xs
xsm
sm
md
lg

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ดึงคนน่านปลูกป่าชุมชนปิดทองหลังพระ 2.5 แสนไร่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


น่าน - ประชาคมน่านร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เปิดโต๊ะ “ปลูกป่าลุ่มน้ำน่านตอนบน” นำร่อง 21 หมู่บ้านพื้นที่ปิดทองหลังพระ หวังสร้างเครือข่ายปลูกป่าคืนแผ่นดิน 2.5 แสนไร่

วันนี้ (29 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.บุญยงค์ วงศ์รักมิตร ที่ปรึกษาศูนย์ประสานงานประชาคมจังหวัดน่าน ได้เปิดการเสวนา “ปลูกป่าลุ่มน้ำน่านตอนบน” ภายใต้โครงการปลูกป่า สร้างคน บนวิถีพอเพียง รักษาต้นน้ำ บรรเทาอุทกภัย ซึ่งประชาคมจังหวัดน่าน ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดขึ้นที่ศูนย์เพาะกล้า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง บ้านตีนตก ต.ศิลาแลง อ.ปัว จ.น่าน เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางภาคีเครือข่ายกลุ่มฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ และกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่นำร่องและหมู่บ้านขยายผลในโครงการปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ รวมกว่า 500 คน ให้ความสนใจเข้าร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพื่อที่จะหาแนวทางการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเกิดเครือข่ายฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำของจังหวัดน่าน

เวทีเสวนาได้จัดกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ การนำเสนอแผนงานภายใต้โครงการปลูกป่า สร้างคน บนวิถีพอเพียง รักษาต้นน้ำ บรรเทาอุทกภัย และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์จริงของกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำห้วยพ่าน ลุ่มน้ำริม และลุ่มน้ำตำบลพระพุทธบาท และเครือข่ายชุมชนตำบลศิลาเพชร ในการอนุรักษ์ผืนป่าของกลุ่มชุมชนลุ่มน้ำน่านตอนบน เพื่อศึกษาและหาแนวทางร่วมกันในการจะปลูกป่าและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำของชุมชน และแนวทางอนุรักษ์ผืนป่าลุ่มน้ำน่านตอนบน โดยเครือข่ายลุ่มน้ำต่างๆ ให้ยั่งยืน

นอกจากนี้ยังมีการนำเครือข่ายเข้าศึกษาดูงานในพื้นที่อนุรักษ์ป่าลุ่มน้ำห้วยพ่าน ตัวอย่างการบูรณาการระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชน ในการพัฒนาพื้นที่และอนุรักษ์ผืนป่าด้วย

สำหรับจังหวัดน่าน ถือเป็นผืนป่าต้นน้ำที่สำคัญ แต่ปัจจุบันได้ถูกบุกรุกแผ้วถางจากการทำเกษตรพืชเชิงเดี่ยว จนทำให้ป่าต้นน้ำน่านลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น สำหรับปี 2556-2560 มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงร่วมกับ มูลนิธิปิดทองหลังพระจะดำเนินโครงการปลูกป่า สร้างคน บนวิถีพอเพียง รักษาต้นน้ำ บรรเทาอุทกภัย นำร่องใน 21 หมู่บ้าน 3 อำเภอ คือ อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.สองแคว และ อ.ท่าวังผา เป้าหมายได้ป่ากลับคืนมา 250,000 ไร่


กำลังโหลดความคิดเห็น