เอเอฟพี - ความต้องการพื้นที่เพื่อใช้ในการทำการเกษตร อาจทำลายพื้นที่ป่าถึง 1 ใน 3 ของป่าที่ยังเหลืออยู่ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ในช่วง 2 ทศวรรษหน้า หากปราศจากการดำเนินงานอย่างรวดเร็วของรัฐบาล กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระบุเตือนวันนี้ (2)
รายงานขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ระบุว่า ป่ากำลังถูกถางออกเพื่อผลผลิตทางการเกษตร เช่น ยาง และข้าว ขณะที่การลักลอบตัดไม้กำลังทำลายพื้นที่คุ้มครองหลายแห่ง และเขื่อนบนแม่น้ำโขงจะทำลายระบบนิเวศอย่างรุนแรง
“ลุ่มแม่น้ำโขงยืนอยู่บนทางแยก” ปีเตอร์ คัตเตอร์ จาก WWF ระบุ และให้ข้อมูลว่ากัมพูชา ลาว และพม่า สูญเสียพื้นที่ป่าไปราวร้อยละ 22-24 ของพื้นที่ป่าทั้งหมด นับตั้งแต่ปี 2516 จนถึงปี 2552 ขณะที่ร้อยละ 43 คือ ตัวเลขการสูญเสียพื้นที่ป่าของไทยและเวียดนาม
“หนึ่งแนวทางนำไปสู่การลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ และความเป็นอยู่ แต่หากทรัพยากรธรรมชาติได้รับการจัดการอย่างรับผิดชอบ ภูมิภาคนี้จะสามารถรักษาความอุดมสมบูรณ์ และอนาคตที่รุ่งเรืองสำหรับประชาชนของตนเอง” คัตเตอร์ กล่าว
พม่า ประเทศที่คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วหลังสิ้นสุดการปกครองของทหาร กำลังเผชิญกับปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่พรมแดนของประเทศ เช่นเดียวกับพื้นที่ทางใต้ของแม่น้ำโขงของเวียดนาม และกัมพูชาตามการศึกษาพบ ซึ่งรัฐบาลพม่าได้ออกมาตรการห้ามส่งออกไม้ซุงตั้งแต่ปีหน้า เพื่อปราบปรามการลักลอบตัดไม้จากป่าอันมีค่าของประเทศ
WWF ระบุว่า พื้นที่ที่ยังไม่ถูกบุกรุกขนาดใหญ่ของผืนป่าที่เป็นแกนกลางทั่วภูมิภาค ถูกแบ่งออกเป็นส่วนเล็กๆ จากการทำไร่ และการขยายตัวของเมืองที่รวดเร็ว ขณะเดียวกัน ป่าชายเลนก็ถูกเปลี่ยนเป็นนาข้าว และนากุ้ง หาการตัดไม้ทำลายป่ายังดำเนินอยู่ต่อไป คาดว่าร้อยละ 34 ของผืนป่าที่ยังมีอยู่จะสูญหาย และจะถูกแบ่งออกเป็นส่วนเล็กๆ มากขึ้น ภายในปี 2573 เหลือผืนป่าที่เป็นแกนกลางเพียงร้อยละ 14 ซึ่งทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า รวมทั้ง เสือ และช้าง
เขื่อนไซยะบุรี ของลาว ยังถูกระบุว่าเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขง โดยเขื่อนจะส่งผลกระทบต่อประชาชนราว 60 ล้านคน ขัดขวางการเดินทางของปลา และตะกอนต่างๆ ไปยังพื้นที่ที่อยู่ต่ำกว่าของระบบน้ำ
อย่างไรก็ตาม โครงการเขื่อนไฟฟ้ามูลค่า 3,800 ล้านดอลลาร์ ที่มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จอีกประมาณ 5 ปี ได้มีความเห็นต่างกันไปในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง 4 ประเทศ คือ ลาว เวียดนาม กัมพูชา และไทย
ลาวหวังว่าเขื่อนจะช่วยให้ประเทศกลายเป็นแหล่งพลังงานของภูมิภาค และวางแผนที่จะขายพลังงานไฟฟ้าส่วนใหญ่ให้แก่ไทย แต่กัมพูชา และเวียดนามระบุว่า เขื่อนจะทำลายอุตสาหกรรมการเกษตร และประมงของประเทศ
อย่างไรก็ตาม รายงานของ WWF ยังแสดงให้เห็นถึงความหวังเล็กน้อยว่า ไทยมีความก้าวหน้าในการคุ้มครองพื้นที่ป่าของประเทศด้วยเครือข่ายอุทยานแห่งชาติ ขณะที่ชาติอื่นๆ ต่างสนับสนุนนโยบายป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าเช่นกัน.