ศูนย์ข่าวขอนแก่น - “อีสานโพล” เผยผลสำรวจเรื่อง “ชาวอีสาน กับโครงการรถไฟความเร็วสูง” พบกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่พอใจการให้บริการรถไฟไทย ต้องการรถไฟความเร็วสูงถึงหนองคาย โดย 1 ใน 3 จะหันมาใช้รถไฟความเร็วสูงแทนพาหนะอื่นเดินทางเข้ากรุงเทพฯ
วันนี้ (5 เม.ย.) ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกี่ยวกับโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการหลักที่อยู่ใน พ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท ระหว่างวันที่ 29-31 มีนาคม จากกลุ่มตัวอย่าง 1,207 ราย ใน 20 จังหวัดภาคอีสาน
ผลสำรวจถึงระบบรถไฟสายอีสานในปัจจุบัน พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 40.3 ตอบว่าพอใช้ รองลงมาร้อยละ 30.2 ตอบว่าแย่ และร้อยละ 19.2 ตอบว่าแย่มาก โดยมีเพียงร้อยละ 10.4 ที่เห็นว่าระบบรถไฟสายอีสานดีอยู่แล้ว ซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน และกลุ่มที่มีรายได้ตั้งแต่ 15,000 บาทต่อเดือนตอบไปในทิศทางเดียวกัน
กลุ่มผู้มีรายได้ตั้งแต่ 15,000 บาทต่อเดือนจะให้คะแนนน้อยกว่า เนื่องจากมีความคาดหวังสูงกับการใช้บริการ กล่าวคือ ร้อยละ 38.3 ตอบว่าพอใช้ รองลงมาร้อยละ 29.9 ตอบว่าแย่ และร้อยละ 23.9 ตอบว่าแย่มาก มีเพียงร้อยละ 8 ที่ตอบว่าดี
อีสานโพลถามต่อว่า หากจังหวัดของท่านมีรถไฟความเร็วสูงมีความเร็วอยู่ที่ 250-300 กิโลเมตรต่อชั่วโมงผ่าน ค่าโดยสาร 2.5 บาทต่อกิโลเมตร เช่น หนองคาย-กรุงเทพฯ ประมาณ 1,540 บาท และขอนแก่น-กรุงเทพ ประมาณ 1,050 บาท พบว่ากลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน เลือกที่จะเดินทางด้วยรถทัวร์ร้อยละ 41.0 รองลงมาเป็นรถไฟความเร็วสูง ร้อยละ 37.0 รถยนต์ส่วนตัว ร้อยละ 12.9 รถไฟธรรมดาร้อยละ 5.0 มีเพียงร้อยละ 3.7 ที่เลือกเดินทางด้วยเครื่องบิน
กลุ่มที่มีรายได้ตั้งแต่ 15,000 บาทต่อเดือน ส่วนใหญ่เลือกเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูง ร้อยละ 31.8 รองลงมารถทัวร์ ร้อยละ 29.2 รถยนต์ส่วนตัว ร้อยละ 23.2 และเครื่องบิน ร้อยละ 23.2 รถไฟธรรมดา ร้อยละ 1.7
ประเด็นการสร้างรถไฟความเร็วสูงสายอีสาน เส้นทางใดจึงจะคุ้มค่ากับการลงทุนที่มีงบประมาณจำกัดมากที่สุด ร้อยละ 36.7 เห็นว่าเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย มีความคุ้มค่าเหมาะสมที่สุด (โดยร้อยละ 43.2 ของกลุ่มผู้มีรายได้ตั้งแต่ 15,000 บาทต่อเดือน เห็นว่าเส้นทางนี้มีความเหมาะสมในการลงทุนมากที่สุด) รองลงมาร้อยละ 18.5 เห็นว่า เส้นทางกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี ส่วนร้อยละ 17.6 เห็นว่าเส้นทางกรุงเทพฯ-ขอนแก่น มีความเหมาะสม และร้อยละ 17.1 เห็นว่าเส้นทางกรุงเทพฯ-อุดรธานี มีความเหมาะสม มีเพียงร้อยละ 10.0 ที่เห็นว่าเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีความเหมาะสม
ดร.สุทินกล่าวว่า จากผลสำรวจจะเห็นว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่าง เห็นว่ารถไฟสายอีสานในปัจจุบันให้บริการในระดับ “แย่ ถึงแย่มาก” ทั้งนี้หากค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงอยู่ที่ 2.5 บาทต่อกิโลเมตร กลุ่มผู้มีรายได้ต่ำ ยังคงเลือกเดินทางด้วยรถทัวร์เป็นหลัก ตามมาด้วยรถไฟความเร็วสูง และรถยนต์ส่วนตัว ส่วนรูปแบบการเดินทางของผู้มีรายได้สูง จะเน้นการเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูง รถทัวร์ รถส่วนตัว และเครื่องบิน
อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 10 ที่เห็นว่าเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เป็นเส้นทางที่เหมาะสมในการลงทุน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะระยะทางจากนครราชสีมาไปยังกรุงเทพฯ สามารถเดินทางได้ในระยะเวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่งด้วยรถยนต์ โดยกลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่ม เห็นว่าเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย เป็นเส้นทางที่เหมาะสมกับการลงทุนมากที่สุด