กาฬสินธุ์ - อดีตชาวนากุ้งก้ามกราม ต้องเปลี่ยนอาชีพเป็นนักประดิษฐ์ของเล่น และของตกแต่งจากมะพร้าวแห้งที่อยู่ในหมู่บ้านแทน หลังเจอมรสุมวิกฤตภัยแล้งที่รุนแรงจนไม่สามารถทำนากุ้งได้ เผยรายได้จากการจำหน่ายสิ่งประดิษฐ์จากมะพร้าวแห้งสามารถเลี้ยงครอบครัวได้อย่างสบาย
ปัญหาความแห้งแล้งได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง นอกจากขาดน้ำกินน้ำใช้ น้ำเพื่อการเกษตรแล้ว ยังส่งผลกระทบต่ออาชีพประมงเลี้ยงกุ้งอีกด้วย เกษตรกรเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลาหลายรายต้องหาอาชีพใหม่ หลังไม่มีน้ำเลี้ยงปลาเลี้ยงกุ้ง
นายอนุชา ฤทธิ์เรือง อายุ 38 ปี บ้านเลขที่ 108 หมู่ 4 บ้านตูม ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เล่าว่า แต่เดิมตนมีอาชีพเลี้ยงกุ้งก้ามกราม และยังเป็นพ่อค้าคนกลางจำหน่ายกุ้งก้ามกรามทั่วภาคอีสาน แต่เนื่องจากปลายปีที่ผ่านมาเกี่ยวเนื่องถึงช่วงนี้ พื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ประสบปัญหาภัยแล้งคุกคามอย่างรุนแรงสุดในรอบ 45 ปี
ทำให้เขื่อนลำปาว ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับปล่อยลงคลองชลประทานให้เกษตรกรได้เลี้ยงกุ้ง ไม่มีน้ำปล่อยลงสู่คลอง จึงทำให้ชาวนากุ้งก้ามกรามได้รับความเดือดร้อน ไม่มีน้ำเปลี่ยนถ่าย เป็นเหตุให้กุ้งน็อกตาย และนอกจากนี้ ยังไม่มีน้ำที่จะทำการเลี้ยงกุ้งต่อไปด้วย
นายอนุชา กล่าวอีกว่า เมื่อเกิดปัญหาดังกล่าว ทำให้ตนรวมทั้งเพื่อนพ่อค้า และชาวนากุ้งประสบปัญหาขาดทุน และขาดโอกาสในการเลี้ยงกุ้ง ทำให้ว่างงานและมีหนี้สิน ตนจึงดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ประกอบกับที่พอจะมีความรู้ด้านงานช่างอยู่แล้ว จึงเก็บมะพร้าวแห้งตามสวนหลังบ้านมาลองประดิษฐ์เป็นรูปสัตว์ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ยีราฟ ตัวต่อ ผึ้ง ฯลฯ
แรกๆ ก็อาศัยครูพักลักจำโดยไม่เคยไปฝึกฝนจากที่ไหน ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์จึงเกิดความชำนาญ และดัดแปลงเพื่อความสวยงาม มีการทาสี มีรูปแบบที่หลากหลายขึ้น ลูกค้าก็ให้ความสนใจ มีทั้งซื้อไปเป็นของเล่นให้ลูก ประดับสวนหย่อม หรือถวายพระภูมิเจ้าที่ ทั้งนี้ ขายในราคาตัวละ 120-150 บาทตามขนาด และความยากง่ายของประเภทสัตว์สัตว์ที่ทำขึ้น จำหน่ายที่หน้าบ้าน และตลาดนัดทั่วไป ที่ตอนนี้จำหน่ายแล้วประมาณ 100 ตัว
สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ยังถือว่าวิกฤตเพราะถึงแม้จะมีฝนตกลงมาในพื้นที่บ้างแต่ก็ยังไม่ส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนลำปาวเพิ่มขึ้น แต่กลับมีปริมาณลดลงเรื่อยๆ ล่าสุด มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 225 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 11 และมีปริมาณน้ำใช้การได้ 125 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 6 เท่านั้น