ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สสจ.เชียงใหม่ เตือนประชาชนระวังพลาดซื้อ “เห็ดพิษ” มาปรุงอาหารรับประทาน เสี่ยงถึงตาย เผยปี 2555 พบผู้ป่วย 44 ราย ตาย 4 ราย ขณะที่ปี 2556 พบผู้ป่วยแล้ว 2 ราย ในเดือน พ.ค. แนะควรหลีกเลี่ยง หากต้องการบริโภคเห็ดป่าต้องรู้วิธีการสังเกต เตรียมทำเอกสารพร้อมรูปภาพประกอบเผยแพร่ให้ความรู้ทุกหมู่บ้านเพื่อให้ความรู้ป้องกันตัวเอง-ลดความเสี่ยง
วันนี้ (22 พ.ค.) ดร.สุรสิงห์ วิศรุตรัตน รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ช่วงนี้เป็นช่วงย่างเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งชาวบ้านมักจะเก็บเห็ดจากป่ามาวางขาย และเป็นที่นิยมของผู้บริโภคที่ชื่นชอบเห็ดป่า แต่ที่ผ่านมา มักจะพบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากการรับประทานเห็ดพิษเข้าไป เนื่องจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงอยากเตือนประชาชนให้ระมัดระวังในการซื้อเห็ดป่ามารับประทาน หรือควรหลีกเลี่ยง โดยในส่วนของ จ.เชียงใหม่ ปี 2555 พบผู้ป่วยจากการรับประทานเห็ดพิษ 44 ราย เสียชีวิต 4 ราย ขณะที่ปี 2556 พบผู้ป่วยแล้ว 2 ราย ในเดือนพฤษภาคมนี้
ดร.สุรสิงห์ ระบุวิธีการสังเกตว่าเห็ดชนิดใดเป็นเห็ดพิษหรือไม่ว่า เห็ดพิษส่วนใหญ่จะเจริญงอกงามในป่า ก้านสูง ลำต้นโป่งพองออก โดยเฉพาะที่ฐานกับวงแหวนจะเห็นได้ชัดเจน ขณะที่สีผิวของหมวกมักมีได้หลายสี และผิวของหมวกเห็ดส่วนมากจะมีเยื่อหุ้มดอกเห็ดเหลืออยู่ ในลักษณะที่ดึงออกได้ หรือเป็นสะเก็ดติดอยู่ ส่วนครีบจะแยกออกจากกันชัดเจน มักมีสีขาว บางชนิดสีแดง หรือสีเขียวอมเหลือง และสปอร์ใหญ่มักมีสีขาวหรือสีอ่อน มีลักษณะใสๆ รูปไข่กว้าง
ซึ่งหากสังเกตแล้วยังไม่แน่ใจ ควรหลีกเลี่ยงการซื้อเห็ดป่ามารับประทาน โดยเวลานี้ทาง สสจ.เชียงใหม่ กำลังเตรียมจัดทำเอกสาร หรือโปสเตอร์แนะนำวิธีการสังเกตเห็ดพิษ และให้ข้อมูลเกี่ยวกับเห็ดพิษชนิดต่างๆ พร้อมรูป นำไปแจกจ่ายตามหมู่บ้าน และโรงพยาบาลทุกแห่ง เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ และสามารถป้องกันตัวเอง ลดความเสี่ยงที่จะรับประทานเห็ดพิษ
สำหรับในกรณีที่รับประทานเห็ดพิษเข้าไปแล้วนั้น การปฐมพยาบาลถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยปกติมักจะแสดงอาการหลังรับประทานแล้วหลายชั่วโมง ซึ่งพิษมักจะกระจายไปมากแล้ว ทั้งนี้ การปฐมพยาบาลที่สำคัญที่สุด คือ ทำให้ผู้ป่วยอาเจียนเอาเศษอาหารที่ตกค้างออกมาให้มากที่สุด และทำการดูดพิษด้วยการใช้น้ำอุ่นผสมผงถ่าน activated charcoal ให้ผู้ป่วยดื่ม 2 แก้ว โดยให้ดื่มแก้วแรกแล้วล้วงคอให้อาเจียนออกมา แล้วดื่มแก้วที่สอง แล้วล้วงคอให้อาเจียนออกมาอีกครั้ง จากนั้นรีบนำส่งแพทย์ พร้อมตัวอย่างเห็ดพิษหากยังเหลืออยู่ ซึ่งหากผู้ป่วยอาเจียนออกยากให้ใช้เกลือแกง 3 ช้อนชาผสมน้ำอุ่นดื่ม จะช่วยให้อาเจียนออกมาง่ายขึ้น แต่ห้ามใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
นอกจากนี้ การนำเห็ดมารับประทาน ควรรับประทานเฉพาะเห็ดที่รู้จัก และรับประทานแต่พอดี ไม่ควรให้อิ่มเกินไป เพราะเห็ดเป็นอาหารที่ย่อยยาก อาจทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษได้ และอย่ารับประทานแบบปรุงสุกๆ ดิบๆ เพราะเห็ดบางชนิดอาจมีพิษอย่างอ่อน เมื่อรับประทานหลายครั้งอาจจะมีพิษสะสมถึงตายได้ ขณะที่ก่อนการปรุงอาหารควรคัดเห็ดที่เน่าเสียออกด้วย เพราะเห็ดที่เน่าเสียอาจทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษได้ และผู้ที่รู้ตัวว่าเป็นโรคภูมิแพ้เกี่ยวกับเห็ดก็ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเห็ด
นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเห็ดพร้อมกับการดื่มสุรา เพราะจะส่งผลให้เห็ดบางชนิดเกิดพิษทันที รวมทั้งยังทำให้พิษกระจายรวดเร็ว และรุนแรงขึ้นด้วย