ศูนย์ข่าวขอนแก่น - กรมประมงร่วมกับจังหวัดขอนแก่น จัดนิทรรศการ “ประมงไทย รับรู้สู้ภัยพิบัติ ยืนหยัดสู่อาเซียน” หวังพัฒนาความรู้เกษตรกร รับมือผลกระทบโลกร้อนสู้วิกฤตภัยธรรมชาติ พร้อมจัดงานปลาสวยงามอีสาน วางเป้าพัฒนาประเทศไทยศูนย์กลางการผลิตและการค้าปลาสวยงามที่มีคุณภาพของโลกภายในปี 2559
วันนี้ (21 พ.ค.56) ที่โรงแรมพูลแมน ราชา ออคิด กรมประมงร่วมกับจังหวัดขอนแก่น จัดนิทรรศการประมง 4 ภาค ภายใต้หัวข้อ “ประมงไทย รับรู้สู้ภัยพิบัติ ยืนหยัดสู่อาเซียน” โดยมีนายสมหวัง พิมลบุตร รองอธิบดีกรมประมง ประธานเปิดงาน พร้อมด้วยหน่วยงานราชการ เอกชน ที่เกี่ยวข้อง และประมงอาสาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก
นายสมหวัง พิมลบุตร รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ภายในปี 2558 ย่อมส่งผลกระทบต่อโดยตรงกับเกษตรกรที่ประกอบอาชีพเพาะสัตว์ถึง 592,000 ราย จะต้องปรับตัวให้สามารถอยู่ในภูมิภาคนี้ได้และไม่เสียเปรียบ เพื่อปรับตัวรองรับเศรษฐกิจโลก กรมประมงจึงจัดนิทรรศการประมง 4 ภาค เพื่อให้ความรู้แก่เกษตรกรในหัวข้อ “ประมงไทย รับร็สู้ภัยพิบัติ ยืนหยัดสู่อาเซียน”
วัตถุประสงค์หลักเพื่อ เตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งน้ำท่วม ฝนแล้ง โรคระบาดสัตว์ เตรียมความพร้อมสำหรับเกษตรกรและประมงอาสา ให้มีความรู้กับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และที่สำคัญเป็นการเสริมสร้างทักษะและศักยภาพของเกษตรกรและประมงอาสาให้เป็น Smart famer
การจัดนิทรรศการประมง 4 ภาคที่ จ.ขอนแก่น กรมประมงเล็งเห็นว่า จังหวัดขอนแก่นเป็นจังหวัดหัวเมืองใหญ่ของภาคอีสาน โดยมีเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจำนวนกว่า 2 หมื่นราย ส่วนใหญ่เกือบ 90% เลี้ยงปลาในบ่อดิน ชนิดปลาที่นิยมเลี้ยงมากที่สุดเป็นปลากินพืช เช่น ปลานิล ปลาตะเพียน โดยมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่คือ อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ มีลำน้ำพองและลำน้ำชีไหลผ่าน ซึ่งอุปสรรคสำคัญของชาวประมงในการเพิ่มผลผลิตคือภัยธรรมชาติ ทั้งอุทกภัย ภัยแล้ง และโรคระบาดสัตว์น้ำ
นายสมหวัง กล่าวต่อว่า ดังนั้น เกษตรกรประมง ควรได้รับความรู้ความเข้าใจในการรับมือการเปลี่ยนแปลงโลกปัจจุบันที่เกิดสภาวะโลกร้อน ทำให้ภัยพิบัติเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งในประเทศไทยเกิดภัยธรรมชาติเมื่อปี 2554 เกิดอุทกภัยทั่วประเทศ สร้างความเสียหายแก่เกษตรกรด้านประมงถึง 132,000 ราย กรมประมงจัดงบช่วยเหลือเป็นเงินกว่า 6,000 ล้านบาท
สำหรับไฮไลท์ภายในงานมีการจัดนิทรรศการ แสดงพันธุ์ปลาท้องถิ่นหายาก หรือสัตว์น้ำเศรษฐกิจประจำถิ่น อาทิ ปลาสวาย และปลาพรมหัวเหม็น ซึ่งพบมากในเขื่อนอุบลรัตน์โดยมีลักษณะหัวที่มีกลิ่นเหม็นคาวจัด พร้อมจัดประชุมสัมมนาและบรรยายให้ความรู้เรื่อง “ระเบียบการช่วยเหลือเกษตรผู้ประสบภัย” “บทบาทของประมงอาสา” “การเตรียมตัวสู่การเป็น Smart famer ของเกษตรกรประมง” “การพัฒนาเกษตรประมงไทยสู้ภัยพิบัติในอนาคต”
จัดงานปลาสวยงามภาคอีสาน
พุ่งเป้าศูนย์กลางผลิต/ค้าปลาสวยงาม
วันเดียวกันนี้ กรมประมงโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดขอนแก่น จัดกิจกรรม “งานปลาสวยงามภาคอีสาน ร่วมประสานคนใจเดียวกัน ครั้งที่ 6” ซึ่งในงานดังกล่าว จัดนิทรรศการปลาสวยงาม ของหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา , ประกวดปลาสวยงาม ชิงถ้วยพระราชทานพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา 4 ชนิดปลา ประกอบด้วย ปลาทอง ปลาหมอสี ปลากัด และปลาแฟนซีคาร์พ , ประกวดภาพถ่ายปลาสวยงาม , แข่งขันวาดภาพปลาสวยงาม ฯลฯ
นายสมหวัง พิมลบุตร รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ปัจจุบันปลาสวยงามมีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนเรามากขึ้น ปลาสวยงามเป็นงานอดิเรกในครอบครัว ช่วยคลายเครียดจากการทำงานได้อย่างดี ที่สำคัญการค้าปลาสวยงามทั่วโลกมีมูลค่ากว่า 27,000 ล้านบาทและมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศส่งออกปลาสวยงามอันดับต้นๆของโลก มีมูลค่าส่งออกปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท
กรมประมงจึงให้ความสำคัญ จัดทำยุทธศาสตร์ปลาสวยงามปี 2556-2559 มีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าปลาสวยงามที่มีคุณภาพของโลกภายในปี 2559 ซึ่งภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ในปี 2556 จังหวัดขอนแก่นได้รับงบประมาณ 1,500,000 บาท เพื่อสร้างตลาดปลาสวยงาม โดยกรมประมงจะต้องเร่งส่งเสริมเกษตรกร ให้มาประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงปลาสวยงามเพื่อป้อนตลาดปลาสวยงามต่อไป