการล้วงคอหรือกรอกไข่ขาว แล้วรีบไปพบแพทย์หรือนําส่งสถานพยาบาลใกล้บ้านทันที
ทางที่ดีการกินเห็ดปลอดภัยซึ่งมีโปรตีนสูงต้องรู้จักชนิดเห็ด เนื่องจากไม่มีข้อวินิจฉัยว่าเห็ดที่เป็นสีหรือไม่เป็นสีหรือเห็ดชนิดไหนจะเป็นเห็ดพิษ จึงต้องมีการพิจารณาให้ถ้วนถี่เพื่อความปลอดภัย