xs
xsm
sm
md
lg

ไข้เลือดออกอุบลฯ ตายแล้ว 1 ป่วยอีกเกือบพันคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี - โรงพยาบาลศูนย์ร่วมโรงพยาบาลชุมชนรณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลาย หลังพบเด็กป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกตายแล้ว 1 ป่วยอีกเกือบพันคน ปีนี้พบระบาดรุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมาถึง 3.3 เท่า จี้ประชาชนระวังภัยเงียบใกล้ตัวและบุตรหลานด้วยการเร่งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายด่วน

วันนี้ (16 พ.ค.) นายสูติ ปัจฉาภาพ หัวหน้ากลุ่มงานสุขศึกษา โรงพยาบาลศูนย์สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี เปิดเผยว่า โรคไข้เลือดออกปี 2556 แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและรุนแรง เนื่องจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว จึงร่วมกับงานป้องกันควบคุมโรค เทศบาลนครอุบลราชธานี ศูนย์สุขภาพชุมชนวัดใต้ และศูนย์สุขภาพชุมชนโรงเรียนปทุมวิทยากร พร้อมคณะเจ้าหน้าที่กว่า 100 คน ลงพื้นที่ตรวจความเสี่ยงในชุมชนเทศบาลบูรพา 1 และชุมชนวัดเลียบ 2 หลังพบประชาชนในชุมชนป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกถึง 7 ราย โดยเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครได้กำจัดไข่ยุงลายตามภาชนะขังน้ำ ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดโรคไข้เลือดออก ตามมาตรการ 5 ป 1 ข

ประกอบด้วย 1. เปลี่ยนน้ำในภาชนะกักเก็บน้ำทุก 7 วันเพื่อตัดวงจรลูกน้ำที่จะกลายเป็นยุง 2. ปิดภาชนะน้ำดื่ม น้ำใช้ให้มิดชิดเพื่อป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ 3. ปล่อยปลาหางนกยูงให้กินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวร เช่น อ่างบัวถังซีเมนต์เก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีในบ้านและโรงเรียน 4. ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้โล่ง สะอาด มีลมพัดผ่าน ไม่เป็นที่เกาะพักของยุงลาย 5. ปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวเป็นประจำจนติดเป็นนิสัย

ส่วน 1 ข คือ ขัดไข่ยุงลาย เนื่องจากยุงลายจะไข่เหนือระดับน้ำ 1-2 เซนติเมตร เมื่อมีน้ำมาเติมจนท่วมไข่จึงฟักตัวเป็นลูกน้ำได้ภายใน 30 นาที แต่หากไม่มีน้ำมาเติมจนท่วมไข่ก็จะแห้งติดผนังภาชนะ แต่ยังสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปนานถึง 1 ปี โดยยุงตัวเมีย 1 ตัวในช่วงชีวิตจะวางไข่ได้ราว 500 ฟอง

จึงจำเป็นต้องมีการขัดไข่ยุงลายในภาชนะ โดยใช้ไฟฉายส่องหา และใช้แปรงชนิดขนนุ่มขัดล้าง จากนั้นให้ทิ้งน้ำที่ขัดล้างบนพื้นดินเพื่อให้ไข่แห้งตาย จะเป็นวิธีป้องกันไม่ให้ไข่กลายเป็นยุงลาย ที่สามารถทำให้เกิดโรคนี้ได้ดีที่สุด

นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี กล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้ง 20 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 30 เมษายน 2556 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 6,731 ราย เสียชีวิต 7 ราย คือ จ.นครราชสีมา จ.สุรินทร์ จ.เลย จังหวัดละ 2 ราย และ จ.อุบลราชธานี 1 ราย เป็นเด็กชายชาวอำเภอม่วงสามสิบ

สำหรับจังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จ.นครราชสีมา 921 ราย จ.อุบลราชธานี 859 ราย จ.ศรีสะเกษ 685 ราย จ.สุรินทร์ 661 ราย จ.บุรีรัมย์ 526 ราย

ผู้ป่วยทั่วประเทศ 26,067 ราย เสียชีวิตแล้ว 33 ราย ผู้เสียชีวิต 5 รายล่าสุดในเดือนเมษายนคือ จ.ตาก และ จ.สุโขทัย จังหวัดละ 2 ราย จ.ภูเก็ต 1 ราย และจากสถิติยังพบมีผู้ป่วยมากกว่าปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกันถึง 3.3 เท่า จึงขอให้ประชาชนตระหนักถึงภัยเงียบที่อยู่ใกล้ตัว แล้วร่วมกันรณรงค์เร่งกำจัดลูกน้ำยุ่งลายเพื่อไม่ให้มีโอกาสป่วยเป็นโรคดังกล่าวซึ่งทำให้เสียชีวิตได้

กำลังโหลดความคิดเห็น