xs
xsm
sm
md
lg

จนท.เร่งปล่อยไข่แมลงช้างปีกใสลงแปลงมันฯ ลำปาง กันเพลี้ยแป้งระบาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ลำปาง - สำนักงานเกษตรจังหวัดลำปาง ส่งเจ้าหน้าที่ตระเวนปล่อยไข่แมลงช้างปีกใสในแปลงมันสำปะหลังเกือบหมื่นฟอง ป้องกันเพลี้ยแป้งระบาด

รายงานข่าวจากจังหวัดลำปาง แจ้งว่า นายชาตรี บุญนาค เกษตรจังหวัดลำปาง ได้มอบหมายให้ น.ส.ประวีณ์นุช สันพะเยาว์ หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดลำปาง พร้อมทีมงาน ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองปาน นำไข่แมลงช้างปีกใส จำนวน 7,500 ฟอง ไปปล่อยในแปลงปลูกมันสำปะหลังเกษตรกรตำบลทุ่งก๋าว อำเภอเมืองปาน เพื่อป้องกัน และกำจัดการระบาดของเพลี้ยแป้ง โดยได้รับการสนับสนุนไข่แมลงช้างปีกใสจากศูนย์บริหารศัตรูพืชเชียงใหม่ ตามโครงการลดความเสี่ยงจากการระบาดศัตรูพืช ปี 2556 พร้อมแนะนำให้เกษตรกรเฝ้าระวังการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง

เนื่องจากในช่วงฤดูแล้ง หรือฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน แมลงที่เป็นตัวห้ำ และตัวเบียน จะมีปริมาณลดลงในช่วงนี้ เพลี้ยแป้งจึงสามารถระบาดจากพื้นที่หนึ่งไปยังพื้นที่อื่น โดยการติดไปกับคน ท่อนพันธุ์ กระแสลม และมด เป็นพาหนะนำตัวเพลี้ยแป้งไป เพื่อรอดูดกินมูลหวาน จึงทำให้เกิดความเสียหายแก่เกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังที่อยู่ในระยะการเจริญเติบโต

ดังนั้น เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลง ถ้าพบการระบาดให้แจ้งเจ้าหน้าที่เกษตรประจำตำบล หรือสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน เพื่อปล่อยแตนเบียน หรือแมลงช้างปีกใสควบคุม และหากยังไม่พบการระบาด ขอให้เกษตรใช้ท่อนพันธุ์ที่สะอาด เก็บซากพืชออกจากแปลงไถพรวนหลายๆ ครั้ง ตากดินทิ้งไว้อย่างน้อย 14 วัน ก่อนปลูกควรแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารเคมีที่แนะนำ และหมั่นตรวจแปลงสม่ำเสมอทุกสัปดาห์

ส่วนในพื้นที่ที่มีการระบาดของเพลี้ยแป้ง ก็ขอให้เกษตรกรหลีกเลี่ยงการปลูกในฤดูแล้ง ถ้าพบการระบาดรุนแรงในมันสำปะหลังอายุ 1-4 เดือน ให้ถอนทิ้งทั้งหมด แล้วทำลายนอกแปลง ถ้าไม่รุนแรงให้ตัดยอด และพ่นสารเคมีบริเวณที่พบ ถ้าพบการระบาดในมันสำปะหลังอายุ 4-8 เดือน ให้ตัดยอด หรือถอนต้นที่พบไปทำลายนอกแปลง และพ่นสารเคมีบริเวณที่พบ และใกล้เคียงทันที หากสำปะหลังอายุมากกว่า 8 เดือน ควรเก็บผลผลิต ตัดต้นทิ้งนำไปทำลาย ทำความสะอาดแปลงปลูกอย่างอื่น เช่น ข้าวโพด อ้อย ทานตะวัน พืชตระกูลถั่ว และใช้แมลงศัตรูธรรมชาติควบคุมเพลี้ยแป้งเช่น แมลงช้างปีกใส ด้วงเต่า แตนเบียน หรือศัตรูธรรมชาติที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำ

และขอให้เกษตรกรหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีโดยไม่จำเป็น เพื่อเป็นการอนุรักษ์ไม่ให้ตัวห้ำ และตัวเบียนที่เป็นศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังถูกทำลาย แต่ควรหันมาใช้วิธีป้องกัน และกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสานแทน

ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถสังเกตได้ด้วยตนเองหากเกิดเพลี้ยแป้งขึ้น โดยจะเห็นว่าที่ต้นมันสำปะหลังจะมีผงแป้งเป็นกลุ่มๆ อยู่ใต้ใบ และเมื่อสังเกตดีๆ จะเห็นเพลี้ยแป้งมีลักษณะลำตัวเป็นข้อ ปล้อง รูปร่างกลม หรือยาวรี ส่วนหัว หางอยู่ใต้ลำตัว มีขา 6 ขา ไม่มีปีก มีผงแป้งคลุมตัว ปากเป็นแบบดูดกิน ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทราบทันที เพื่อเข้ากำจัดและทำลายก่อนที่จะสร้างความเสียหายให้แก่แปลงมันสำปะหลัง



กำลังโหลดความคิดเห็น