บุรีรัมย์ - พบโรงเรียนในสังกัด สพป.บุรีรัมย์ เขต 1 มีโรงเรียนขนาดเล็กนักเรียนต่ำกว่า 120 คน 83 โรง และในจำนวนนี้มีต่ำกว่า 60 คน 15 โรงที่เข้าข่ายถูกยุบ เผยล่าสุดปล่อยทิ้งร้างแล้ว 1 แห่งย้าย นร.ไปเรียนรวมโรงเรียนอื่น ขณะผู้ปกครองค้านไม่เห็นด้วย วอน ก.ศึกษาฯ ทบทวนนโยบายควรหาวิธีแก้ไขหรือพัฒนาแทนการยุบ
วันนี้ (15 พ.ค.) นายสุพจน์ เจียมใจ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (ผอ.สพป.) บุรีรัมย์ เขต 1 เปิดเผยว่า ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์ เขต 1 มีพื้นที่รับผิดชอบ 4 อำเภอ คือ อ.เมืองบุรีรัมย์ อ.บ้านด่าน อ.ชำนิ และ อ.ลำปลายมาศ มีโรงเรียนที่อยู่ในความดูแลจำนวน 202 แห่ง มีนักเรียนทั้งสิ้นกว่า 25,000 คน และจากการสำรวจพบว่ามีโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คนอยู่ 83 แห่ง ในจำนวนนี้มีนักเรียนต่ำกว่า 60 คนอยู่ 15 แห่งที่เข้าข่ายถูกยุบรวมเคลื่อนย้ายนักเรียนไปเรียนยังโรงเรียนหลักที่มีความพร้อมมากกว่า
กรณีดังกล่าว ในเบื้องต้นทาง สพป.บุรีรัมย์ เขต 1 มีแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยการจะพัฒนาครูผู้สอนให้มีศักยภาพ สามารถสอนได้หลายชั้นเรียนรวมกัน พร้อมทั้งจัดหาสื่อการเรียนการสอนเข้าไปเสริมเพื่อให้เด็กนักเรียนได้ศึกษาเรียนรู้รอบด้าน รวมทั้งเป็นการแบ่งเบาภาระบุคลากรครูผู้สอน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทาง สพป.บุรีรัมย์ เขต 1 ยังไม่มีนโยบายที่จะยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่เข้าข่ายดังกล่าว มีเพียงโรงเรียนบ้านเขากระโดง ต.เสม็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ที่มีนักเรียนอยู่ 31 คน ครู 2 คน ที่ได้มีการเคลื่อนย้ายนักเรียนเข้าไปเรียนรวมกับโรงเรียนอนุบาลบุรีรัมย์ และโรงเรียนอื่นที่มีความพร้อมด้านการเรียนการสอนมากกว่า พร้อมกันนี้ยังได้มีการจัดรถให้บริการรับ-ส่งนักเรียน เพื่ออำนวยความสะดวกและแบ่งเบาภาระผู้ปกครองกลุ่มดังกล่าวด้วย
โดยปัจจุบันอาคารเรียนโรงเรียนบ้านเขากระโดงยังทิ้งร้าง ไม่ได้มีการนำไปใช้ประโยชน์ใดๆ แต่ก็ยอมรับว่าหลังจากที่ทางกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายจะประกาศยุบโรงเรียนขนาดเล็กก็มีกระแสต่อต้านจากชาวบ้าน และผู้ปกครองของโรงเรียนแต่ละแห่ง เพราะส่วนใหญ่ต่างอยากให้บุตรหลานเรียนโรงเรียนใกล้บ้านเพื่อความสะดวก และประหยัดค่าใช้จ่าย
“หากชาวบ้าน หรือผู้ปกครองเด็กโรงเรียนไหนไม่ต้องการให้มีการยุบโรงเรียนที่เข้าข่ายก็ให้ผู้ปกครองแสดงความจำนงเข้ามา เพื่อที่ทางเขตการศึกษาฯ จะได้หาแนวทางเข้าไปพัฒนาปรับปรุง แต่ผู้ปกครองและชุมชนก็ต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาและดูแลรักษาโรงเรียนร่วมกันด้วย ไม่ใช่ปัดภาระให้ทางเขตการศึกษาฯ ดูแลเพียงฝ่ายเดียวเพราะโรงเรียนถือเป็นสมบัติส่วนรวมของทุกคน” นายสุพจน์กล่าว
ด้าน นางวรรณี นาคราย และ นางทองใส โพธิ์พันธ์ ผู้ปกครองเด็กโรงเรียนบ้านเขากระโดง อ.เมือง เห็นตรงกันว่า อยากให้กระทรวงศึกษาธิการได้ทบทวนนโยบายการประกาศยุบโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนที่อยู่ใกล้หมู่บ้าน ชุมชน สะดวกต่อบุตรหลานที่ไปเรียนหนังสือ แต่หากมีการยุบรวมให้เด็กไปเรียนยังโรงเรียนอื่น จะสร้างภาระแก่ผู้ปกครองในการเดินทางไปส่งบุตรหลาน ทั้งเสียค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เพราะผู้ปกครองส่วนมากมีฐานะยากจน จึงอยากเรียกร้องให้ทางกระทรวงศึกษาธิการหาแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยวิธีอื่นที่ไม่ส่งผลกระทบต่อเด็ก และผู้ปกครอง