xs
xsm
sm
md
lg

กรมอุทยานฯ ชี้ค้าสัตว์ป่า-พืชป่า เชื่อมโยงยาเสพติด-ก่อการร้าย ตั้งเป้าภูมิภาคร่วมกันแก้ปัญหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - กรมอุทยานแห่งชาติฯ เป็นเจ้าภาพจัดประชุม ASEAN-WEN ครั้งที่ 8 ที่เชียงใหม่ ตั้งเป้าเสริมสร้างความร่วมมือทั้งในภูมิภาคอาเซียนและประเทศอื่นๆ ป้องกันการค้าสัตว์ป่า-พืชป่าผิด กม. รองอธิบดีแจงปัจจุบันปัญหาเชื่อมโยงค้ายาเสพติด-ก่อการร้าย ต้องเร่งเสริมประสิทธิภาพการดูแลสัตว์ป่า-พืชป่าในแต่ละประเทศให้มากขึ้น

วันนี้ (3 มิ.ย.) นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานเปิดการประชุมเครือข่ายการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชป่าแห่งภูมิภาคอาเซียน (ASEAN-WEN) ครั้งที่ 8 ณ โรงแรมดิ เอ็มเพรส จ.เชียงใหม่ สืบเนื่องจากการที่ประเทศไทยไ ด้เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่า และพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที 13 (CITES CoP 13) จึงได้หาแนวทางที่จะสร้างความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อต่อต้านอาชญากรรมการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าแห่งภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Wildlife Enforcement Network : ASEAN-WEN) และนำมาสู่การจัดการประชุมดังกล่าว ซึ่งมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ และมีการจัดการประชุมต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2549

โดยในการประชุมจะเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในเครือข่ายของ ASEAN-WEN ได้รับทราบผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันยังเสริมสร้างความร่วมมือ ทั้งในระหว่างประเทศภูมิภาคอาเซียนและเครือข่ายในภูมิภาคอื่น รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานเครือข่ายจากภาคเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันป้องกันการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมาย

นายธีรภัทรกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีประเด็นที่สำคัญ คือ แผนความยั่งยืนของ ASEAN-WEN (Sustainability of ASEAN-WEN) และกรอบการจัดทำความร่วมมือ (Proposed Cooperation Arrangement) รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพของเครือข่าย และการแลกเปลี่ยนความรู้ และแนวทางในการแก้ปัญหาการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าระหว่างกัน เนื่องจากปัจจุบันการค้าสัตว์ป่าและพืชป่ามีมูลค่าสูงรองจากยาเสพติด โดยเมื่ออยู่ภายในประเทศจะมีมูลค่าหนึ่ง แต่เมื่อนำออกนอกประเทศจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 10-100 เท่า และยังพบว่าแนวโน้มความต้องการสินค้าเหล่านี้ยังคงมีสูง

ขณะเดียวกัน ปัญหาดังกล่าวยังมีส่วนเชื่อมโยงถึงขบวนการค้ายาเสพติด และขบวนการก่อการร้ายด้วย อย่างไรก็ตามสถานการณ์ในแต่ละภูมิภาคแม้จะมีความรุนแรง แต่ก็ยังไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากทางเครือข่ายมีการทำงานอย่างเข้มงวดและจริงจังมาโดยตลอด แต่ทั้งนี้ถือเป็นปัญหาสำคัญที่กลุ่มประเทศอาเซียนจะต้องเร่งหาทางแก้ไข ซึ่งแนวทางหนึ่งคือการเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลและป้องกันสัตว์ป่าและพืชป่าในแต่ละประเทศให้มากขึ้น

นายธีรภัทรกล่าวว่า จากข้อมูลการจับกุมการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่า ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้านการป้องกันสัตว์ป่าและพืชป่า ปี 2552-2554 พบว่ามีการปฏิบัติการเกี่ยวกับคดีรวมทั้งสิ้น 784 คดี จำนวนสัตว์ป่าของกลางที่มีชีวิต 121,486 ตัว ซากสัตว์ 151,908 ตัว ชิ้นส่วนและสิ่งแปรรูปจากสัตว์ป่า 432,727 ตัน ประเมินมูลค่าของกลางตามราคาในตลาดมืดกว่า 73,363 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะเดียวกันยังพบไม้ผิดกฎหมายกว่า 1,270 ท่อน พืชป่า 1,233 ต้น ชิ้นส่วนและสิ่งแปรรูปจากไม้ 430 กิโลกรัม

ขณะที่ประเทศไทยนั้น ในปี 2556 พบการกระทำความผิดด้านการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่ากว่า 300 คดี ยึดของกลางเป็นสัตว์ป่าได้กว่า 10,000 ตัว โดยสัตว์ที่สามารถยึดเป็นของกลางได้ คือ ตัวนิ่ม งู เต่า เสือโคร่ง โดยมีปลายทางอยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค ส่วนพื้นที่ที่พบการกระทำผิดยังคงเป็นตามแนวชายแดนของประเทศ ที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งในฝั่งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ส่วนพืชป่าที่พบมากที่สุดคือไม้พะยูง ตามพื้นที่แนวชายแดนไทย-ลาว และไทย-กัมพูชา ซึ่งในส่วนนี้ได้ขอความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อร่วมกันทำการสกัดกั้นแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น