xs
xsm
sm
md
lg

มารู้จัก “มัคคุเทศก์น้อยดอยตุง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...รัชญา จันทะรัง

จากพื้นที่ที่เคยเป็นจุดพักคาราวานฝิ่น ณ หมู่บ้านอาข่าป่ากล้วยในอดีต มาวันนี้กลับกลายเป็นพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด ภายใต้ชื่อ “สวนแม่ฟ้าหลวง” ภายในโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จว.เชียงราย

และพื้นที่แห่งนี้จะเป็นจุดริเริ่มโครงการอย่างค่ายเยาวชนใฝ่ดี ครั้งที่ 2 ตอน “มัคคุเทศก์น้อยดอยตุง” ที่นำเอาเด็กๆ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โครงการ จำนวน 40 คน มาร่วมฝึกทักษะ แถมยังได้ผู้ช่วยพี่เลี้ยงจากค่ายเยาวชนใฝ่ดีครั้งที่ 1 อีก 8 คนมาร่วมเรียนรู้พร้อมทำหน้าที่ผู้ช่วยพี่เลี้ยง และเป็นส่วนหนึ่งของการถ่ายทอดค่านิยมดีๆ ไปสู่เพื่อนๆ ในค่ายครั้งนี้อีกด้วย

พี่หวาน - พิมพรรณ ดิสกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ บอกถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ ว่า การจัดค่ายเยาวชนใฝ่ดีในครั้งนี้ต้องการสร้างเด็กรุ่นใหม่ของดอยตุงให้มีคุณภาพ เพราะเด็กรุ่นนี้เกิดมาก็เจอป่า มีก๊อกน้ำแล้ว ดังนั้น ค่ายนี้จึงพาเด็กๆ ไปเรียนรู้อดีตของปู่ย่าตายาย และดอยตุงในปัจจุบัน พร้อมกับรู้เรื่องอนาคตเมื่อไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ว่า จะมีผลกระทบอะไรกับเขาบ้างเมื่อเชียงรายเป็นเมืองหน้าด่านมีรอยต่อเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งพม่า ลาว โดยเราจะฝึกทักษะ การสังเกต การเรียบเรียงความคิด และฝึกความกล้าแสดงออก และที่สำคัญ พวกเขาจะได้ทำหน้าที่มัคคุเทศก์แนะนำนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมพระตำหนักดอยตุง สวนแม่ฟ้าหลวง และหมู่บ้านชาวเขาที่ตั้งอยู่ภายในโครงการฯ เพื่อให้เด็กๆมีความภูมิใจในบ้านเกิดของเขา

วันนี้เด็กๆ ที่ดอยตุงต้องเจอกับสิ่งเร้าทุกทางทั้งทีวี วิทยุ อินเทอร์เน็ต สังเกตจากวิถีการแต่งตัว มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษ แต่ก็ยังมีความเป็นดอยตุงอยู่ ยังรู้จักป่าเศรษฐกิจ รู้จักสมเด็จย่า

น้องกังฟู - น.ส.จุฬารัตน์ ตองเช นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี ว่าที่มัคคุเทศก์ บอกว่า ได้รับความรู้มากขึ้นจากที่เคยรู้พื้นๆ ทั้งๆ ที่เป็นคนที่นี่แต่กลับไม่รู้จุดมุ่งหมายที่แท้จริงพอมาฝึกเป็นมัคคุเทศน์ทำให้รู้ซึ้งว่าสมเด็จย่าท่านทำเพื่อช่วยเหลือชาวเขาให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และตนเองรู้สึกมั่นใจว่าในอนาคตสามารถทำหน้าที่มัคคุเทศน์นำนักท่องเที่ยวชมดอยตุงของพวกเราได้ทุกซอกทุกมุม

หนูควรจะเป็นคนที่เผยแพร่ออกไปเพราะหนูเป็นคนอยู่ในพื้นที่พัฒนาดอยตุงของสมเด็จย่า เเป็นชาวเขาเผ่าอาข่า อยู่ที่หมู่บ้านผาบือ พ่อหนูก็เป็นคนงานสวนดอยตุง แม่ทำงานที่นวุติที่ไร่แมคคาเดเมีย

พี่ปู - สุพรรษา วัดเมือง นักท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯ ที่โชคดีได้รับสิทธิ์มีไกด์พาเยี่ยมชม บอกว่า น้องๆ มีความตั้งใจ และนี่ก็เป็นโครงการที่ดีที่เปิดโอกาสให้น้องๆ ได้แสดงความกล้าแสดงออก และเธอได้รับความรู้มากยิ่งขึ้น เช่น ทำให้รู้ว่านกฮุกที่เป็นรูปแกะสลักที่ประตูพระตำหนักดอยตุงหมายถึงการป้องกันความชั่วร้ายเพราะปกติก็จะถ่ายแต่รูป และถ้ามีชื่อติดบอกก็จะอ่านดู

ว่าที่มัคคุเทศก์ “กังฟู” ฝากถึงทุกๆ คนด้วยว่า อยากเชิญชวนให้ทุกคนมาเที่ยวภาคเหนือ โดยเฉพาะที่ดอยตุงจ.เชียงราย ซึ่งดอกไม้ของเราจะเปลี่ยนทุกๆ 10 วันตามฤดูกาล เทศกาล ผู้ที่มาเที่ยวจะได้ดื่มด่ำความงดงามแบบไม่ซ้ำกัน

น้องกังฟู และเด็กๆ ที่เข้าร่วมโครงการนี้เชื่อว่าพวกเขาจะเติบโตเป็นต้นไม้ที่แข็งแกร่งเมื่อผ่านการบ่มเพาะที่ถูกต้องสมดังพระราชดำรัสสมเด็จย่าตอนหนึ่งที่ว่า ต้นไม้นี้มันก็คล้ายๆ กับคน...ต้องดูแลใส่ปุ๋ยเสมอ ต้องคอยรดน้ำพรวนดินบ่อยๆ ต้องเอาหญ้าและต้นที่ไม่ดีออก เด็ดดอกใบที่เสียๆ ทิ้ง คนเราก็เหมือนกัน ถ้ามีพันธุ์ดี เมื่อเป็นเด็กก็แข็งแรงฉลาด เมื่อพ่อแม่คอยสั่งสอน เด็ดเอาของที่เสียออก และหาปุ๋ยที่ดีใส่อยู่เสมอ เด็กคนนั้นก็จะเป็นคนที่เจริญและดี เหมือนต้นและดอกบานชื่นเหล่านี้
กำลังโหลดความคิดเห็น