พิจิตร - เครือข่ายชาวนาเมืองชาละวันร้องทุกข์ผู้ว่าฯ ขนข้าวเข้าจำนำตั้งแต่พฤศจิกาฯ 55 จนถึงวันนี้ ผ่านไปเกือบครึ่งปียังไม่ได้เงิน แถมชาวนาบางส่วนเจอปัญหาปลูกข้าวต้องห้าม 18 สายพันธุ์นำเข้าโครงการไม่ได้
วันที่ (6 พ.ค. 56) นายกิตติศักดิ์ รัตนะวราหะ ประธานเครือข่ายชาวนาภาคเหนือ เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือยื่นร้องทุกข์กับนายจักริน เปลี่ยนวงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร เนื่องจากชาวนาในเครือข่ายได้นำข้าวเข้าจำนำตามโครงการของรัฐบาลในวงเงินเกินกว่า 5 แสนบาท ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 55 จนถึงขณะนี้ผ่านมาเกือบครึ่งปีแล้ว ยังไม่ได้รับเงิน เมื่อไปทวงถามส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรวมถึง ธ.ก.ส. ต่างก็อ้างเหตุผลต่างๆนานา สุดท้ายก็โยนไปให้ที่รัฐบาลว่ายังไม่อนุมัติให้จ่ายเงินได้ จึงทำให้ชาวนาพิจิตรจำนวนเกือบ 1 พันรายในพื้นที่ 12 อำเภอของพิจิตรได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ยังมีชาวนาบางส่วนที่ปลูกข้าวตามคำประกาศของนโยบายรัฐบาล ที่ประกาศรับจำนำข้าวทุกเมล็ด แต่พอถึงวันนี้กลับบอกว่าจะไม่ตีราคาและไม่รับจำนำข้าวที่ห้ามปลูกจำนวน 18 สายพันธุ์ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อกลางเดือนมีนาคม 2555 ประกอบด้วย พันธุ์ 75 หรือบีพี 75, ซี-75, ราชินี, พวงทอง, พวงเงิน, พวงเงินพวงทอง, พวงแก้ว, ขาวปทุม, สามพราน 1039 หรือเจ้าพระยา หรือพีเอสแอลซี 2001-240, โพธิ์ทอง, ขาวคลองหลวง, มาเลเซีย, เตี้ยมาเล, ขาวมาเล, มาเลแดง, เบตง, อีแล็ปหรืออีเล็ป ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุการปลูก 65-100 วัน โดยที่ก่อนหน้านี้ไม่บอกให้ชัดเจน ชาวนาจึงปลูกและเก็บเกี่ยวไปส่งมอบให้กับโรงสีที่เข้าโครงการไปแล้ว และมีใบประทวนอยู่ในมือ แต่ ธ.ก.ส.ก็ไม่มีกำหนดที่จะจ่ายเงินให้
ด้านนายขวัญชัย เกิดขันหมาก ผอ.ธ.ก.ส.พิจิตรได้ชี้แจงว่า ธ.ก.ส.พิจิตรไม่เคยมีปัญหาเรื่องการจ่ายเงินตามโครงการรับจำนำข้าว ขอเพียงทำตามระเบียบทุกขั้นตอน คือ ปลูกข้าวตามที่สำนักงานเกษตรจังหวัดพิจิตร ให้คำแนะนำ, ไม่เป็นข้าวที่รัฐบาลประกาศต้องห้าม, นำข้าวมีคุณภาพส่งมอบให้โรงสีที่เข้าโครงการ, อ.ต.ก. อคส. ตรวจสอบเอกสาร ธ.ก.ส.มีส่วนร่วม จากนั้นก็ออกใบประทวนให้เกษตรกร, นัดวันเมื่อมีเงินโอนเข้ามานำสมุดบัญชีมาปรับดูความถูกต้อง เพียงเท่านี้ชาวนาก็จะได้เงิน
ส่วนกลุ่มชาวนาที่มีวงเงินเกิน 5 แสนบาทก็จะมีเรื่องของฝ่ายปกครองที่ต้องเข้ามาตรวจสอบร่วมด้วย จึงทำให้อาจล่าช้าไปบ้าง แต่ยืนยันว่า ธ.ก.ส.ไม่เกี่ยวและทุกวันนี้ก็อยากจ่ายเงินให้ชาวนาอยู่แล้ว เพราะจะได้นำเงินมาชำระหนี้รวมถึงนำไปลงทุนทำนาในฤดูกาลต่อไป
นอกจากนี้ ในฤดูกาลทำนาปีรอบที่ 1 ช่วงวันที่ 1 ต.ค. 55 - 31 ม.ค. 56 ธ.ก.ส.จ่ายเงินให้ชาวนาไปแล้ว 65,881 ราย ปริมาณข้าว 737,629 ตัน เป็นเงิน 10,916 ล้านบาท ส่วนการทำนาปรังรอบที่ 2 ช่วงวันที่ 1 ก.พ. 56 - 29 เม.ย. 56 ธ.ก.ส.จ่ายเงินให้ชาวนาไปแล้ว 6,137 ราย ปริมาณข้าว 68,558 ตัน เป็นเงิน 1,014 ล้านบาท รวม 2 ฤดูกาล 72,018 สัญญา ปริมาณข้าว 806,184 ตัน เป็นเงิน 11,931 ล้านบาท