ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ปภ.เชียงใหม่แจงผลดำเนินการแก้ปัญหาภัยแล้ง เผยพื้นที่ประสบภัยแล้ง 21 อำเภอ จังหวัดควักงบตามอำนาจผู้ว่าฯ ช่วยเหลือ 14 อำเภอกว่า 20 ล้านบาท ส่วนที่เหลือใช้งบชุมชนช่วย ระบุปีนี้สถานการณ์หนัก แต่เพราะปรับแผนใช้ศูนย์ช่วยเหลือน้ำท่วมเข้ามาดูแลทำให้งานเดินไว ช่วยเหลือได้เร็ว พร้อมเตือนเกษตรกรปรับแผนเพาะปลูกหลังน้ำน้อย
วันนี้ (23 เม.ย.) นางวาสนา วปินานนท์ รักษาการหัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์และการจัดการ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งของจังหวัดว่าเริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2555 เกิดภัยแล้งใน อ.ออมก๋อย จากนั้นต่อเนื่องไปยังอำเภออื่นๆ จนถึงวันที่ 17 เมษายน จังหวัดประกาศภัยแล้งแล้ว 21 อำเภอ ประกอบด้วย อ.อมก๋อย, จอมทอง, สะเมิง, แม่แจ่ม, สันป่าตอง, ฮอด, กัลยาณิวัฒนา, ไชยปราการ, หางดง, สันกำแพง, ดอยหล่อ, แม่ออน, แม่ริม, เวียงแหง, ดอยเต่า, พร้าว, ดอยสะเก็ด, สารภี, สันทราย, เชียงดาว และแม่แตง ราษฎรผู้ประสบภัย 111 ตำบล 943 หมู่บ้าน 124,363 ครัวเรือน
ด้านการให้ความช่วยเหลือนั้น จังหวัดได้ดำเนินการในระยะเวลา 3 เดือน ครบกำหนดเมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขยายระยะเวลาออกไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน โดยการช่วยเหลือที่ได้ดำเนินการไปแล้วนั้น ประกอบด้วย จ่ายเงินทดรองราชการในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดช่วยเหลือผู้ประสบภัย 14 อำเภอ 23,444,940 บาท ใช้จัดหาวัสดุกั้นลำน้ำและสร้างทำนบชั่วคราว ซ่อมแซมประปาหมู่บ้าน ซ่อมแซมบ่อน้ำตื้น แลขุดลอกเปิดทางน้ำ รวม 117 โครงการ ขณะที่อีก 7 อำเภอ ประกอบด้วย อ.สันป่าตอง, ดอยเต่า, ดอยสะเก็ด, สารภี, สันทราย, เชียงดาว และแม่แตง ใช้งบประมาณท้องถิ่น
นางวาสนากล่าวว่า ภัยแล้งของจังหวัดเชียงใหม่ปีนี้ถือว่าค่อนข้างรุนแรง แต่เนื่องจากจังหวัดได้ปรับเปลี่ยนให้ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยมาดูแลปัญหาภัยแล้งทำให้จัดสรรความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในส่วนของ ปภ.จังหวัดจะเน้นเรื่องน้ำอุปโภคบริโภคในพื้นที่ที่ร้องขอเข้ามา โดยเบื้องต้นจะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรืออำเภอเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือก่อน หากเกินกำลังทาง ปภ.จังหวัดจึงจะเข้าไปช่วยเสริม
ทั้งนี้ ขอประชาสัมพันธ์ไปยังเกษตรกรให้ติดตามข่าวสารการประกาศขอความร่วมมือการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งด้วย เนื่องจากตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไปกรมชลประทานจะไม่ปล่อยน้ำเพื่อการเกษตรเหมือนช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นเกษตรกรจึงควรศึกษาข้อมูลเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการเพาะปลูก รวมทั้งเลือกประเภทของพืชให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ต่อไป