เชียงราย - แผนพัฒนาพื้นที่ 32 หมู่บ้านในท่าขี้เหล็ก-เมืองสาดลดพื้นที่ปลูกฝิ่น แก้ปัญหายาเสพติดทะลักเข้าไทยเดินเครื่องเต็มที่ ล่าสุดไทย-พม่าร่วมเปิดสำนักงานกลางเมืองท่าขี้เหล็ก พร้อมส่ง จนท.กระจายลงพื้นที่ก่อนวางแผนพลิกฟื้นเขตผลิตยาเสพติด
รายงานข่าวแจ้งว่า สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ได้ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาทางเลือกเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนไทย-พม่า หรือ JPSC (Joint Project Steering Committee Meeting) ณ ห้องประชุม โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย วานนี้ (23 ม.ค.) โดยมีนายสุขุม โอภาสนิพัทธ์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส.เป็นประธานฝ่ายไทย และพลจัตวา จ่อจ่อ ตุน รมช.กระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมตำรวจพม่า เป็นประธานฝ่ายพม่า
ที่ประชุมฝ่ายไทยได้สรุปผลการทำงานของทั้งสองฝ่าย ซึ่งได้เริ่มโครงการมาตั้งแต่เดือน ต.ค. 2555 ภายใต้งบประมาณจำนวน 350 ล้านบาทที่รัฐบาลไทยให้การสนับสนุนระยะเวลาทำงาน 6 ปี เพื่อเข้าไปพัฒนาพื้นที่ 32 หมู่บ้าน ประชากรรวมกันกว่า 15,000 คนของ จ.ท่าขี้เหล็ก และเมืองสาด ซึ่งตั้งอยู่ตรงกันข้าม อ.แม่สาย และ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ของไทย เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด ความยากจน สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงชายแดนร่วมกันตามแนวทางโครงการพัฒนาดอยตุงฯ บนเนื้อที่ประมาณ 61,200 เอเคอร์ ทั้งการจัดฝึกอบรมเกี่ยวกับแนวคิด การทำงานตามแนวทางโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ในพื้นที่เป้าหมาย ปัจจุบันยังคงอยู่ในขั้นการเก็บข้อมูลและพบปะทำความเข้าใจกับประชาชนพื้นที่ทั้ง 32 หมู่บ้านอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน มี.ค. 56 นี้
ขณะที่ฝ่ายพม่าได้ข้อสรุปว่า ได้จัดตั้งคณะกรรมการทั้งระดับส่วนกลาง ระดับภาค ระดับจังหวัด และระดับปฏิบัติงานรองรับโครงการเอาไว้แล้ว รวมทั้งจากการสำรวจความเห็นของชาวบ้านในพื้นที่โครงการพบว่า ต้องการให้มีการเข้าไปพัฒนาโดยเร็วทั้งด้านการคมนาคม การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ กระแสไฟฟ้า ฯลฯ
หลังเสร็จสิ้นการประชุม นายสุขุม พลจัตวา จ่อจ่อ ตุน หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง นายวิชัย ไชยมงคล ผอ.ป.ป.ส.ภาค 5 และเจ้าหน้าที่ในโครงการได้ร่วมกันเดินทางต่อไปยัง จ.ท่าขี้เหล็ก เพื่อเปิดสำนักงานโครงการตั้งอยู่ในฝั่งท่าขี้เหล็กห่างจากสะพานข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 2 เพียงประมาณ 200 เมตร โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงในระดับท้องถิ่นไทย-พม่าเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
ซึ่งสำนักงานดังกล่าวจะมีเจ้าหน้าที่ไทยไปประจำอยู่ 4 คน และ 9 คนจะกระจายกันออกไปทำงานในพื้นที่เป้าหมายทั้ง 32 หมู่บ้านใน จ.ท่าขี้เหล็ก และเมืองสาด ซึ่งประกอบไปด้วยชนเผ่า 4 เผ่า คือ ลาหู่ อาข่า ว้า และไทใหญ่
โดยระยะเวลาดำเนินโครงการ 6 ปีดังกล่าวมีอยู่จำนวน 12 ขั้นตอน ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการขั้นที่ 1-3 เกี่ยวกับเรื่องข้อมูลพื้นฐาน จากนั้นเดือน ก.พ.-ก.ย. ก็จะมีการดำเนินการตั้งแต่การศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับภูมิประเทศ เศรษฐกิจ ฯลฯ และนำมาวิเคราะห์ว่าตรงกับความเป็นจริงหรือไม่ จากนั้นกำหนดแผนดำเนินการทั้งด้านเร่งด่วนและภาวะปกติ นำเสนอต่อทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการโครงการได้เต็มรูปแบบในเดือน มี.ค. 2556 เป็นต้นไป
นายสุขุมกล่าวว่า โครงการนี้จะช่วยให้ชาวบ้านในพื้นที่เป้าหมายรู้ถึงทางเลือกโดยเฉพาะในการปลูกพืชที่ทดแทนการปลูกฝิ่นหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจ เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ นอกจากนี้ ทางโครงการยังมีการจัดระบบชลประทาน โรงเรียน สถานพยาบาล ฯลฯ ให้ด้วย ซึ่งนอกจากประชากรในพื้นที่จะได้รับประโยชน์แล้วยังส่งผลไปถึงประชากรที่อยู่รายรอบโครงการอีกกว่า 50,000 คน
“หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จสามารถสนับสนุนความเป็นอยู่ของประชากรชาวพม่าได้ดี และลดปัญหาเรื่องยาเสพติดซึ่งส่งผลกระทบไปถึงชายแดนด้านประเทศไทย ก็คงจะมีการขยายเข้าไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป”
ด้านพลจัตวา จ่อจ่อ ตุน กล่าวว่า มั่นใจว่าโครงการนี้จะทำให้ประชาชนชาวพม่าในพื้นที่โครงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดปัญหาการปลูกพืชยาเสพติดลงได้ ซึ่งทาง ป.ป.ส.ของทั้งสองประเทศ รวมทั้งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ก็จะร่วมมือกันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมุ่งหวังว่าจะเห็นผลอย่างชัดเจนในช่วง 3 ปีหลังของโครงการ
สำหรับสถานการณ์ยาเสพติดในพม่านั้น ทางการพม่าได้พยายามป้องกันและปราบปรามมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนดำเนินการคราวละ 5 ปีอยู่แล้ว ปัจจุบันมีการร่วมมืออย่างใกล้ชิด โดยมีการตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ส.ในระดับต่างๆ เพื่อร่วมกับประเทศที่มีชายแดนติดกันโดยเฉพาะ ป.ป.ส.ไทย-จีน รวมไปถึงสหประชาชาติ หรือ UN ด้วย