กาญจนบุรี - ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและการพัฒนา กาญจนบุรี ค้านคืนชีพเหมืองตะกั่ว แนะควรนำงบในการศึกษาประชุมสัมมนามาช่วยเร่งฟื้นฟูมลพิษที่คลิตี้ และต้องเคารพมติ ครม.ปี 2544 ด้วย
จากกรณีที่มีการประชุมสัมมนาการศึกษาประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์เบื้องต้นเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี (แร่ตะกั่ว-สังกะสี) ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 28 มี.ค.56 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมชั้น 3 สำนักงานเทศบาลตำบลทองผาภูมิ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ซึ่งมีการหารือเรื่องการอนุญาตให้นายทุนเข้าไปดำเนินกิจการเหมืองแร่ใน 3 พื้นที่ คือ สองท่อ บ่อใหญ่ และเกริงกระเวีย ได้อีกครั้ง โดยมีผู้นำท้องถิ่นบางส่วนสนับสนุนให้เปิดเหมืองโดยหวังที่จะได้รับการสนับสนุนจากเหมืองช่วยสร้างงาน และรายได้ให้แก่ชุมชน ขณะที่ผู้น้ำท้องถิ่นอีกกลุ่มคัดค้านไม่เห้นด้วย เนื่องจากเกรงว่าทางเหมืองจะสร้างผลกระทบต่อประชาชนอย่างรุนแรง
วันนี้ (2 เม.ย.) นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและการพัฒนา จ.กาญจนบุรี ให้สัมภาษณ์ว่า จากกรณีการประชุมสัมมนาการศึกษาประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์เบื้องต้น เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี (แร่ตะกั่ว-สังกะสี) ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 28 มี.ค.56 ที่ห้องประชุมชั้น 3 สำนักงานเทศบาลตำบลทองผาภูมิ อ.ทองผาภูมิ วันนั้นบังเอิญตนติดภารกิจจึงไม่สามารถเดินทางมาร่วมรับฟัง และแสดงความคิดเห็นได้ ส่วนตัวแล้วตนไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอเรื่องการเปิดเหมืองใหม่ 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ ไม่ว่าจะเป็นที่เหมืองคลิตี้ หรือเหมืองสองท่อ ล้วนแต่มีการปล่อยของเสีย และตะกั่วออกสู่ภายนอก ก่อให้เกิดปัญหาต่อมนุษย์ และกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะแม่น้ำลำธารที่อยู่ใกล้บริเวณเหมืองเหล่านั้น หลายสิบปีที่ผ่านมา เกิดขึ้นที่คลิตี้มาแล้ว และควรจะเอามาเป็นบทเรียน และแสดงให้เห็นชัดเจนว่าหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลเหมืองก็ไม่สามารถควบคุมการปล่อยมลพิษของผู้ประกอบการเหมืองแร่ได้
ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาที่คลิตี้ และที่สองท่อให้เสร็จสิ้นเสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่คลิตี้ ที่กรมควบมลพิษจะต้องเร่งดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ และพื้นที่ใกล้เคียงตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด
นอกจากนี้ ขอตั้งข้อสังเกตต่อการประชุมสัมมนาการศึกษาประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์เบื้องต้น เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรณีที่จัดขึ้นนั้นว่า เป็นเสมือนการกรุยเส้นทางที่จะนำไปสู่การอนุญาตให้นายทุนกลับมาเปิดเหมืองใหม่อีกครั้งมากกว่า เพราะสิ่งสำคัญที่กรมควบคุมมลพิษ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องศึกษาในเวลานี้คือ จะฟื้นฟูเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ และสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายไปได้อย่างไร
"การประชุมสัมนาเปรียบเสมือนหารือเรื่องการคืนชีพเหมืองโดยแท้ ในส่วนงบประมาณในการศึกษาที่ได้ จะเป็นหน่วยงานไหนจ้างมาก็แล้วแต่ ควรจะนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ในการศึกษาเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ไม่ใช่ใช้เงินศึกษาเพื่อกรุยทางเปิดเหมืองอย่างที่เป็นอยู่ ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2544 ก็ได้มีมติออกมาอย่างเด็ดขาดแล้วว่า ให้ยุติการทำเหมืองแร่ทั้งหมดในพื้นที่อำเภอทองผาภูมิซึ่งจะต้องเคารพต่อมติ ครม.ดังกล่าวด้วย และเชื่อว่าอนาคตหากมีการเปิดเหมืองแร่ในพื้นที่อำเภอทองผาภูมิเชื่อว่าจะมีประชาชนเป็นจำนวนมากออกมาต่อต้านอย่างแน่นอน โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ตามลำน้ำต่างๆในพื้นที่"